วิจัยพบตัวควอลเพศผู้มักตายเร็ว เพราะอดนอน เนื่องจาก ‘มุ่งมั่น’ จะผสมพันธุ์มากไป
สำหรับใครที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ตัวควอล หรือ Quoll คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นฐานอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดตั้งแต่ 25-75 เซนติเมตร หน้าตาคล้ายกระรอกหรือหนู อาศัยอยู่ในป่าและทุ่งราบ มีจุดเด่นคือเพศเมียที่มีถุงหน้าท้องในช่วงตั้งครรภ์
แต่นอกเหนือจากข้อมูลเหล่านี้ ในปัจจุบันอีกหนึ่งประเด็นที่เหล่านักวิชาการเป็นกังวลเกี่ยวกับตัวควอล คือการที่พวกมันเริ่มใกล้จะสูญพันธุ์ ทำให้พวกเขาเริ่มการศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ โดยลงลึกไปที่จุดผิดสังเกตของการสูญพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้น
นั่นคือมีเพียงตัวควอล ‘เพศผู้’ เท่านั้น ที่กำลังเผชิญภาวะดังกล่าว
จากจุดนี้เอง พวกเขาจึงเลือกติดตั้งอุปกรณ์เล็กๆ บนตัวควอลเพศผู้จำนวนหนึ่ง ก่อนตามติดชีวิตพวกมันกว่าเดือนครึ่งเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิต สุดท้ายหลังจากได้ข้อมูลกลับมา ทีมวิจัยได้พบกับความจริงข้อหนึ่งที่อาจนำไปสู่สาเหตุการสูญพันธุ์ของตัวควอลเพศผู้ได้
นั่นคือพวกมัน ‘มุ่งมั่น’ ที่จะผสมพันธ์ุมากเกินไป
อธิบายให้เห็นภาพกว่านั้น จากการตามติดชีวิตตัวควอลเพศผู้ พวกเขาได้ค้นพบความจริงใหม่ข้อหนึ่งที่ว่า พวกมันเดินทางเฉลี่ยกว่า 10 กิโลเมตรในคืนเดียวเพื่อเป้าหมายในการหาคู่ โดย 10 กิโลเมตรที่ว่านั้น ตัวควอลเพศผู้ไม่มีการแวะพัก แวะนอน หรือหยุดกระทำการใดๆ มันมีแต่จะตะลุยไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยถ้าเปรียบเทียบร่างกายของมันกับมนุษย์ ระยะทางที่มันเดินใน 1 คืน เทียบเท่ากับที่มนุษย์เดิน 40 กิโลเมตร เลยทีเดียว
“และตามนิสัย พวกมันมักเดินทางไกลเพื่อไปผสมพันธุ์ให้บ่อยสุดเท่าที่จะทำได้ ราวกับแรงขับของมันไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นการอดนอนและใช้แรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้ควอลเพศผู้แทบไม่ได้พักฟื้นร่างกาย นั่นเองทำให้พวกมันไม่แข็งแรงเท่าเดิม จนอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของตัวมันเอง อีกทั้งยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากยวดยานพาหนะได้ หรือที่หนักสุด พวกมันอาจตายเพราะความเหนื่อยล้าได้เลย” โจชัว แกชค์ (Joshua Gaschk) ผู้นำงานวิจัย กล่าว
โดยผลการทดลองนี้ทีมวิจัยยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าเป็นข้อมูลเบื้องต้นชั้นดีที่สามารถนำไปศึกษาต่อยอดถึงผลกระทบในการอดนอนของสัตว์ชนิดต่างๆรวมถึงประเด็นที่สัตว์เพศผู้มักเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าสัตว์เพศเมียอีกด้วย
อ้างอิง
- Sex and no sleep may be killing endangered quolls. https://bbc.in/40nX57x