ไม่มีใครเป็น #พ่อมึง อย่างถาวร ในวัฒนธรรมแร็ป-ฮิปฮอป เพราะรากเหง้าคือ ‘ขบถ-เกทับ-ท้าทาย’ เป็นเรื่องปกติ
ถ้าจะพูดว่า ‘เพลงแร็ปและวิถีฮิปฮอป’ คือพลังทางวัฒนธรรม ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) แขนงหนึ่งของแวดวงศิลปะ ดนตรี และอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐอเมริกาก็คงไม่ผิดอะไร เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพลงแร็ปและวัฒนธรรมฮิปฮอปถูกส่งออกไปทั่วโลกในฐานะ ‘ภาษาสากล’ ที่คนจำนวนมากทั่วโลกเลือกเสพและโอบรับเข้าสู่วัฒนธรรมของตัวเอง
แต่แร็ปกับฮิปฮอปไม่ใช่สิ่งเดียวกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ตามคำนิยามของโครงการ Next Level ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมฮิปฮอป แถมยังได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อธิบายว่า ‘ฮิปฮอป’ คือวิถีชีวิต–วัฒนธรรม และ ‘แร็ป’ คือเพลงและดนตรีแนวหนึ่งซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมฮิปฮอป ไม่ต่างจากบีทบ็อกซ์ (beat box) หรือสตรีทแดนซ์ (street dance)
ด้วยเหตุนี้แร็ปกับฮิปฮอปจึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียวแต่ก็ไม่อาจแยกจากกันได้
ถึงอย่างนั้นก็ตาม กว่าวิถีฮิปฮอปและเพลงแร็ปจะเป็นที่นิยมไปทั่วโลกเหมือนอย่างทุกวันนี้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการเป็น ‘วัฒนธรรมย่อย’ ของกลุ่มคนเชื้อสายแอฟริกัน–อเมริกันซึ่งอาศัยอยู่ที่ย่านบรองซ์ในนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970
สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นกระดูกสันหลังของวัฒนธรรมฮิปฮอปเกี่ยวโยงกับกิจกรรมหลักๆ 4 อย่าง คือ การเปิดแผ่นของดีเจ (DJ) เอ็มซี (MC) ที่คอยพูดหรือแร็ปเพื่อสร้างบรรยากาศในปาร์ตี้ การเต้น (dance) และศิลปะกราฟฟิตี (graffiti)
อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนที่สำคัญไม่แพ้ ‘กิจกรรม’ คือ ‘แนวคิด’ ที่อยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมฮิปฮอปยุคนั้น ซึ่งมาจากความพยายามขบถเพื่อล้มล้างอำนาจกดขี่ (a rebellious effort to overthrow oppression) รวมถึงการตีแผ่ความรุนแรงและอาชญากรรมที่ ‘คนดำ’ ยุคนั้นต้องเผชิญ แม้ว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจะหยั่งรากในสังคมอเมริกันแล้วก็ตาม
การแร็ปดวลกัน (battle) ระหว่างแก๊ง และการเกทับ (bluffing) เพื่อด่าทอและวิพากษ์ตัวตน รวมถึงการตีแผ่สภาพสังคมที่เสื่อมทรามจึงถือว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ที่อยู่เคียงคู่วัฒนธรรมฮิปฮอปมาตลอดแม้กระทั่งศิลปินกราฟฟิตีก็ถูกพ่นสีท้าทายและเอาคืนอยู่เนืองๆไม่ว่าผลงานนั้นจะถูกคนยกย่องแค่ไหนก็ตาม
ความเป็นสุดยอดที่หนึ่ง หรือความเป็น ‘พ่อทุกสถาบัน’ จึงไม่ใช่สิ่งคงทนถาวรในวัฒนธรรมฮิปฮอป เพราะสิ่งที่อ้างตัวว่า ‘อยู่เหนือ’ ความหลากหลายอื่นๆก็ไม่ต่างจากอำนาจกดทับที่มีสิทธิถูกท้าทายและล้มล้างได้เสมอ
