4 Min

‘ห้องนอนส่วนตัว’ คือ ‘พื้นที่ส่วนบุคคล’ เรียนรู้วิถีประชาธิปไตยกันได้ตั้งแต่ที่บ้าน

4 Min
1251 Views
03 Dec 2021

กรณีของ ‘นักดนตรีชื่อดัง’ คนหนึ่งที่แสดงพฤติกรรม ‘ใกล้ชิด’ กับลูกสาวมากจนเกินเลยทำให้สังคมไทยพูดคุยกันในหลายประเด็น

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักดนตรีคนดังกล่าวนักพยายามอธิบายว่าตัวเองโตมาใน ‘สลัม’ ที่ทุกคนในครอบครัวนอนรวมกันห้องเดียว และทุกวันนี้แม้ว่าลูกสาวของ ‘นักดนตรีชื่อดัง’ เริ่มโตแล้ว ก็ยังนอนร่วมห้องกับพ่อแม่อยู่ และตัว เขาเองก็ยืนยันว่าถึงลูกสาวจะโตเป็นสาวอายุ 17-18 ปีแล้วก็ยังจะไม่ให้แยกห้องนอน

แน่นอนประเด็นเรื่องความใกล้ชิดจน ‘เกินเลย’ ของตัวนักดนตรีกับลูกก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่พ่วงขึ้นมาก็คือ คำถามเรื่องการแยกห้องนอน และนี่อาจเป็นประเด็นที่กลับมาอธิบายได้ว่าทำไมสังคมไทยเป็นแบบนี้

จำได้ไหมครับว่าตัวเองมีห้องนอนส่วนตัวกันเมื่อไร? สำหรับคนเจนวาย (Gen Y) ที่โตมาในเมือง ส่วนใหญ่น่าจะมี ‘ห้องนอนส่วนตัว’ กันมาตั้งแต่จำความได้ แต่ลองไปถามคนเจนเอ็กซ์ (Gen X) สิครับ เราจะรู้เลยว่าคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีห้องนอนส่วนตัวกัน หรือถ้าเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เราก็จะพบเลยว่าแทบไม่มีใครมีห้องนอนส่วนตัวทั้งนั้น เพราะคนรุ่นโน้น เผลอๆ จะทัน ‘บ้านไทยสมัยก่อน’ ที่บ้านหนึ่งจะมีลูกเยอะๆ และจะนอนรวมกันหมดในห้องเดียว และนี่อาจไม่เกี่ยวกับชนชั้น เพราะสมัยก่อนโน้น ไม่มีความคิดว่าจะต้องมีการแยกห้องนอน
.
ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ ครอบครัว 70-80 เปอร์เซ็นต์ ในอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และศรีลังกา ก็ไม่มี ‘ห้องนอนส่วนตัว’ให้ลูก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของฐานะที่ยากจน แต่อีกส่วนก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เพราะเอาจริงๆ ในทางเทคนิคมันไม่ได้ยากที่ ‘ชนชั้นกลาง’ ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะสร้างบ้านให้มีห้องนอนสำหรับลูก แต่หลายๆ ครอบครัวก็ไม่ทำกัน

แต่ ‘ชาติตะวันตก’ ไม่ใช่แบบนั้นเพราะชาติเหล่านี้เรียกได้ว่ามี ‘ห้องนอนส่วนตัวของลูก’ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านมาตรฐานมานานมากแล้ว

ซึ่งถามว่านานแค่ไหน ก็เอาเป็นว่าในอเมริกาต้นศตวรรษที่ 20 ห้องนอนส่วนตัวของลูกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านอเมริกันแล้ว และจริงๆ นี่ก็ถือว่าเป็นมาตรฐานชีวิตแบบตะวันตกเลย โดยประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศตะวันออกที่เลียนแบบตะวันตกสุดๆ ในยุคนั้น ช่วง 1920s บ้านประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็มี ‘ห้องนอนส่วนตัว’ ให้ลูกแล้ว โดยจำนวนนี้เพิ่มมาเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 1980s และแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมแบบนี้เกิดจากอะไร คำอธิบายก็คงจะเป็นแบบเดิมๆ ว่า ดั้งเดิม ‘อภิชน’ หรือ ‘ชนชั้นสูง’ เท่านั้นจะแยกห้องนอนของลูก และพอมาในศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกลางเริ่มรวยขึ้นและมีพฤติกรรมเลียนแบบชนชั้นสูงเหล่านี้ และการเพิ่ม ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ให้กับลูกโดยการสร้างห้องนอนแยกให้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งภายใต้พัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างบ้าคลั่งในโลกตะวันตกศตวรรษที่ 19 ตอนต้นศตวรรษที่ 20 มันก็เลยเป็นมาตรฐานไปแล้วที่บ้านจะต้องมี ‘ห้องนอนส่วนตัว’ ให้ลูก

ประเด็น ณ ที่นี้คือ แล้วไง? มีห้องนอนส่วนตัวแล้วไง?

