งานวิจัยชี้ การรณรงค์แบบมั่วซั่วตั้วเหลง ให้ปลูกต้นไม้จำนวนมากในพื้นที่ที่ธรรมชาติไม่ได้เป็นป่า อาจส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศมากกว่าผลดี
เด็กๆ เราอาจเคยได้ยิน ‘ต้นไม้คือเพื่อนชีวิต เจ้าดูดอากาศพิษแทนข้า’ ซึ่งจริงๆ ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม มนุษย์ก็รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้กันเยอะๆ มาตลอด และปัจจุบันในภาวะที่โลกร้อนขึ้นๆ การรณรงค์นี้ก็หนักขึ้น ทั้งรัฐบาล องค์กรไม่แสวงผลกำไร ไปจนถึงบริษัทเอกชนทั่วโลกมีโครงการมากมายในการปลูกต้นไม้ไม่รู้กี่ล้านต้น ไม่ว่านั่นจะเป็นการพยายามทำเพื่อกู้โลก หรือเพียงแค่จะเอา ‘คาร์บอนเครดิต’ ชดเชยการที่ตัวเองทำให้โลกร้อน
แต่งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ในวารสาร Science ชี้ว่า ความพยายามเหล่านี้อาจมีปัญหามากๆ
แต่จะเข้าใจปัญหา เราอาจต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของการปลูกป่าคร่าวๆ ก่อน
แน่นอน ณ ปัจจุบันภาวะโลกร้อนคือเรื่องใหญ่ระดับโลก รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงบริษัทข้ามชาติก็กระตือรือร้นมากๆ ในการพยายามจะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งด้านหนึ่งการ ‘ปลูกป่า’ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ก็เป็นสิ่งที่พยายามกันมาก ซึ่งก็ว่ากันตรงๆ มันเป็น ‘นโยบาย’ ที่สื่อสารได้ง่าย และ ‘ได้หน้า’
อย่างไรก็ดี มันก็ไม่มีที่ไหนจะ ‘ทุบตึก’ ของเมืองใหญ่ๆ แล้วเคลียร์พื้นที่บริเวณที่เคยถางป่าสร้างเมืองให้กลับไปเป็นป่า การปลูกป่านั้นล้วนทำใน ‘พื้นที่ห่างไกล’ เพื่อไม่ให้กระทบวิถีชีวิตในเมืองอันเป็นแหล่งทำเงินของรัฐและภาคธุรกิจ
และในเหตุผลเรื่องการสู้โลกร้อน การปลูกต้นไม้นั้น ความจริงมันปลูกที่ไหนในโลกก็ได้ รวมๆ คือผลในระดับโลกมันเหมือนกันหมด
ซึ่งในแง่นี้ บริเวณพื้นที่โล่งเยอะๆ อย่างแอฟริกา จึงเป็นพื้นที่ที่เริ่มมีโครงการปลูกป่าแบบบ้าคลั่งจากบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว
ปัญหาคือ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของแอฟริกาไม่ใช่ป่า คือมันไม่ใช่ป่าไม้แบบป่าแอมะซอน แต่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็น ‘ทุ่งหญ้า’ ที่ไม่มีต้นไม้เลยเต็มที่ก็เป็น ‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’ ที่มีต้นไม้เล็กๆ แค่ประปรายเท่านั้น
เราเรียกสิงโตแบบผิดๆ มาตลอดว่า ‘เจ้าป่า’ เพราะแอฟริกาไม่ได้มี ‘ป่า’ ในเซนส์แบบที่เราเข้าใจคำนี้ และตอนนี้โครงการที่สัญญาจะปลูกต้นไม้ในแอฟริกาเพื่อชดเชยโลกร้อนนั้นก็มีคนคำนวณดู แล้วพบว่า ถ้าปลูกกันจริงๆ ตามที่ว่าไว้ ภูมิประเทศแอฟริกาจะเปลี่ยนจากทุ่งหญ้าเป็นป่าดงดิบแน่ๆ
และนั่นคือหายนะต่อระบบนิเวศ
แน่นอน ไม่มีใครเถียงว่าต้นไม้เยอะขึ้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น แต่ในทางระบบนิเวศก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเลยเช่นกันว่า ถ้าหากมีต้นไม้เยอะๆ ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ระบบนิเวศจะรวนไปหมด เริ่มตั้งแต่วงจรของน้ำจะรวนเพราะต้นไม้ใหญ่ๆ จะดูดน้ำในดินไปหมด พวกหญ้าก็จะตาย สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบกันไปหมด สิ่งมีชีวิตที่เคย ‘เล็มหญ้า’ กินเป็นหลักจะไม่มีอาหารจนตาย และสิ่งมีชีวิตที่ต้องกินสิ่งมีชีวิตพวกนี้อีกทอดก็จะตายตาม ส่วนสิ่งมีชีวิตบางแบบที่ไม่เคยมีมากในพื้นที่ก็เริ่มจะขยายเผ่าพันธุ์ขึ้นกระจุยกระจาย ซึ่งมันก็ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะผลกระทับมันซับซ้อนโยงใยกันอีนุงตุงนังสุดๆ และมันเกิดขึ้นแน่ๆ
โดยในภาพใหญ่มันแทบไม่มีการประเมินใดๆ ว่า ‘ผลกระทบต่อระบบนิเวศ’ จะเป็นอย่างไรถ้าไปปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีต้นไม้ คือจะลุยกันปลูกแบบตะบี้ตะบัน แบบท่องคาถาสู้โลกร้อนไว้ก่อน
และก็เลยมีนักวิจัยออกมา ‘เบรก’ ในงานวิจัยที่ว่ามานี่เอง
ทั้งนี้มันก็อาจเป็นอย่างที่เขาว่ากัน มนุษยชาติพยายามสู้โลกร้อนด้วยวิธีพิสดารสารพัด ทั้งๆ ที่ทางออกมันก็ง่ายๆ ตรงไปตรงมามาก อย่างการลดการสร้างมลภาวะที่ทำให้เกิดคาร์บอน แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะแม้มันจะดูง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ก็ได้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ในระดับสิ้นหวัง ข่าวออกซ้ำไม่รู้กี่รอบว่า ‘เลยจุดนี้ไปจะสายเกินแก้’ แต่ผลก็คือไม่มีอะไรเปลี่ยน ปัญหายังคงค้างคา และสุดท้ายทั้งหมดก็วนมาอีหรอบเดิม คือโลกตะวันตกก็ ‘ส่งออกปัญหา’ ของตัวเองไปที่อื่น ซึ่งกรณีนี้ก็คือ การไปสร้างป่าซี้ซั้วในแอฟริกา เพื่อตัวเองจะได้คงวิถีชีวิตในแบบตัวเองต่อไป โดยระบบนิเวศแอฟริกาจะรวนยังไงก็ไม่ใช่ปัญหาของตนอีก
อ้างอิง
- PopSci. When planting trees is bad for the planet. http://tinyurl.com/ntjtufv4