เมื่อถึงยุคที่เพลงแร็ปถูกส่งต่อไปยังซีกโลกอื่นๆ จนกลายเป็น ‘กระแสหลัก’ เหมือนอย่างที่ประเทศไทยก็มีรายการแข่งขันแร็ปเกิดขึ้น จึงไม่แปลกถ้าจะมีผู้ที่พยายามรื้อสร้างและตั้งคำถามกับแร็ปเปอร์อีกหลายๆ คนเช่นกัน
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Berkeley Political Review ระบุว่า เพลงแร็ปในยุคหลังปี 2000 เป็นต้นมา เป็นส่วนหนึ่งที่เผยแพร่แนวคิดเกลียดชังและลดทอนคุณค่าของผู้หญิง (misogyny) ไม่ว่าจะเป็นผิวสีใดๆก็ตามเห็นได้จากเพลงแร็ปจำนวนมากกดให้ผู้หญิงเป็นเพียงแค่วัตถุทางเพศรวมถึงด่าทอผู้หญิงด้วยถ้อยคำประณามเชิงเพศเช่นเดียวกับการให้ค่ากับการใช้ความรุนแรงและแนวคิดวัตถุนิยม
หรือแม้แต่นักวิชาการในโครงการ Next Level ก็ย้ำว่า เพลงแร็ปไม่ใช่ภาพสะท้อนของวัฒนธรรมฮิปฮอป โดยเฉพาะเพลงแร็ปที่มีเนื้อหา ‘ปลอมเปลือก’ (superficial) และเป็นเพียง ‘สินค้า’ (commercial) ที่ถูกผลิตซ้ำในอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเพลงแร็ปเหล่านี้ไม่มีองค์ประกอบของความเป็นขบถที่ท้าทาย ‘อำนาจที่เหนือกว่า’ แต่กลับเลือกโจมตีแค่เรื่องบุคคลหรือเหยียดกลุ่มคนอื่นๆ ที่แตกต่างไป
อย่างไรก็ดี เพลงแร็ปที่วิพากษ์ระบบและโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทางสังคมก็มีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นการชกข้ามรุ่น เพราะเป็นการแร็ปท้าทายอำนาจกดทับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมหลายๆ ประเด็น โดย BBC สื่อของอังกฤษก็เคยรายงานว่า เพลงแร็ปและวัฒนธรรมฮิปฮอปถูกคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้ประกอบการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีวงไทยเทเนียมประกาศตัวว่าเป็น ‘ผู้บุกเบิก’ วงการเพลงแร็ปและวัฒนธรรมฮิปฮอปในประเทศ ผ่านผลงานใหม่ที่มีเนื้อหาบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาคือ ‘รุ่นพ่อ’ ผู้สร้าง ‘มาตรฐาน’ จึงต้องเจอกับกระแสวิจารณ์มากกว่าเสียงชื่นชม เพราะกลุ่มคนที่พวกเขาเลือกท้าทายก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำเพลงแร็ปเหมือนกัน ทำให้การท้าทายนี้ถูกมองว่าเป็นการ ‘ทวงบุญคุณ’ และ ‘อวยตัวเอง’
อย่างไรก็ดี นักการตลาดจำนวนหนึ่งมองว่า ‘การถูกพูดถึงในทางแย่ๆ ยังดีกว่าไม่มีใครพูดถึงเลย’ (Bad publicity is good publicity) เพราะแม้จะถูกโจมตีอย่างหนักแต่ยอดวิวในยูทูบของเพลง ‘พ่อมึง’ ก็ทะลุ 1.1 ล้านครั้งไปแล้วในเวลาเพียงแค่ 4 วัน
อ้างอิง
- Next Level. RAP VS. HIP HOP. https://bit.ly/3Ml385n
- Cambridge. Any publicity is good publicity. https://bit.ly/3lf6zir
- Cornell. Hip-hop fashion: from street culture to mass appeal. https://bit.ly/3PpFwPb
- BBC. The controversial music that is the sound of global youth. https://bbc.in/3PpFyXj
- Berkeley Political Review. Are You Listening? Misogyny in Rap Music and What It Means for Women in Society. https://bit.ly/3sGnb6y
- Youtube. พ่อมึง. https://bit.ly/3wyZhLn