คุยกับ ‘ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก’ ตัวแม่วงการนางงาม ผู้นำหญิงตัวตึงแห่งยุค ผ่านการเป็นลูกสาว-แม่-เวิร์กกิ้งวูแมน และ Campaign Presenter HER AWARDS 2024

14 Min
761 Views
11 Aug 2024

‘แม่ปุ้ย’

ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จักหากคุณคือแฟนนางงาม ส่วนในแวดวงธุรกิจชื่อของ ‘ปิยาภรณ์ แสนโกศิก’ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้นำหญิงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทั้งคน ‘เก่ง’ และ ‘แกร่ง’

ไม่ว่าเธอจะเป็นอะไร หรือถูกจดจำในฐานะใดก็ตาม แต่ภายใต้เครื่องสำอางที่ประทินโฉมความงาม สะท้อนความมั่นใจอันเปี่ยมล้นของหญิงวัยหกสิบกว่าผู้นี้ เธอก็ยังคงเป็นลูกสาวอันเป็นที่รักของพ่อแม่ เป็นแม่ที่คอยโอบอุ้มลูกๆ เป็นหัวหน้าคอยนำทางให้กับลูกน้อง รวมไปถึงการเป็น ‘ผู้หญิงธรรมดา’ คนหนึ่งที่อยากส่งต่อพลังและความเชื่อมั่นให้ผู้หญิงทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสง่างามสมภาคภูมิ

วันนี้ BrandThink ชวนคุยกับ ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก Campaign Presenter ของ HER AWARD 2024 ผ่านมุมมองการใช้ชีวิตกับสารพัดบทบาทที่ผู้หญิงคนนี้พร้อมรับมืออยู่เสมอ

คำนิยามของ ‘ความเป็น ปุ้ย ปิยาภรณ์’ จากมุมมองของ ปุ้ย ปิยาภรณ์

โหด มันส์ ฮา

นิยาม 3 คำที่แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ เลือกใช้อธิบาย ‘ความเป็น ปุ้ย ปิยาภรณ์’ ที่ดูขัดกับภาพจำของการเป็น ‘คุณแม่’ ในวงการนางงามที่คนทั่วไปต่างรู้จัก แต่เธออธิบายต่อว่า ตลอดชีวิตของตัวเอง ไม่มีวันไหนที่จะย่อท้อต่อกับอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามา ถ้ามันยากนัก แค่บอกกับตัวเองว่า “เดี๋ยวมึงเจอกู!”

ด้วยความเป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำจริง ทำทุกอย่างด้วยเอเนอร์จีเต็ม 10 ไม่เคยแผ่ว และแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ เริ่มทำงานหนักตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เธอกล้าที่จะบอกทุกคนว่า…ฉันก็เป็นคนเอาจริง และพร้อมลุยในทุกๆ เรื่องเหมือนกัน

แม้ทุกวันนี้ แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์จะสวมหมวกเป็น ‘ผู้นำ’ แล้วก็ตาม แต่สุดท้าย การลงมือทำจริงให้คนที่อยู่ข้างหลังตัวเองได้เห็น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมงานได้ รวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับคนที่ทำงานร่วมกันด้วย นอกจากนี้ความเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน ที่เธอบอกเองด้วยซ้ำว่าเป็น ‘คนตลกโปกฮา’ ก็ยังนับเป็นอีกตัวตนที่หลบอยู่ใต้มงกุฎนางงามที่หลายคนรู้จักในฐานะผู้จัดเวทีการประกวด Miss Universe Thailand

ถ้าจะบอกว่า แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ คือ ‘ตัวแม่’ ของวงการนางงามแล้ว เห็นทีว่าจะต้องพ่วงตำแหน่ง ผู้หญิง ‘ตัวตึง’ ด้านทำงานและการใช้ชีวิตด้วย ซึ่ง ‘ตัวตน’ ของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ในวันนี้ ก็ถูกหล่อหลอม ฟูมฟักมาจากชีวิตของเด็กหญิงปิยาภรณ์เมื่อวันวาน

เด็กหญิงปิยาภรณ์และชีวิตลูกสาวคนโต

การเป็นเด็กหญิงปิยาภรณ์อาจไม่ถูกใจป้าข้างบ้าน แต่พ่อแม่ไม่เคยบอกสักครั้งว่าผิดหวังกับลูกสาวคนนี้

วัยเด็กของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ไม่ต่างจากครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เธอมองว่าครอบครัวตัวเองหัวสมัยใหม่ ไม่เหมือนกับหลายๆ ครอบครัวของเพื่อนที่รู้จักในยุคเดียวกัน นั่นคือ ‘ความเท่าเทียม’ ระหว่างลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายในบ้าน จนแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ กล้าพูดได้เต็มปากว่า เธอแทบไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าการเป็นผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชาย หรือต่างกันอย่างไร ครอบครัวของเธอจึงกลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ลูกสาว เรื่องนี้ แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ย้ำว่าต้องยกเครดิตความดีงามให้กับคุณพ่อและคุณแม่ของเธอ