จริงๆ คนตะวันตกที่เกิดมาก็มีห้องนอนส่วนตัวแล้วคงไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนเจนเอ็กซ์หรือเจนวายบางส่วนบ้านเราที่โตมาทันยุคเปลี่ยนผ่านก็คงจะรู้สึกว่า พอมีห้องนอนส่วนตัว ชีวิตมันเปลี่ยน คือมันมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีกิจกรรมที่เป็นเอกเทศมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด มันมีสำนึกถึงตัวตนของตัวเองและหวงแหนเสรีภาพมากขึ้น

ประเด็นทำนองนี้ถูกศึกษาพอสมควรเลย NY Times เคยมีบทความที่ศึกษาประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศที่เปลี่ยนเข้าสู่วิถีตะวันตกมากที่สุดประเทศหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คือมันเห็นเลยว่าคนรุ่นที่โตมาแบบมีห้องนอนส่วนตัวมันมีสำนึกความเป็นปัจเจก สำนึกเรื่องเสรีภาพและเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ แค่มีห้องนอนส่วนตัวมันจะทำให้เด็กที่โตมาคิดเหมือนฝรั่งมากขึ้นอย่างชัดเจน และสำนึกเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย

ทีนี้ หลายคน โดยเฉพาะคนที่มีลูก ก็อาจสงสัยว่า แล้วแบบนี้ เราควรจะแยกห้องส่วนตัวลูกตั้งแต่เมื่อไร? ในกรณีของ ‘ฝรั่ง’ ทั้งหลาย หลายคนน่าจะช็อกว่าเขาให้ลูกนอนแยกห้องส่วนตัวตั้งแต่ไม่กี่เดือน เรียกได้ว่าใครแยกตอนลูก 1 ขวบนี่ช้าแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าลูกควรจะนอนคนเดียวได้ และต้องพร้อมจะตื่นมากลางดึกโดยไม่มีใคร อะไรแบบนี้จะทำให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้เร็ว

ซึ่งในทางคอนเซปต์ ปกติเขาจะแยกห้องนอนลูกกับห้องนอนพ่อแม่ออกจากกัน แต่ห้องนอนลูกไม่จำเป็นต้องนอนคนเดียว แต่มีลูกกี่คนก็จะให้นอนรวมกัน ดังที่เราอาจเคยเห็นเตียงสองชั้นของพี่น้องในพวก ‘หนังฝรั่ง’ ทั้งหลาย แต่มาตรฐานก็คือถ้าลูกเป็นวัยรุ่น ก็จะต้องมีห้องนอนเพิ่มให้ และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวฝรั่งทั่วๆ ไปในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามักจะมีลูกไม่เกิน 2 คน

ตัดภาพกลับมาบ้านเรา เราก็คงจะเห็นว่าคนยังเถียงกันอยู่เลยว่าลูกที่โตไปในวัยเจริญพันธุ์แล้วควรจะมี ‘ห้องส่วนตัว’ หรือไม่ หรืออย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย แม้แต่พ่อแม่ที่หัวก้าวหน้าทั้งหลายจำนวนไม่น้อย ก็ยังคงทำใจลำบากที่จะให้ลูกไปนอนห้องแยกตั้งแต่ยังไม่ครบ 1 ขวบดี ทั้งที่นี่เป็นเรื่องปกติมากๆ ในครอบครัวฝรั่ง

ทั้งหมดนี้เราอาจรู้สึกว่า ‘ฝรั่ง’ มันเวอร์ แยกห้องลูกเร็วเกินไป แต่อีกด้าน มันหมายความว่าคนของเขาได้เรียนรู้ความเป็นส่วนตัวตั้งแต่ยังไม่หย่านม ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เขาเรียนรู้ว่าห้องนี้คือพื้นที่ส่วนบุคคลของเขาที่แม้แต่พ่อแม่ก็จะมาละเมิดไม่ได้

และนี่คือเหตุผลที่ ‘ฝรั่ง’ ไม่ว่าจะมีจุดยืนแบบขวาหรือซ้าย พื้นฐานที่เขายอมรับร่วมกันคือ ‘สิทธิส่วนบุคคล’ มันมีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคารพแบบไม่ต้องมาเถียงกัน

อ้างอิง: