โควิด-19 ระบาดหนักในเรือนจำ เปิดปมปัญหาไทยคุกล้นที่เรื้อรังมานาน
ปัจจุบันมีนักโทษทั่วประเทศ 310,830 คน แต่เรือนจำสร้างมารองรับคนได้ไม่เกิน 200,000 คนเท่านั้น แถมปัญหาคุกล้นมีความเกี่ยวข้องกับการลดโทษผู้ต้องขังเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ว่างสำหรับนักโทษใหม่
คุณคิดว่าเรื่องนี้ควรแก้ปัญหาที่ตรงไหนดี?
หลังจากที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำอย่าง ‘มโหฬาร’ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดการเรื่องสุขอนามัย และความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัญหาคุกล้นเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองไทยมานานหลายปี โดยประเทศไทยมีนักโทษ ‘มาก’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยที่เรามีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของอาเซียน

| benarnews
แต่จำนวนมากหรือน้อยอาจไม่ใช่ปัญหามากเท่ากับ พื้นที่มีเพียงพอสำหรับรองรับคนจำนวนมากขนาดนั้นหรือไม่?
จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่งทั่วประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนได้ไม่เกิน 200,000 คนเท่านั้น ในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังในปัจจุบันจากข้อมูลสถิติจากกรมราชทัณฑ์ล่าสุด (2 พ.ค. 64) ระบุว่ามีนักโทษรวมทั่วประเทศ 310,830 คน
แบ่งเป็นชาย 273,465 คน และหญิง 37,365 คน ซึ่งในนี้รวมทั้งนักโทษที่ตัดสินคดีแล้ว 249,639 อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต่างๆ 59,995 คน และอื่นๆ 1,196 คน
เมื่อเทียบจำนวนตัวเลขแล้วจะพบว่าเรามีผู้ต้องขังเกินกว่าจำนวนที่รองรับได้มากกว่าแสนราย

| thethaiger
ปัญหาคนล้นคุกไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสุขอนามัยเท่านั้นแต่อย่างที่เราเห็น กันมาโดยตลอดว่าผู้ต้องขังจำนวนมากในประเทศไทยมักได้รับการลดหย่อนโทษออกจากเรือนจำก่อนเวลาที่ศาลตัดสิน ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการระบายนักโทษเดิมๆ เพื่อหาที่ว่างให้กับนักโทษในคดีใหม่ๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในเรือนจำเป็นผู้ต้องขังจากคดียาเสพติด ซึ่งมีมากถึง 252,749 คน หรือคิดเป็น 81.31% คนผู้ต้องขังทั้งหมด กล่าวคือเฉพาะจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดก็มีมากกว่าจำนวนคนที่เรือนจำสามารถรองรับได้แล้ว
ซึ่งสัดส่วนผู้ต้องขังจากยาเสพติดมากของประเทศไทยไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในยุโรปไม่ได้มีโทษหนักหรือจำคุกในคดียาเสพติดทั้งหมดเหมือนกับประเทศไทย โดยจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ พวกผู้ผลิต ผู้นำเข้า ส่งออก ผู้ค้ารายใหญ่ เป็นอาชญากรที่ต้องทุ่มเทกำลังปราบปรามเอาจริงเอาจัง กับอีกกรณีคือผู้เสพ ที่มีโทษแตกต่างกัน
โดยประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมองว่าผู้เสพยาเป็นปัญหาสังคมมากกว่าอาชญากรรม ดังนั้นต้องแก้ไขปัญหาด้วยการฟื้นฟู มากกว่ารับโทษที่ทำให้เกิดปัญหาตกงานและกระทบทรัพยากรมนุษย์ด้วย โดยจะมีการบำบัด ในคลินิกเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคม
ดังนั้นก่อนหน้านี้ในประเทศไทยเองเคยมีการเสนอให้พิจารณาโทษผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้เป็นการจ่ายค่าปรับในราคาสูงแทนการจำคุก ในคดีที่มียาเสพติดครอบครองในจำนวนไม่มาก ยกเว้นผู้ค้ารายใหญ่หรือผู้ผลิตที่ควรได้รับโทษหนัก
การทำแบบนี้อาจเป็นแนวทางในการลดจำนวนนักโทษในเรือนจำให้เพียงพอ และลดปัญหาการลดหย่อนโทษผู้ต้องขังคดีรุนแรง เช่น คดีฆาตกรรม คดีข่มขืน หรือใช้ความรุนแรง ที่อาจถูกลดหย่อนโทษเพื่อให้มีพื้นที่รับนักโทษใหม่เข้ามา และควรใช้เกณฑ์การประเมินนักโทษคดีรุนแรงต่างกับนักโทษทั่วๆ ไป แต่ก็มีการโต้แย้งและต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมอย่างถี่ถ้วน
ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่เรื่องสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีก็เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ การระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำทำให้เราเห็นความแออัดของคุกไทยได้ชัดเจนมากขึ้น สำหรับคุณคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกได้ยังไงบ้าง? มาแชร์กัน
อ้างอิง:
- กรมราชทัณฑ์. รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564. https://bit.ly/3hzwyjM
- กรมราชทัณฑ์. รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564. https://bit.ly/2SWqTtZ
- js100 . อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับ’คนล้นคุก’! เผยคดียาเสพติด 3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ต้องขังทั้งหมด. https://bit.ly/3uSg5Lm
- Workpoint Today. เปิดปัญหา คุกไทยแออัด มีนักโทษเกินความจุกว่าแสนคน> https://bit.ly/3tT8Y4f
- mgronline. อดีตอธิบดีอัยการฯ เผยสัดส่วนผู้ต้องขังคุกไทยมีคดียาเสพติดมากกว่า 80% ยันปัญหาแบบเก่าไม่ได้ผลอย่าดันทุรัง. https://bit.ly/3fDbkiD