แม้แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ จะเป็น ‘ลูกสาวคนโต’ และเป็น ‘ลูกสาวคนเดียว’ ในบ้าน ที่ต้องใช้ชีวิตวัยเด็กร่วมกับน้องชายอีกสองคน แต่ ‘เพศหญิง’ กลับไม่เป็นปัญหาหรือสร้างแรงกดดันให้เธอเลยแม้แต่น้อย กลับกันการเป็นลูกสาวยิ่งทำให้แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ต้องรู้จักคำว่าความรับผิดชอบ ที่อาจจะมากกว่าเด็กรุ่นเดียวกันที่ต้องเรียนรู้คำคำนี้เสียด้วยซ้ำ

เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่ไม่เคยสอนแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ว่า ตนเอง ‘ต้อง’ ทำอะไรบ้าง หรือตีเส้น ขีดกรอบจำกัดเรื่องต่างๆ ของการใช้ชีวิตในฐานะลูกผู้หญิง แต่สิ่งที่เธอถูกพร่ำสอนมาเสมอ คือ ‘การเป็นพี่’ ในฐานะของคนที่เกิดก่อนและมีอายุมากกว่าน้องๆ ต้องมีความรับผิดชอบและดูแลน้องๆ ให้ได้ ไม่ว่าเธอจะเกิดมาเป็นลูกสาวหรือลูกชาย แต่ในฐานะ ‘พี่คนโต’ แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ยังมีน้องอีกสองคนต้องดูแลให้เต็มที่ด้วยกำลังทั้งหมดที่มีของพี่คนหนึ่ง

ในบ้านหลังนี้ เพศจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือสร้างบาดแผลในใจให้เด็กหญิงปิยาภรณ์แม้แต่น้อย

ปุ้ย ปิยาภรณ์ กับบทบาทผู้จัดเวทีการประกวด Miss Universe Thailand 

ปุ้ย ปิยาภรณ์ กับบทบาทผู้จัดเวทีการประกวด Miss Universe Thailand 

การทำงานเบื้องหลังเวทีการประกวด Miss Universe Thailand

การทำงานเบื้องหลังเวทีการประกวด Miss Universe Thailand

จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการนางงาม จนกลายเป็น ‘คุณแม่’ ของแฟนนางงามทั่วประเทศ

‘Miss Universe 2018’ ในปี 2561 คือจุดเริ่มต้นของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ที่เข้ามาจับพลัดจับผลูในวงการนางงาม เวทีแรกเวทีนี้มาพร้อมโจทย์ที่ท้าทายเธอในฐานะหัวเรือใหญ่ในการจัดประกวดเพื่อเฟ้นหาผู้หญิงที่เหมาะสมจะสวมมุงกุฎอันสูงค่าแห่งจักรวาลนี้ ที่เริ่มต้นด้วยดราม่าประเทศเจ้าภาพ และถูกเปลี่ยนมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนสุดท้าย ไทยประกาศตัวในการเป็น ‘ประเทศเจ้าภาพ’ ของเวที Miss Universe ครั้งที่ 3 ต่อจากปี 1992 และ 2005

ความหมายของคำว่า ‘นางงาม’ ในสายตา ปุ้ย ปิยาภรณ์

ใครๆ ก็มองว่าประกวดนางงามก็ไม่ต่างอะไรจาก Human Zoo เดินไปเดินมา อวดหน้า อวดหุ่นสวยๆ แล้วก็จบ แต่สำหรับแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ผู้ที่เริ่มต้นทำงานวงการนางงามด้วยความไม่รู้ แต่มี ‘ความจริงใจ’ ผนวกกับความใฝ่ที่จะเรียนรู้ ความพยายาม และการอยากพัฒนาคุณภาพของเวที Miss Universe Thailand ให้ดีขึ้นทุกๆ ปี เป็นสารตั้งต้น

ความสวยงามเป็นเพียงสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ ให้แสงสปอตไลต์ฉายลงมา เพื่อทำให้ทุกคนได้มองเห็น ‘ศักยภาพ’ และ ‘คุณค่า’ ที่อยู่ภายในตัวของผู้หญิงทุกคน อย่างน้อยที่สุด ผู้หญิงที่อยากครองมงกุฎนี้ต้องทุ่มเทและใช้ความพยายาม รวมไปถึงพัฒนาทักษะชีวิตต่างๆ ตั้งแต่การใช้ภาษาอังกฤษ หรือเรื่อง Global issue ต้องรู้ว่าวันนี้สังคมโลกกำลังพูดถึงเรื่องอะไร เพราะพวกเราไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทย และพวกเราทุกคนคือพลเมืองโลกด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ตัวเอง ‘พร้อมที่สุด’ ที่จะเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ

Miss Universe Thailand ของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ต้องทั้งสวยและมากด้วยความสามารถ แต่ความสวยจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่ลุกขึ้นมาทําอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม…และนี่คือหัวใจและหมุดหมายของการขับเคลื่อนเวทีนางงาม ภายใต้วิสัยทัศน์ของ แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ และ TPN Global

วินาทีประวัติศาสตร์​ของไทย เมื่อ แอนโทเนีย โพซิ้ว จับมือชิงมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส กับ เชย์นิส ปาลาซิโอส มิสนิการากัว (Miss Universe คนปัจจุบัน - ปี 2023) เครดิต: Miss Universe

วินาทีประวัติศาสตร์​ของไทย เมื่อ แอนโทเนีย โพซิ้ว จับมือชิงมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส กับ เชย์นิส ปาลาซิโอส มิสนิการากัว (Miss Universe คนปัจจุบัน – ปี 2023) เครดิต: Miss Universe

‘มงสามมาแน่’ แต่หลายปีแล้วก็ยังไม่มาสักที ในฐานะผู้จัดการประกวดเคยท้อบ้างไหม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนนางงามจะท้อกับการรอคอยมงกุฎมิสยูนิเวิร์สที่ 3 จะเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง เพราะตอนที่ตัวเองทำเวทีนางงามใหม่ๆ ก็อยากได้เหมือนกัน

แต่เมื่อแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ มีความเข้าใจกับวงการนางงามและเนื้องานมากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่เป้าหมายเดิม แค่คือ mindset ของตัวเอง ในฐานะผู้จัดการประกวดที่ต้องมีหน้าที่ทำให้เวที Miss Universe Thailand ดีขึ้นทุกๆ ปี เมื่อกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานการทำงานที่ต้องไม่หยุดพัฒนาเช่นนี้ แน่นอนว่า ตัวแทนประเทศไทยที่จะออกไปประชันสาวงามชาติอื่นบนเวทีจักรวาล ย่อมต้องดีขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน

อย่างปีที่ผ่านมา พวกเรามี แอนโทเนีย โพซิ้ว เป็นตัวแทนประเทศไทย และคนไทยไม่ได้เห็นภาพนางงามไทยยืนจับมือใน Crowning Moment มาหลายสิบปีแล้ว ถึงจะไม่สมหวัง แต่พวกเรามาไกลกันมาก และพวกเราจะไปให้ไกลมากขึ้น เพื่อจุดหมายของทุกคน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าในการประกวดมิสยูนิเวิร์สในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นางงามไทยเข้ารอบใหญ่มากถึง 3 ครั้ง หรือแม้แต่ในการประกวด Miss Universe 2022 ที่สหรัฐอเมริกา ถึง แอนนา เสืองามเอี่ยม จะไม่ผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส แต่เธอก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมโลก ในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่สื่อใหญ่ต่างชาติต่างพูดถึง ‘Hidden Precious Diamond’ ชุดราตรีที่ตัดเย็บและเลือกใช้วัสดุเหลือใช้อย่างฝากระป๋องอะลูมิเนียมเกือบสามพันชิ้น ตีความคำว่า ‘นางงามกองขยะ’ ได้งดงาม และยังสะท้อนว่าไทยใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น Mutual issue ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จสูงสุดที่ทุกคนต่างรอคอยคือได้มงสามกลับบ้าน แต่ความสำเร็จอื่นๆ ที่นางงามไทยสร้างชื่อให้กับประเทศ ถึงจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ภาคภูมิใจเช่นกัน

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การได้มงสามกลับประเทศ นั่นคือ ‘แฟนนางงาม’ ที่ยังคอยส่งแรงใจ แรงเชียร์ และคำติชมที่มาจากความตั้งใจให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นบนเวที Miss Universe Thailand สิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญมากกับผู้จัดและนางงาม

ปุ้ย ปิยาภรณ์ และครอบครัว

ปุ้ย ปิยาภรณ์ และครอบครัว

จากลูกสาวคนโตสู่การเป็นคุณแม่ลูกสองของ ปุ้ย ปิยาภรณ์

‘เลี้ยงแบบไม่ได้เลี้ยง’ คือคำจำกัดความของการเลี้ยงลูกสไตล์แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ที่เธอใช้กับลูกทั้งสอง อินดี้-สพลเชษฐ์ แสนโกศิก และ แองจี้-เสริมสิรี แสนโกศิก

