ย้อนดูข้อมูล ‘ป่ารอยต่อ’ ปมออกหมายจับ ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส.ฝ่ายค้าน ฐานหมิ่นประมาทมูลนิธิรองนายกฯ ‘ประวิตร’
ส.ส.พรรคก้าวไกล ‘รังสิมันต์ โรม’ เป็นฝ่ายค้านในสภาที่อภิปรายเรื่องมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ที่ก่อตั้งโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เมื่อปี 2563 เป็นเหตุให้เขาถูกฟ้องในข้อหา ‘หมิ่นประมาท’ และตำรวจที่ดูแลคดีแจ้งว่าเขาไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกที่ออกมาแล้ว 2 ครั้ง จึงออกหมายจับ ทำให้รังสิมันต์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหากับตำรวจวันที่ 18 มีนาคม 2565 แต่อัยการชี้ว่า ‘สำนวนไม่สมบูรณ์’ ตำรวจต้องไปสอบสวน-แจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกครั้ง รังสิมันต์จึงตั้งคำถามว่าถ้าสำนวนยังไม่เรียบร้อย จะเร่งออกหมายจับเพราะอะไร และตอนที่ออกหมายจับยังตรงกับช่วงที่เขาอภิปรายในสภาเรื่อง ‘ตั๋วช้างและขบวนการค้ามนุษย์’ พอดีด้วย
ส.ส.ยังโดนขนาดนี้…ประชาชนจะโดนขนาดไหน?
สถานีตำรวจนครบาลที่รับผิดชอบการฟ้องรังสิมันต์ ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา เกี่ยวเนื่องกับการอภิปรายเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รวมถึงดำเนินการออกหมายจับคือ สน.บางขุนนนท์ ในเขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพมหานคร
รังสิมันต์ระบุว่าเขาได้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้าวันที่ 18 มีนาคม โดยยืนยันว่าก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องขอเลื่อนการรายงานตัวไปแล้ว แต่เจ้าพนักงานสอบสวนก็ยังทำเรื่องออกหมายจับ และส่งสำนวนของเขาต่อไปยังอัยการตลิ่งชันทันที แต่อัยการที่รับเรื่องให้เหตุผลว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ ให้ทางตำรวจต้องไปสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งตำรวจได้กำหนดนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 31 มีนาคม 2565
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รังสิมันต์ตั้งคำถามในเฟซบุ๊กว่า “ในเมื่อสำนวนยังไม่เรียบร้อยเช่นนี้ แล้วทางตำรวจจะดันทุรังเร่งออกหมายจับเพื่อนำตัวผมมาส่งอัยการไปเพื่ออะไร? แล้วศาลอนุมัติหมายจับในสำนวนที่ไม่เรียบร้อยแบบนี้ได้อย่างไร? มีใครต้องการใช้กระบวนการทางคดีเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือไม่?”
“นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับผมแค่คนเดียว และอันที่จริงแล้วกรณีของผมนับว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพี่น้องประชาชนผู้แสดงความเห็นทางการเมืองและตั้งคำถามต่อรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก ที่เมื่อถูกยัดคดีเข้ามา เขาก็ไปรายงานตัวกับตำรวจอย่างสม่ำเสมอ ไม่คิดหลบหนี แต่ก็ยังถูกคุมขังอยู่เสมอเพียงเพราะเขาเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากเสียงอะไร”
“ผมไม่อยากให้ประเทศแห่งนี้เป็นประเทศที่เมื่อมีคนเอาความจริงมาพูด แล้วผลลัพธ์จะต้องกลายเป็นคดีความอยู่ร่ำไป จนกระทั่งไม่มีใครกล้าตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือ ส.ส. และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย แม้ท่านจะถูกกดดันมาจากเบื้องบน แต่ก็จะต้องไม่นำพาประเทศไปสู่จุดนั้น”
ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเดินทางไป สน.พร้อมกับรังสิมันต์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ติดตามคดี โดยระบุว่า “คำถามสำคัญคือ ส.ส.ยังโดนขนาดนี้ ถ้าเป็นประชาชนจะโดนขนาดไหน”
ย้อนดูข้อมูลอภิปราย ‘มูลนิธิป่ารอยต่อ’ ที่ตั้งอยู่ในบ้านพักทหาร
การอภิปรายข้อมูลในสภาผู้แทนราษฎรของรังสิมันต์เมื่อ 27-28 กุมภาพันธ์ 2563 พาดพิงถึงมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งถูกเรียกสั้นๆ ว่า ‘มูลนิธิป่ารอยต่อฯ’ ตั้งขึ้นช่วงต้นปี 2549 ปีเดียวกับที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อ คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน โดยเป็นการก่อตั้งหลังจากเกษียณอายุราชการไปแล้วเดือนกันยายน 2548 แต่ที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิป่ารอยต่อที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ของมูลนิธิเองระบุชัดเจนว่าตั้งอยู่ที่ บ้านพักสวัสดิการกองทัพบก ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
รังสิมันต์อภิปรายว่า มูลนิธิเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็น ‘นิติบุคคลเอกชน’ ไม่ต่างจากบริษัท หรือพรรคการเมือง แต่บ้านพักสวัสดิการกองทัพบกใน ร.1 พัน.1 รอ. ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘บ้านพักสวัสดิการ’ ก็ควรเป็นสถานที่ที่ให้ทหารบกที่ยังประจำการอยู่ใช้เป็นที่พักอาศัย
“คำถามจึงมีอยู่ว่า การเอาบ้านพักที่ควรเป็นสวัสดิการของทหารที่ประจำการอยู่มาเป็นที่ตั้งของนิติบุคคลเอกชนที่มีทหารที่เกษียณแล้วไปนั่งเป็นประธาน อะไรที่ทำในนามมูลนิธิก็เป็นหน้าเป็นตาของ พล.อ.ประวิตรเอง เป็นเรื่องเหมาะสมแล้วหรือ?”
