การก้าวข้าม ความอดทน และลิ้นชักยาจีน: คุยกับ ‘ที่ปรึกษาแห่งชาติ’ คิมรันโด ค้นหาวิธีเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดแบบไม่เป็นวัยรุ่นก็เจ็บปวดได้
เป็นเวลาหลายปีมากแล้ว ที่ประโยคที่ว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” กลายเป็นประโยคคุ้นหูของนักอ่านทั้งหลาย ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นชื่อของหนังสือขายดีที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ไปทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยคที่แฝงความ ‘จริงแท้’ และอธิบายอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชนได้แม่นยำมากด้วย
BrandThink มีโอกาสได้นั่งคุยกับ ‘อาจารย์คิมรันโด’ ผู้เขียนหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ รวมถึงหนังสือ ‘บรรเทาทุกข์’ อีกจำนวนมาก เช่น ‘พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่’ ‘ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา’ และ ‘แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้’ ที่อยู่คู่หัวใจที่อ่อนล้าของทั้งเหล่าวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มานาน เป็นโอกาสดีที่เราจะได้สอบถามถึง ‘วิธีคลายทุกข์’ กับผู้ที่ได้รับฉายาว่า ‘ที่ปรึกษาแห่งชาติ’ คนนี้
อาจารย์คิดอย่างไรกับฉายา ‘ที่ปรึกษาแห่งชาติ’
ฉายานี้มันเริ่มจากหนังสือเล่มนี้นี่แหละ (เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด) ที่ออกมาเมื่อปี 2010 แล้วมีคนสนใจเยอะ ขายดีมากๆ ทำยอดขายได้ประมาณ 2 ล้านเล่ม ติดอันดับหนังสือที่คนเกาหลีชื่นชอบมากๆ แล้วในช่วงนั้นจะมีสื่อนำเรื่องราวของตัวผม หรือเรื่องราวจากหนังสือ ไปล้อเลียน ทำเป็นกิมมิกในรายการต่างๆ ซึ่งจริงๆ ผมไม่ชอบอยู่ในสื่อมากมายขนาดนั้น ไม่ได้อยากเป็นจุดสนใจของคนทั้งชาติแบบนั้น และไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น ‘ที่ปรึกษาแห่งชาติ’ เลยด้วย แค่อยากเป็นคุณพ่อที่ดีและอาจารย์ที่ดีเท่านั้นเอง อีกอย่าง หนังสือเล่มนี้ออกมาเกิน 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะโฟกัสก็คืองานหลักของตัวผมเอง รวมถึงงานวิจัยต่างๆ ผมอยากทำให้ดีในเส้นทางนั้นมากกว่า
แต่อาจารย์ก็ทำงานที่ต้องเจอกับวัยรุ่น ‘วัยที่เจ็บปวด’ มากกว่าอาชีพอื่นๆ เลยอยากทราบว่าวัยรุ่นในแต่ละเจเนอเรชันมี ‘ความเป็นวัยรุ่น’ แตกต่างกันบ้างไหม
ก่อนอื่นเลย ต้องพูดถึงสิ่งสำคัญที่สุดอย่างการพัฒนาของโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างมากที่สุด เพราะคนเรามักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเสมอ
ในสมัยก่อน ถ้าเราพูดถึงการเปรียบเทียบ ตอนยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราก็มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในห้อง คนที่อยู่แถวบ้าน เมื่อเราไปวัด ไปโบสถ์ หรือไปที่ไหนๆ ก็อาจจะเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ ในที่นั้นๆ แต่ในสมัยนี้ การมีโซเชียลมีเดียทำให้การเปรียบเทียบของคนเราเข้มข้นมากยิ่งขึ้น มันก็เลยเหมือนกับว่าทุกคนมีโอกาสเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากขึ้นด้วย
โซเชียลมีเดียทำให้เราสามารถเปรียบเทียบตัวเองกับใครก็ได้ในโลก ถ้าดูจากช่องทางอย่างทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรม เวลาคนเราจะอัปโหลดภาพจะเลือกภาพที่ตัวเองดูดีหรือดูแย่กันนะ? ก็ต้องเลือกภาพที่ดีที่สุด จริงไหม? สมมติว่าเราอยู่บ้าน ไม่ค่อยได้ไปไหนเลย แต่มีอยู่วันหนึ่งที่เราได้ไปร้านอาหารสวยๆ แล้วเราลงรูป คนที่มองก็อาจจะคิดว่าคนนี้ใช้ชีวิตแบบนี้ตลอด ดังนั้น ถ้าเราไปดูโซเชียลมีเดียเยอะๆ เราอาจจะคิดว่ามีแต่เราที่ชีวิตแย่อยู่คนเดียว เมื่อเทียบกับคนอื่นที่เราเห็น