เลี้ยงแบบไม่ได้เลี้ยง คือ การปล่อยให้เขาเลี้ยงตัวเอง
ต้องกล้าให้ลูกๆ ได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากจะเป็น ให้เขาตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง ส่วนตัวเรา ในฐานะแม่ ทำได้แค่ดูเขาเติบโต รับรู้เรื่องราวของพวกเขา และเป็นแรงซัพพอร์ตในเวลาที่พวกเขาต้องการ แต่สิ่งสำคัญต้องสอนให้พวกเขา ‘ทำงานให้หนัก’ ลูกๆ ต้องรู้จักเลี้ยงตัวเองให้ได้”

เพราะการเลี้ยงลูกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ที่คุณแม่ทุกคนสามารถใช้หลักการเดียวกันเหมือนกันได้ สำหรับแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ นอกจากการปล่อยให้ทั้ง อินดี้-แองจี้ ได้เลี้ยงตัวเอง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ นั่นคือ เธอจะไม่บงการชีวิตลูกๆ เด็ดขาด

แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ มองว่าความสุขในชีวิตของแต่ละคนนั้นอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่จะสร้างความสุขจากข้างในให้เกิดขึ้นในทุกๆ คนได้ คือ ‘ความมั่นใจ’

แล้วอะไรจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบใหญ่เป็นคนที่มั่นใจในตัวเองได้?

นี่คือโจทย์สำคัญที่ไม่แพ้สารพัดความท้าทายของการเป็นคุณแม่ และแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ เชื่อว่าไม่มีแม่คนไหนไม่อยากเห็นลูกได้ดี แต่สายตาของคนเป็นแม่ต้องมองลูกตัวเองให้ออกว่าเขาเป็นอย่างไร แค่มองออกอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจในความเป็นตัวเขาเองด้วย เพราะความหวังดีที่มากเกินไป ก็สามารถเปลี่ยนพลังงานบวกให้เป็นแรงกดดันที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับเกินความจำเป็น

อิสระในการใช้ชีวิตมีอยู่จำกัดแถมยังถูกเจ้ากี้เจ้าการอยู่เสมอ ผู้ใหญ่บอกว่าเธอต้องทำอย่างนั้น เธอห้ามทำอย่างนี้ ต้องเรียนคณะนั้น ต้องจบมาทำงานอาชีพนี้ แล้วความสุขของเด็กคนหนึ่งจะไปอยู่ที่ตรงไหน ความมั่นใจของเขาจะมีได้อย่างไร ถ้าเราถูกความหวังดีเป็นกรงที่ขังตัวเองไว้ตลอดชีวิต

แม่จึงเป็นได้ทั้ง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และ ‘ปราการป้องกันภัย’ ให้ลูกๆ และเป็นคนสำคัญที่จะช่วยฟูมฟักให้หลายๆ ชีวิตได้เติบโตเป็นเด็กที่มั่นใจ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขได้เช่นกัน

ลูกสาว ‘สมัยนั้น’ กับ ลูกสาว ‘สมัยนี้’ ในสายตาของผู้หญิงที่เป็นทั้งแม่และลูกสาว

ถ้าจะให้นิยามจากสังคมยุคก่อน หรือหลายๆ ครอบครัวที่เคยเห็นมา ทุกคนรู้ดีกันอยู่แล้วว่า ผู้หญิงสมัยก่อน พวกเราเป็นแค่ ‘Second class’ บ้างก็มองเป็นไม้ประดับ เป็นของตกแต่ง ยิ่งในภาพยนตร์หรือละครที่เคยรับชมกันมา บางบ้าน บางวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับลูกชายหรือผู้ชายในครอบครัวเป็นอันดับต้นๆ ผู้หญิงต่อให้จะเก่งแค่ไหน สุดท้ายเราก็เป็น ‘แค่’ ผู้หญิงในสายตาของสังคมอยู่ดี

ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ที่แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ได้สัมผัสมาด้วยตัวเองในครอบครัวของเธอตั้งแต่ ‘สมัยนั้น’ ได้ส่งต่อมายังครอบครัวของตัวเองใน ‘สมัยนี้’ ที่ไม่ต่างกัน

เมื่อมีลูกสาว แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์กลับไม่ได้มองว่าต้องเลี้ยงแองจี้ในฐานะเลี้ยงลูกสาวเลย แต่เลี้ยงแองจี้ในฐานะลูกคนหนึ่งที่ไม่ต่างจากอินดี้ ไม่เน้นที่ความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย แต่มองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เหมือนๆ กัน

“ไม่เคยบอกแองจี้ว่าห้ามออกไปเที่ยวกลางคืนนะ แต่จะบอกเขาเสมอว่าจะไปก็ไปสิ แต่ต้องระวังตัวเองให้ดีๆ ภัยอันตรายมันก็เยอะ…ถ้าดื่มหนักก็เรียกรถกลับบ้าน จะได้ไม่เป็นภาระของใคร และจะได้ไม่ต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะตัวเราด้วย”

ไม่ห้ามแต่ต้องสอน นี่คือวิธีง่ายๆ ที่ลูกสาวสมัยนั้นสอนลูกสาวสมัยนี้ เพราะแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ มองว่า ‘ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า’ ดังนั้นก่อนที่จะรักใครได้ เราต้องเริ่มที่จะหวงแหน เห็นคุณค่า และรักตัวเองให้ได้ก่อน

นอกจากเป็น ‘คุณแม่’ ของลูกทั้งสองและแฟนนางงามแล้ว ปุ้ย ปิยาภรณ์ ยังเป็นอะไรอีก?

นอกจากการทำเวที Miss Universe Thailand ที่เรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหนังร่างกายและจิตใจของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ไปแล้ว ก็ยังมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์ และยังทำงานให้กับสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะเลขาธิการของสมาคมด้วย

สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมที่รวบรวมเป็นสหพันธ์สตรีที่เน้นกลุ่มผู้ประกอบการ หรือ entrepreneur รวมถึงนักธุรกิจหญิงและวิชาชีพสากลอื่นๆ ในประเทศ

และสิ่งสุดท้ายที่แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ เป็นและตั้งใจเป็นให้ดีที่สุดในทุกวัน ก็คือ เป็น ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ที่อยากเห็นและช่วยส่งเสริมผู้หญิงคนอื่นๆ ได้ภาคภูมิใจและสง่างามในสิ่งที่ตนเองเป็น

ทำงานทุกวัน ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เหนื่อย เบื่อ หรือหมดไฟบ้างไหม?

เหนื่อยเหรอ? ไม่เคยเลย แล้วเบื่อล่ะ? คำนี้ก็ไม่รู้จักเหมือนกัน เพราะทุกวันของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ที่ตื่นนอนขึ้นมา มันจะไม่มีวันไหนที่ซ้ำกัน

เพราะอะไรรู้ไหม? 

ชีวิตมนุษย์มันต้องก้าวไปข้างหน้าและต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ลองสังเกตดูสิ ต่อให้เราต้องนั่งทํางานประจํา นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตัวเดิม แต่เรื่องราวในแต่ละวันไม่เหมือนกันเลย

บางคนอาจคิดว่าชีวิตตัวเอง หรือแม้แต่การทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวันเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ จำเจ ซ้ำซาก จนอยากตะโกนดังๆ ว่า “โอ๊ย ฉันเบื่อจังเลย” แต่จริงๆ พวกเราทุกคนเก่งมากเลยนะ ที่ต้องเผชิญและแก้ไขเรื่องราวในแต่ละวัน ไม่ว่าจะทำงานหรือใช้ชีวิต ต่างก็มีโจทย์ใหม่ ทั้งยากและง่าย หรือบางคนอาจจะเป็นโจทย์ยากและยากกว่าเดิมด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่พวกเราก็ผ่านมันมากันได้ ถ้าตอนนี้จะไม่ชมเชยตัวเองกันว่า เราเก่งมาก แล้วจะรอไว้พูดตอนไหนล่ะ?

ส่วนเรื่อง ‘หมดไฟ’ คำนี้ไม่เคยอยู่ในพจนานุกรมชีวิตหรือความคิดของผู้หญิงอย่างแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ สักครั้งเดียว ต่อให้อุปสรรคถาโถมมาแค่ไหน ก็มาเถอะ แต่ตัวเราต้องตั้งมั่นในหัวใจตัวเองเสมอ ตื่นนอนขึ้นมา แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์จะบอกกับตัวเองเสมอว่า “ฉันจะสู้ ฉันจะเรียนรู้แล้วก็สู้กับมัน เพื่อจะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้”

ไม่ว่าจะเป็นการทำเวทีนางงาม การทำงาน ทำธุรกิจ หรือการใช้ชีวิตส่วนตัว ของแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ จึงไม่มีวันไหนที่มันซ้ำซากเลยสักวันเดียว แต่ถ้าวันไหนเหนื่อยหน่ายท้อแท้ เราก็แค่หยุดพัก แล้วลองมองหาความสุขรอบๆ ตัวมาเติมเต็มกำลังใจให้ตัวเอง ไม่แน่นะ ความสุขอาจจะอยู่ใกล้ตัวหรือเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราอาจมองข้ามไป แค่นอนดูซีรีส์ ดู TikTok ปลูกต้นไม้ หรือแค่ออกไปสูดอากาศข้างนอก

