รุ่นใหญ่ใจต้องนิ่ง! ควีนอังกฤษถูกล้อเลียนมาตลอด แต่ไม่เคยถือสาเหล่าสามัญชน
คงไม่มีราชินีพระองค์ไหนในโลกที่ถูกล้อเลียนอย่างเปิดเผยผ่านสื่อหลักและสื่ออื่นๆ อย่างต่อเนื่องได้เท่ากับสมเด็จพระราชินีนาถ หรือ ‘ควีน’ เอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งอังกฤษ เพราะนอกจากจะเคยถูกเรียกว่า ‘ปรสิต’ โดยเหล่าผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์เมื่อปี 2016 ก็ยังเคยถูกศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังอย่าง ‘แบงก์ซี’ (Banksy) ทำภาพล้อเลียนว่าเป็น ราชินีวานร (Monkey Queen) เมื่อปี 2003 โดยมีนัยเสียดสีว่าควีน (และราชวงศ์) ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นประมุขของอังกฤษ

Monkey Queen l BANKSY

queen Elizabeth II

young girl dressing up as The Queen l WalesOnline
เพราะฉะนั้นเมื่อมีข่าวว่า ‘แจเลน ซัทเทอร์แลนด์’ (Jalayne Sutherland) เด็กหญิงอเมริกันอายุหนึ่งขวบ แต่งคอสตูมเลียนแบบควีนเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันฮัลโลวีนปี 2021 จนกลายเป็นไวรัลโด่งดังในสื่อออนไลน์หลายประเทศ และแม่ของแจเลนยังส่งภาพถ่ายลูกสาวในชุดเลียนแบบควีนไปถึงสำนักพระราชวังอังกฤษ จึงไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะได้รับจดหมายตอบกลับแกมชื่นชมในนามของควีน
แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ และสื่อหลายสำนักของอังกฤษและอเมริกันก็รายงานข่าวพร้อมภาพจดหมายที่เขียนมาในนามของ ‘แมรี มอร์ริสัน’ (Hon. Marry Morrison) นางสนองพระโอษฐ์ในควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนจะกลายเป็นข่าวดังช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา
นอกจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะไม่ถือสาที่ถูกเด็กน้อยแต่งกายเลียนแบบในเทศกาลปล่อยผี เนื้อหาในจดหมายของนางสนองพระโอษฐ์ยังระบุว่า ควีนตรัสขอบคุณแม่ของแจเลนที่ส่งภาพลูกสาวเธอในชุดคอสตูมเลียนแบบไปให้พระองค์ ทั้งยังย้ำว่าควีนทรงยินดีและอวยพรวันคริสต์มาสให้แก่ครอบครัวแจเลน โดยจดหมายลงวันที่ 2 ธันวาคม 2021 ขณะที่วันคริสต์มาสคือ 25 ธันวาคมของทุกปี
ส่วนชุดที่แจเลนแต่งในวันฮัลโลวีนปีที่แล้วเป็นเสื้อโค้ตคอปกตั้ง สีม่วงอ่อน พร้อมหมวก กระเป๋าถือ และสร้อยไข่มุก ซึ่งเป็นชุดที่หลายคนทั่วโลกมองเห็นความคล้ายคลึงกับฉลองพระองค์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่เคยเห็นผ่านตากันตามสื่อต่างๆ แถมยังมีเป็นสุนัขพันธุ์คอร์กีอีก 2 ตัว คือ แจ็ค (Jack) กับรัสกัล (Rascal) ซึ่งครอบครัวของแจเลนพาไปตระเวนขอขนมในละแวกบ้านตามธรรมเนียมทริก ออร์ ทรีต (Trick or Treat) ก็เป็นการเลียนแบบสุนัขทรงเลี้ยงของควีนเช่นกัน
ไม่ถือสาหาความต่อการล้อเลียนและด่าทอ สะท้อนภาวะผู้นำของควีน
ในยุคโบราณ หลายดินแดนเคยปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สถาบันกษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุด และสามัญชนไม่อาจล่วงละเมิดหรือล้อเลียนราชวงศ์ได้ ถ้าไม่อยากถูกลงโทษขั้นร้ายแรงถึงตาย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้รับความนิยมในการประกอบสร้างรัฐชาติยุคใหม่ที่ให้คุณค่ากับประชาชนและความเท่าเทียม สถาบันกษัตริย์ของหลายประเทศถูกโค่นล้ม และอีกหลายประเทศก็พยายามปรับตัวให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกับสามัญชน ทั้งยังผ่อนคลายอาญาสิทธิ์ที่กษัตริย์เคยยึดครองลงไป
กรณีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ไม่ต่างกัน เพราะหลังจากที่เครือจักรวรรดิอังกฤษเคยเรืองอำนาจอย่างมากก็ค่อยๆ ถูกท้าทายในศตวรรษที่ 20 และราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษซึ่งมีอำนาจสืบทอดกันมาหลายยุคก็ต้องปรับตัว และไม่ถือสาหาความกับการถูกล้อเลียน (หรือแม้แต่เสียงด่าทอ) จากผู้คนในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 และทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองบัลลังก์ยาวนานที่สุดของอังกฤษ โดยในปี 2022 นี้จะครบรอบ 70 ปีการครองราชย์ของพระองค์ (Platinum Jubilee) แต่ควีนผู้ยิ่งใหญ่ก็ทรงหนีไม่พ้นการถูกท้าทายจากกลุ่มต้านสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษอยู่ดี แต่การที่พระองค์ทรงเลือกวางเฉยมาตลอด ไม่ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามปรับเปลี่ยนท่าทีของราชวงศ์ ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษยังได้รับความนิยมจากคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่