เพราะเป็นอย่างนั้น เวลามีคนพูดว่าวัยรุ่นสมัยนี้ใช้ชีวิตได้ดีหรือดูดีกว่าวัยรุ่นในสมัยก่อน ผมกลับไม่เห็นอย่างนั้น กลับกันเลย วัยรุ่นในสมัยนี้มีความมั่นใจในตัวเองน้อยกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราลงรูป คนอื่นอาจจะมองมาแล้วคิดว่าเราดูดี ดูเป็นคนประสบความสำเร็จ แต่เรารู้ตัวเราเองว่าไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้นเลย
มันเหมือนกับว่า ผมดูรูปของคุณแล้วคิดว่าคุณชีวิตดีจัง คุณดูรูปของผมแล้วคิดว่าผมชีวิตดีจัง ต่างคนต่างรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าอีกคน ทำให้เรายิ่งรู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากขึ้นไปใหญ่ ดังนั้น มันก็เลยเกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ชอบหาซื้อของมือสอง หาซื้อของที่มันแพงขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ยอมอดข้าวในแต่ละมื้อให้ได้ไปกินข้าวในร้านอาหารที่ดีที่แพงในสักวันหนึ่ง เพื่อเอาไว้ลงรูป นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อแตกต่างมากที่สุดระหว่างวัยรุ่นสมัยก่อนกับสมัยนี้
ถ้าอย่างนั้น เราพูดได้หรือไม่ว่า “ความเจ็บปวดของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย”
ผมว่าแบ่งได้เป็นสองอย่าง บางความเจ็บปวดเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย บางความเจ็บปวดก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ก็ตาม
ความเจ็บปวดที่ไม่เปลี่ยนไปเลย ก็เช่นความเจ็บปวดของวัยรุ่นที่จะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่นี่ล่ะ แล้วก็จะมีความเจ็บปวดจากการที่ยังเป็นนักเรียนและยังไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ รวมถึงความเจ็บปวดที่เราไม่มีอิสรภาพทางการเงิน เรายังต้องพึ่งพาอาศัยคนในครอบครัวอยู่ และความเจ็บปวดที่เราจะต้องออกไปหางานทำ หรือหาคู่สมรสคู่ชีวิตที่ดี เหล่านี้คือความเจ็บปวดที่ไม่ว่าจะวันนี้ 10 ปีที่แล้ว 100 ปีที่แล้ว ก็เรื่องเดียวกันหมด แต่รูปแบบหรือระดับความเจ็บปวดอาจจะแตกต่างออกไปก็เท่านั้น ซึ่งก็อาจจะมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยร่วมด้วย อย่างที่ได้พูดไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ สถานการณ์ที่ทำให้เจ็บปวดก็ยังเกี่ยวโยงอย่างมากกับปัญหาทางการเงิน ทางสังคม หรือแม้แต่สถานการณ์ทางการเมือง และความเห็นของสมาชิกครอบครัวด้วย เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้มันเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น เมื่อเราต้องการจะหาคำตอบของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น อาจจะต้องดูให้แน่ชัดว่าความเจ็บปวดนั้นเป็นความเจ็บปวดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ หรือเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่อยู่แล้วหรือไม่ด้วย
อาจารย์เคยพูดเรื่องความสูญเสียของตัวเอง ที่สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตในช่วงใกล้ๆ กัน แล้วรู้สึกว่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะสะสางอะไรต่างๆ ได้ อาจารย์มีอะไรจะแนะนำคนที่กำลังผ่านปัญหาแบบเดียวกันบ้างไหม
ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียด้วยนะครับ สำหรับกรณีของผมเอง ตอนอายุได้ 25 ปี อยู่ๆ คุณพ่อก็เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง ซึ่งตอนช่วงอายุ 20 นี้ คนเราควรจะได้ใช้ชีวิตแบบที่จะทำอะไรก็ได้ ไปเที่ยวเล่น ไปดื่มเหล้าได้ตามใจ แต่พอคุณพ่อเสียชีวิต กลับกลายเป็นว่า ‘นี่ผมต้องเป็นผู้ใหญ่แล้วสินะ’ จากที่แค่ไปเรียน ใช้ชีวิตปกติทั่วไปก็พอแล้ว กลายเป็นต้องจัดการเรื่องภาษี เรื่องสัญญาต่างๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่มีสอนกันในโรงเรียนด้วย เลยต้องเริ่มประสบการณ์ใหม่นี้ด้วยตัวเอง
ผมเป็นลูกคนโต มีน้องอีก 2 คน และมีคุณแม่ด้วย ต่อให้ลำบากอย่างไร ก็ไม่สามารถแสดงออกมาให้คนอื่นรู้ได้เลย ตอนนั้นเลยต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำเหมือนตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว รับมือเองได้แล้ว ซึ่ง ณ ตอนนั้น ถึงจะอยู่ในวัยที่นับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่รอบตัวก็ไม่มีใครให้ปรึกษาได้
คุณเข้าใจความหมายของ ‘การก้าวข้าม’ กับ ‘การอดทน’ ไหมครับ บางเรื่องมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะก้าวข้ามไปได้หรอก สิ่งที่ทำได้คือการอดทนมากกว่า บางคนมักแนะนำให้คนอื่นก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้ แต่ถ้าถามผม ผมว่าบางปัญหาไม่ใช่เรื่องที่จะก้าวข้ามไปได้เลย สิ่งที่สำคัญจึงเป็นเรื่องของความอดทน อดทนให้เวลาผ่านไปมากกว่า
ผมคิดว่าคนเราต้องใช้ชีวิตให้เหมือน ‘ลูกวอลนัต’ ที่ด้านในมีผลไม้อร่อยซ่อนอยู่ แต่ด้านนอกมีเปลือกที่ขรุขระและแข็งมาก ตอนเสียคุณพ่อไป เราต้องเป็นวอลนัต ที่มีเปลือกหนาๆ ไม่สวยงามมาห่อหุ้ม
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ชีวิตของเราเหมือนลิ้นชักยาจีน เวลาเราไปร้านขายยาจีน จะเห็นว่ามีตู้ลิ้นชักที่แบ่งเป็นลิ้นชักเล็กๆ ตั้งอยู่ เวลาเราสูญเสียครอบครัวหรือคนที่รัก หรือมีเรื่องลำบากทางจิตใจ เรื่องนั้นๆ จะหาทางมาอยู่ในจิตใจเราตลอด ไม่ว่าจะกินข้าวหรือทำอะไรก็จะนึกถึง ถ้ามีใครมาทำอะไรไม่ดีก็อาจจะนึกไปว่า ‘ถ้าคุณพ่ออยู่คงไม่เป็นแบบนี้’ ในสถานการณ์แบบนั้น ผมมักนึกถึงเรื่อง ‘ลิ้นชักยาจีน’
ผมมักเปรียบลิ้นชักเป็นจิตใจคน และความทุกข์ความกังวลทั้งหลายก็จะถูกใส่ไว้ในลิ้นชักเล็กๆ เหล่านั้นทีละเรื่อง เพราะฉะนั้น ความเศร้าที่เสียคุณพ่อนั้น ขอให้เอาใส่ไว้ในลิ้นชักหนึ่ง แล้วปิดมันไว้ให้แน่นที่สุด ถ้ามีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องไม่ดีในที่ทำงาน ก็ใส่ไว้ในอีกลิ้นชัก แล้วปิดเอาไว้เช่นเดียวกัน เวลามีปัญหากับแฟน กับเพื่อน ก็ใส่ไว้ในอีกลิ้นชัก แบ่งเรื่องต่างๆ ไว้แยกกันอย่างชัดเจน และสิ่งสำคัญคือต้องปิดลิ้นชักไว้ให้แน่น เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ถึงค่อยเอาออกมา
เช่นสมมติว่าเราทำงานแล้วมีปัญหาในที่ทำงาน เราก็เปิดลิ้นชักที่เก็บความทุกข์ในที่ทำงานออกมา อย่าไปเปิดทุกลิ้นชักให้ความเจ็บปวดทุกอย่างมันออกมาพร้อมๆ กัน เพราะว่าปกติแล้ว เวลาเราเจอเรื่องที่ไม่ดีในชีวิต เรามักจะคิดถึงเรื่องหนึ่ง แล้วต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนเราต่อหางความคิดไปเรื่อยๆ ทำให้ยิ่งเจ็บปวดขึ้นเรื่อยๆ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำคือต้องแยกความทุกข์ออกจากกันให้ดี ผมเลยจะแนะนำว่าความเจ็บปวดจากการสูญเสียคุณพ่อนี้ ให้แยกเอามาใส่ลิ้นชัก แล้วปิดมันไว้ อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่ายๆ สำหรับบางคนอาจเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ อยากให้อดทนกับมัน และปล่อยให้เวลาผ่านไปจะดีกว่า
จริงอยู่ ที่คนเรามักพูดกันว่า “เวลาจะเยียวยาทุกอย่าง” แต่ก็ต้องยอมรับว่า ‘การปล่อยให้เวลาเยียวยาหัวใจ’ นี่แหละ เป็นขั้นตอนที่เจ็บปวดและยากลำบากที่สุด สุดท้ายแล้ว เราจะสามารถก้าวข้ามหรืออดทนต่อความเจ็บปวดได้สำเร็จบ้างสักครั้งหรือไม่ในชีวิตนี้ และสุดท้ายแล้ว ‘ลิ้นชักยาจีน’ จะเป็นตัวช่วยที่ปรากฏขึ้นได้ในหัวใจทุกคนจริงหรือไม่