“ทุกคนเหนื่อย ท้อ หมดไฟได้ เป็นเรื่องปกติ แค่เราอนุญาตตัวเองให้รู้สึก รับรู้ และเป็นไปเช่นนั้น แล้วไปพัก ดีขึ้นก็แค่กลับมาใหม่ แต่อย่าลืมนะ…กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พวกเราผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย คุณเก่งแล้ว… มันไม่ใช่คำปลอบใจ แต่คุณเก่งมากแล้วจริงๆ

“ไม่ต้องไปแข่งขันหรือต้องเอาชนะใคร แค่ทำทุกๆ วันให้สุดความสามารถของตัวเองก็พอ”

ไม่ว่าจะบทบาทไหน ปุ้ย ปิยาภรณ์ ก็เป็นผู้นำอยู่เสมอ แล้วผู้หญิงแถวหน้าคนนี้ รับมือกับแรงกดดันหรือคำปรามาสในการเป็น ‘ผู้นำหญิง’ อย่างไร

ผู้หญิงอย่างแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ คำสบประมาทไม่สามารถทำอะไรเธอได้ อาจเพราะความเป็นคนเอะอะมะเทิ่ง กล้าสู้ กล้าท้าชนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอะไร หรืออยู่ในบทบาทไหน ด้วยใจที่เกินร้อยทำให้เธอทุ่มเทอย่างเต็มที่เสมอ

แต่ในความเป็นจริง คงไม่มีใครจะเลี่ยงคำสบประมาทได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แต่แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์กลับมองตรงกันข้าม

สิ่งสำคัญที่จะทำให้คำสบประมาทต่างๆ นานา ไม่มีผลกับตัวของเราเลย นั่นคือเราต้องรู้ตัวเองให้รอบด้าน รู้ทั้งข้อดีและยอมรับทั้งข้อด้อย เปิดใจยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างถ่องแท้ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันที่ขับเคลื่อนอยู่ในตัวของเรา แล้วคนภายนอกก็จะมองเห็นว่า ตัวเรามีพลังมากเพียงใด

การเป็นผู้นำหญิงเป็นเรื่องยากไหม?

ความยากง่ายแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าตอนนี้เดินออกไปถามผู้หญิงคนอื่นๆ ก็ได้คำตอบไม่เหมือนกัน บางคนอาจบอกว่ายาก บางคนพอรับไหว บางคนอาจถอดใจไปแล้วแต่ก็ยังสู้อยู่ หรือบางคนอาจมองว่าเรื่องแค่นี้ไม่คณนามือเธอด้วยซ้ำไป

ไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นผู้นำ ในมิติตำแหน่ง ความรับผิดชอบ หรือบุคลิกภาพ ถ้าลองสังเกตดีๆ แต่สังคมสมัยนี้เปิดกว้างด้านโอกาสและอาชีพมากขึ้นแล้ว เมื่อก่อนเราเคยเห็นหลายๆ งานที่มักมีผู้นำเป็นผู้ชาย หรือสัดส่วนหลายๆ อาชีพ เช่น นักการเมือง กัปตัน คนขับรถ ฯลฯ ที่ผู้ชายจะมีโอกาสได้ทำงานมากกว่าผู้หญิง แต่ทุกวันนี้ หลายอย่างก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวเธอเองเชื่อว่า กำแพงด้านเพศสภาพจะค่อยๆ ทลายลงเมื่อวันเวลาผ่านไป

ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือไม่ แม้แต่แม่บ้านที่เลี้ยงลูก แค่เชื่อว่า ‘ฉันมีพลัง’ เพราะสิ่งที่พวกเธอเผชิญอยู่ทุกวันต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจมหาศาล ไม่ย่อหย่อนไปกว่างานไหนๆ เลย

“คุณอาจจะไม่รู้ตัวนะ แต่คุณกําลังใช้จิตวิญญาณทั้งหมดที่ตัวเองมี เพื่อสร้างและฟูมฟักมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา และเขาจะกลายเป็นคนที่มีคุณภาพกับสังคม

“ลองคิดกลับกัน ผู้ชายออกนอกบ้านไปทำงาน ผู้หญิงเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณคิดว่ามันสบายมากเหรอ? แค่ลำพังเลี้ยงลูกเนี่ย มัน ‘โคตรเหนื่อยเลยนะเว้ย’ ไหนจะสารพัดงานที่ไม่จบไม่สิ้น ไม่มีเวลาพักเที่ยง ไม่มีเวลาตอกบัตรเข้างาน ไม่มีเวลาสแกนนิ้วเลิกงาน ในวันหนึ่งคุณต้องรีดผ้า ซักผ้า ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน กับอีกหลายๆ งานที่ไม่มีวันจบสิ้น…ถ้าให้เลือกทำงานกับทำงานบ้าน ฉันก็เลือกออกมาทำงานนอกบ้านนะ”

ชีวิตที่เป็นฐานของครอบครัว เป็นคนดูแลทุกๆ คนในบ้าน อาจเป็นรูปแบบชีวิตธรรมดาของผู้หญิงหลายคน แต่กลับเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่คอยค้ำจุนทุกคนในสังคมมาช้านาน บางครั้งอาจจะนานเกินไปจะเกือบลืมไปว่า ‘ฉันน่ะ…ก็สำคัญเหมือนกัน’ (ยักไหล่)

การมีผู้นำหญิง ‘ดี’ หรือ ‘ด้อย’ กว่าผู้นำชาย?

