3 Min

อวสานบัญชีปลอม? ฟิลิปปินส์เตรียมบังคับใช้ชื่อจริง-เบอร์โทร สมัครใช้สื่อโซเชียล-แก้ปัญหาบิดเบือนข้อมูล

3 Min
374 Views
11 Feb 2022

Facebook | VICE

สภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์ผ่านร่างกฎหมายซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริง และเบอร์โทรศัพท์ในการสมัครบัญชีโซเชียลมีเดียทุกครั้ง เพื่อควบคุมการใช้บัญชีโซเชียลปลอม ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าเป็นปัญหาเรื่องมิจฉาชีพ และยังมีบัญชีที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างกระแสและบิดเบือนข้อมูลทางการเมือง ทำให้สภานิติบัญญัติต้องการปราบปรามก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

มาตรการใหม่นี้เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนต้องลงทะเบียนซิมการ์ดยืนยันตัวตนทุกครั้งก่อนเปิดเบอร์ใหม่ ทั้งแบบจ่ายรายเดือนและเติมเงิน เพื่อปราบปรามปัญหามิจฉาชีพและการก่อการร้าย สภานิติบัญญัติจึงนำมาตรการเดียวกันมาพัฒนาต่อสำหรับการใช้งานโซเชียลมีเดีย

ด้านบัญชีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน หากไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลประจำตัวของประชาชน และได้รับการยืนยันผ่านระบบภายใน 6 เดือนจะมีการบังคับให้ปิดใช้งานตามกฎหมาย ส่วนใครที่ถูกตรวจพบว่าใช้ข้อมูลปลอมที่สร้างขึ้นเพื่อซื้อซิมการ์ดหรือเปิดบัญชีโซเชียลจะมีโทษจำคุกอย่างน้อย 6 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 เปโซ (ราว 319,510 บาท)

ฟิลิปปินส์เป็นตลาดโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ ด้วยผู้ใช้สมาร์ตโฟนมากกว่า 80 ล้านคน และเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กราว 70 ล้านคน โดยที่ชาวฟิลิปปินส์ใช้เวลาเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวันกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อต่างประเทศรายงานว่าก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากับปัญหาการบิดเบือนข้อมูลเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อในแคมเปญต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อความคิดของสาธารณชน เช่น การบอกเล่าตำนานหรือสร้างความนิยมให้กับโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หรือ เฟอร์ดินานด์ ‘บองบอง’ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos Jr.) ลูกชายของอดีตเผด็จการชื่อดังของฟิลิปปินส์ที่ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะถึงนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้รายงานการระงับบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างน้อย 300 บัญชีที่พบความเชื่อมโยงกับการสนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ โดยมีการเผยแพร่เรื่องราวของครอบครัวเขาในอดีตในแง่มุมต่างๆ ที่หวังผลด้านการประชาสัมพันธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สภานิติบัญญัติใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามบัญชีโซเชียลปลอมที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ในฟิลิปปินส์อาจกำลังทำหน้าที่เป็น ‘หนูทดลอง’ ให้กับรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากปัญหาเรื่องบัญชีโซเชียลปลอมและการละเมิดบนโลกออนไลน์อย่างหาตัวจับไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก หากฟิลิปปินส์สามารถบังคับการลงทะเบียนใช้ได้สำเร็จด้วยดี รัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลกอาจนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของตัวเองได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นที่โต้เถียงในสหราชอาณาจักรเช่นกันเองจากมีหลายคนเสนอให้มีการลงทะเบียนโซเชียลมีเดียเพื่อระบุตัวตนหลังมีเหตุการณ์สังหาร ส.ส. ในปี 2021

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยแล้วเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ในปี 2560 ได้มีการเสนอการปฏิรูปโซเชียลมีเดียระยะเร่งด่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง โดยมีการจัดระเบียบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ผ่านการลงทะเบียนมือถือที่ระบุตัวตนอย่างชัดเจน นอกเหนือจากบัตรประชาชนทั่วไปแล้วยังต้องมีการใช้ข้อมูลลายนิ้วมือ และใบหน้าควบคู่ โดยให้ผู้ให้บริการเป็นผู้เก็บข้อมูล โดยเฉพาะสำหรับเบอร์มือถือในระบบเติมเงิน

การลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวจนและติดตามตัวบนโซเชียลมีเดียอาจเป็นหนึ่งในวิธีการปราบปรามปัญหาเรื่องการนำเข้าข้อมูลบิดเบือน มิจฉาชีพ ไปจนถึงการก่อการร้าย อย่างไรก็ดี หลายคนก็ยังรู้สึกไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้จากประเด็นความเป็นส่วนตัว คุณละเห็นด้วยไหม อยากให้เรามีการลงทะเบียนยืนยันที่ชัดเจนเหมือนกันรึเปล่า?

อ้างอิง

  • Vice. No More Hiding Behind Fake Social Media Profiles in This Troll-Infested Country. https://bit.ly/3slgCpf
  • Nikkei. Philippines hit by surge in fake Facebook accounts. https://s.nikkei.com/3rxImYo
  • Posttoday. ปฏิรูปคุมสื่อออนไลน์เบ็ดเสร็จ. https://bit.ly/3LsHtIK
  • Isranews. ชง “สแกนนิ้ว-ใบหน้า” ลงทะเบียนใช้มือถือชายแดนใต้ โทรข้ามเขตโดนแจ้งเตือน!. https://bit.ly/3J8CgUr