แน่นอนว่าราชวงศ์อังกฤษเคยประสบภาวะเสื่อมความนิยมอย่างมาก เช่น ปีที่เจ้าหญิงไดอานา อดีตพระชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์สิ้นพระชนม์ หรือตอนที่เจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดาในควีนเอลิซาเบธฯ พร้อมด้วยพระชายา เมแกน มาร์เคิล (Meghan Markle) ประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อฝ่ายซ้ายก็ตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ‘ถึงเวลาโละระบอบราชวงศ์หรือยัง? ’ แต่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็ยังอยู่ต่อมา เห็นได้จากเสียงสนับสนุนในโพลต่างๆ ที่สำรวจกันอย่างเปิดเผย โปร่งใส ทั้งยังทำเป็นประจำอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นในสังคม
หากสิ่งที่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์อังกฤษยังอยู่มาได้ก็คือการแสดงท่าทีพร้อมปรับตัวของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงเป็นประมุขพระองค์ปัจจุบัน เพราะทรงผ่านการล้อเลียนด่าทอมาแล้วหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่กราฟฟิตี้ล้อเลียนหรือคอมเมนต์แย่ๆ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แสดงความไม่พอใจในเพจของสำนักพระราชวัง ยังรวมถึงวงพังก์ร็อกในตำนานอย่าง Sex Pistols ก็เคยแต่งเพลง God Save the Queen แต่มีเนื้อหาเสียดสีราชวงศ์ส์จนอื้อฉาวกันไปทั่วช่วงยุคทศวรรษ 1970 แต่พวกเขาก็ยังรอดพ้นคุกพ้นตะรางมาได้ แม้ว่าอังกฤษจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีกฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์และมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุกก็ตาม แต่ยังไม่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในการฟ้องร้องผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในยุคของควีนเอลิซาเบธที่ 2
แม้จะมีกรณีที่เจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดาอีกพระองค์ในควีนเอลิซาเบธที่ 2 ฟ้องร้องสื่ออังกฤษในข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะมีแท็บลอยด์ที่ลอบถ่ายภาพพระชายาของพระองค์ไปตีพิมพ์เผยแพร่โดยไม่ขออนุญาต แต่สมาชิกราชวงศ์ทั้งสองพระองค์ก็ทรงเลือกฟ้องร้องด้วยกฎหมายมาตราเดียวกับที่ประชาชนโดยทั่วไปใช้กัน และมอบให้ตัวแทนพระองค์เป็นผู้ดำเนินเรื่องเป็นการเฉพาะ ไม่ได้ปล่อยให้ ‘ใครก็ได้’ เป็นผู้ยื่นฟ้อง
ผู้ที่ติดตามข่าวราชวงศ์จำนวนมากรู้สึกว่านี่คือการ (พยายาม) ให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ แม้จะมีคนวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยังทำให้คนจำนวนมากรู้สึกดีกว่าการที่ราชวงศ์ใช้อำนาจหรือสถานะอันทรงอภิสิทธิ์ในการตอบโต้เหล่าสามัญชน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ยังคงเกี่ยวโยงกับการปกครองในระบอบสมัยใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีน้ำหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ มาจาก ‘จอห์น กริก’ (John Grigg) นักหนังสือพิมพ์ผู้ดำรงตำแหน่งลอร์ดอัลทริงก์แฮม และเป็นคนหนึ่งที่เขียนบทความติติง (รวมถึงเสนอคำแนะนำ) แก่ราชวงศ์อังกฤษและควีนเอลิซาเบธที่ 2 อยู่บ่อยครั้งในช่วง 25 ปีแรกที่พระองค์ครองราชย์ ถึงขั้นที่สื่อถามว่าเขาเกลียดระบอบกษัตริย์มากหรืออย่างไร แต่คำตอบของกริกคือการย้ำว่าเขามิได้เกลียดสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่คิดว่าการจะจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์ได้ ต้องอาศัยอำนาจและความเด็ดขาดของผู้ทรงเป็นประมุขอยู่ดี จึงจำเป็นต้องท้วงติงกันตรงๆ
เว็บไซต์ Inc รายงานว่ากริกเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระบรมราโชวาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในอดีต ซึ่งน่าจะถูกร่างขึ้นโดย ‘ข้าราชบริพารแย่ๆ ’ เขาจึงเขียนวิจารณ์อย่างเปิดเผยในหนังสือพิมพ์ยุคนั้น แถมยังเปรียบควีนว่าเป็น ‘เด็กอวดดี’ แต่เขาก็ไม่ได้ถูกฟ้องร้องหรือตอบโต้จากควีนหรือสำนักพระราชวัง โดยกริกให้เหตุผลในการออกมาวิจารณ์ควีนแรงๆ ว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการออกมาฉะกันตรงๆ เพราะควีนทรงเป็นประมุข (ซึ่งกริกเลือกใช้คำว่า boss ในภาษาอังกฤษ) จึงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการกำจัดข้าราชบริพารแย่ๆ ที่พระองค์ทรงว่าจ้างมาทำงานให้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเรื่องแย่ๆ ที่เกิดจากข้าราชบริพารที่ไม่ดี ถือเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของพระองค์นั่นเอง
อ้างอิง
- Britannica. Elizabeth II queen of United Kingdom. https://bit.ly/3G01uDo
- Guy Hepner. Monkey Queen By Banksy. https://bit.ly/3EX69oe
- Inc. Queen Elizabeth Shows How a True Leader Reacts to Criticism. https://bit.ly/3zqCoes
- Mashable. Anarchy on the Thames. https://bit.ly/3HxcwQB
- Mirror. Toddler’s letter from Buckingham Palace after incredible Queen fancy dress costume. https://bit.ly/3sYTYVl
- Newsweek. Fact Check: Was Queen Elizabeth II Statue Defaced With the Word ‘Parasite’? . https://bit.ly/3JCO4PH