“การเป็นผู้หญิง ‘ไม่ใช่’ ข้อด้อย หรือการเป็นผู้ชายก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘ได้เปรียบ’ มากกว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วทั้งคุณและฉันต่างก็เป็น ‘มนุษย์’ ที่ไม่ต่างกัน”

แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ยืนยันหนักแน่นว่า สำหรับเธอคำว่า ‘ผู้นำ’ ไม่ได้สงวนไว้ที่เพศใดเพศหนึ่ง เพราะตัวเองมองว่าในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทุกคนล้วนเป็นส่วนเสริมกัน

เรามักจะมีภาพจำว่า ผู้ชายเป็นคนเด็ดขาดมากกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงเป็นคนอ่อนไหว ซับซ้อน ประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย แต่โลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว หนึ่งเรื่องก็ไม่ได้ต้องมีผลลัพธ์แบบเดียวเสมอไป

บางเรื่องอาจต้องอาศัยความเข้มแข็ง ความเด็ดขาดในการตัดสินใจ แต่บางเรื่องต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ใช้ความนุ่มนวล ความอ่อนโยนเข้าหากัน หากลองหลับตานึกถึงคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ ก็เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ผู้ชายก็เป็นคนอ่อนโยนได้ ส่วนผู้หญิงก็เป็นคนแข็งกร้าวได้เหมือนกัน แล้วเพศ…จะสำคัญตรงไหนกับการเป็นผู้นำ?

เป็น ‘ผู้นำ’ อยู่ตลอดเวลา เหนื่อยบ้างไหม?

“บางทีเราก็ชอบเป็นผู้ตามเหมือนกันนะ” (หัวเราะ)

“อย่างเวลาอยู่กับครอบครัว จะทำอะไร อยากกินอะไร ก็จะให้สามีเป็นคนตัดสินใจมากกว่า หรือเวลาไปเที่ยวก็ให้สามีเป็นคนจัดการทั้งหมด จะให้ดูแผนที่ก็ไม่ทำเป็น ชี้ทิศเหนือหรือใต้ อะไรก็ไม่รู้ ดังนั้น เราเองก็ต้องยอมรับว่า ตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ถนัด บางเรื่องเราก็บื้อ จัดการเองไม่ได้ สำหรับบางเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องตัดสินใจ บางครั้งแม่ปุ้ย ปิยภารณ์ ก็ปรึกษาสามีบ้าง เพราะเขาเองก็จะมีมุมมองของตัวเอง ที่บางครั้งแค่เปิดใจและลองรับฟังความเห็นจากคนอื่นบ้าง ก็อาจได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง”

ใช่…สิ่งนี้แหละที่ทำให้แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์คิดว่า ไม่มีใครเป็นผู้นําตลอดเวลา…เชื่อเถอะ ทั้งผู้นำและผู้ตามเองต่างก็อยากได้ส่วนที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

การมีส่วนเติมเต็มเป็นเรื่องสำคัญ แล้ว ‘เรื่องของหัวใจ’ ผู้หญิงแกร่งอย่าง ปุ้ย ปิยาภรณ์ เติมเต็มอย่างไร?

ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เราก็จะยังอยู่กับเขาเสมอ

แม้แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ จะนิยามว่าตัวเองเป็นสาวลุยมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่เธอก็ยังยืนว่าตัวเองเป็นคนโรแมนติก (ด้วยนะ) และก็ไม่ปฏิเสธว่า ‘ความรัก’ ก็เป็นส่วนเติมเต็มให้ชีวิต Woking woman ของเธอยังมีแรงสู้ต่อ

เรื่องความรักและความโรแมนติกก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่แต่ละช่วงวัย เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นรักโรแมนติกก็คงเป็นสีชมพูไม่ต่างจากคนทั่วไป พอโตขึ้น ความโรแมนติกอาจไม่ใช่ช่อดอกไม้หรือของขวัญ แต่เป็นความซื่อสัตย์จริงใจต่อความรู้สึกที่มีให้กัน

“ความโรแมนติกของรักวัยนี้ คือวิธีที่แสดงออกให้เขา (สามี) รับรู้ว่า ไม่ว่าจะ Bad side หรือ Good side แค่เขาหันหลังกลับมาเมื่อไหร่ก็จะเจอเราอยู่ข้างๆ เสมอ ถ้าพรุ่งนี้ล้มละลาย เราสองคนก็แค่จับมือกันไปเปิดท้ายขายของ ไปทำอะไรก็ได้ที่ได้เงิน จะรวยจะจน สุขหรือทุกข์ ยังมีฉันอยู่กับเธอตรงนี้เสมอ” 

ยังมีอะไรอีกไหมที่ ปุ้ย ปิยาภรณ์ อยากทำอีก?