อย่างไรก็ดี พลเอกประวิตรชี้แจงว่ามูลนิธิฯ ได้เช่าที่จากกระทรวงการคลังมาแล้ว 15 ปี แต่ตอนอภิปรายคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้เกิดคำถามว่าพลเอกประวิตรทำเรื่องเช่าที่มาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่ยังไม่ได้ก่อตั้งมูลนิธิเลยหรือ และบ้านพักสวัสดิการทหารบกที่ควรให้ทหารประจำการได้อยู่ สามารถเอามาปล่อยให้คนนอกเช่าได้ด้วยหรือ ถ้าประชาชนคนอื่นจะทำแบบนี้บ้างได้หรือไม่ แต่ก็คิดว่าการจัดตั้งบริษัทหรือตั้งพรรคการเมืองในบ้านพักสวัสดิการไม่น่าใช่การกระทำที่เหมาะสม
นอกจากนี้ นายทหารระดับสูงที่มีรายชื่อเป็นคณะกรรมมูลนิธิป่ารอยต่อก็มีทั้งพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน ผู้ก่อรัฐประหารปี 2549 พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ และได้รับตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 หลังจากเคยเป็นผู้นำรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงปี 2557-2562
รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า “สรุปแล้วมูลนิธิแห่งนี้ นอกจากภารกิจหลักในการดูแลป่าแล้ว ยังอาจมีภารกิจเสริม หรือต้องเรียกว่าภารกิจลับในการดูแลน้องๆ ชาวบูรพาพยัคฆ์ของ พล.อ.ประวิตรให้เติบใหญ่ในกองทัพ หรือแม้กระทั่งในแวดวงการเมือง”หลังจากอภิปราย มี ส.ส.พรรครัฐบาลและพรรคอื่นๆ ร่วมลงมติไว้วางใจแก่พลเอกประวิตร 277 เสียง แต่หลังจากนั้นได้เกือบเดือน พันเอกภิญโญ บุญทรงสันติกุล ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากมูลนิธิฯ ก็ได้ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับรังสิมันต์ในเดือนมีนาคม 2563 แต่เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ จึงไม่มีความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภา ส่งผลให้เขาต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียก
แต่เนื่องจากวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่พนักงานสอบสวนนัดหมายครั้งแรกในคดีนี้ รังสิมันต์มีหมายต้องไปศาลในคดีอื่น (คดีคนอยากเลือกตั้ง) จึงไม่สามารถไปรายงานตัวในคดีนี้ได้ จึงประสานขอเลื่อนพนักงานสอบสวนออกไปก่อน จนกระทั่งมีหมายเรียกในคดีอีกครั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตรงกับช่วงที่มีการอภิปรายในสภาเรื่องคดีค้ามนุษย์
อ้างอิง
- Facebook. Rangsiman Rome. https://bit.ly/34UEXKS
- Facebook. Rangsiman Rome. หมายเรียก คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา. https://bit.ly/3ijTiU1
- Future Forward Party. รังสิมันต์ : “ป่ารอยต่อ” ประวิตร Club เครือข่ายกัดกินประเทศไทย. https://bit.ly/3ik5nZm
- Matichon Online. อัยการอาญาตลิ่งชันรับสำนวน “โรม” พร้อมสั่งสอบเพิ่ม นัดฟังคำสั่ง 31 มี.ค. https://bit.ly/3N1xQBC
- Twitter. #Saveโรม. https://bit.ly/3tjGFi3