“ยังมีอีกหลายอย่างมาก (ลากเสียงยาว) ที่อยากทำ เวทีนางงามก็ไม่ได้เป็นแค่หน้าที่อีกต่อไปแล้ว กลายเป็นแพสชันส่วนหนึ่งที่หลอมรวมอยู่ในลมหายใจของตัวเองไปแล้ว ส่วนธุรกิจก็กลายเป็นโจทย์ที่เข้ามาท้าทายการทำงานในแต่ละวัน” 

และยังมีบทบาทที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างที่แม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ ได้รับเกียรติจาก UNFPA Thailand นั่นคือการเป็น ‘Campaign Presenter’ ของ HER AWARDS 2024

ปัจจุบัน เราได้ยินคำว่า ‘Women’s Empowerment’ จนเป็นคำพูดปกติ ถ้าวันนี้ ปุ้ย ปิยาภรณ์ สามารถ Empower ผู้หญิงได้ 1 เรื่อง เรื่องแรกที่นึกถึงจะเป็นเรื่องอะไร?

‘อิสรภาพทางการเงิน’

คำตอบหนักแน่นชัดเจนจากแม่ปุ้ย ปิยาภรณ์ สะท้อนให้เห็นว่า อิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial freedom เป็นหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากกับผู้หญิงทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงสมัยนี้เท่านั้น ให้ลองนึกภาพตามง่ายๆ หากผู้หญิงหาเงินเองได้โดยไม่ต้องแบมือขอใคร หรือพึ่งพาผู้อื่น ก็สามารถสร้างความมั่นใจจากภายในตัวเองได้มากขึ้น

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยทั้งอดีตและปัจจุบัน เลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจาก ‘คนทำงาน’ มาเป็น ‘แม่บ้าน’ หลังตัดสินใจมีชีวิตคู่และสร้างครอบครัว เมื่อผู้ชายกลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงคนในบ้าน ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้หญิงหลายคนต้องตกอยู่ในสถานะเป็น ‘เบี้ยล่าง’ ไปโดยปริยาย

การมีอิสรภาพทางการเงินด้วยตัวเอง ไม่ได้จะมีประโยชน์เพียงในด้านการใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการ ‘มีสถานะ’ ได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ใต้ร่มชายคาผู้ชาย ไม่ต้องเป็น ‘เหยื่อ’ ของการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ เพียงเพราะพวกเธอไม่มีรายได้ประจำจากการทำงานเลี้ยงชีพนอกบ้าน

สุดท้าย ปุ้ย ปิยาภรณ์ อยากฝากอะไรถึงผู้หญิง 110 ท่าน ที่กำลังจะเป็น ‘สตรีไทยกลุ่มแรก’ ที่ได้รับ HER AWARDS 2024

“ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับทั้ง 110 ท่านที่ได้รางวัลอันทรงเกียรติ อย่าง HER AWARDS 2024 ที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

“อยากบอกกับพวกคุณทุกท่านเหลือเกินว่า คุณคือผู้หญิงที่ ‘โคตรเจ๋ง’ เลย วันนี้ โลกใบนี้…เขาเห็นคุณแล้ว

คุณ คือ สตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจ
คุณ คือ นักสู้ ผู้ฟันฝ่า
คุณ คือ ประชากรหญิงที่เยี่ยมยอดจริงๆ 

“ขอให้เก็บความภาคภูมิใจครั้งนี้ไว้ในหัวใจและความทรงจำอันมีค่าของตัวเองให้ดีๆ เมื่อไหร่ที่คุณท้อแท้หรือสิ้นหวังกับชีวิต จงมองไปที่รางวัลนี้ แล้วคุณจะรู้ว่า…นี่แหละคือพลังที่คุณมีอยู่ และพลังนี้ก็พร้อมที่จะส่งต่อไปให้กับผู้หญิงได้ทั่วทั้งโลกเช่นกัน เมื่อมองมาที่รางวัลนี้เมื่อไหร่อยากให้คุณภูมิใจในสิ่งที่คุณเป็น 

“และสุดท้าย…ขอคารวะอย่างจริงใจให้กับความสุดยอดของผู้หญิงทุกๆ คน ที่ทำให้โลกเป็นโลกที่น่าอยู่อย่างทุกๆ วันนี้”