Select Paragraph To Read
- ชีวิตเชื้อพระวงศ์ มาพร้อมกับภาระหน้าที่แห่งชาติ
- ซื่อตรงต่อตัวเอง - และมุ่งมั่นในทางที่เลือก
หลังจากที่อดีตเจ้าหญิง ‘มาโกะ’ แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ลาออกจากฐานันดรศักดิ์และเดินทางไปนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับ ‘เค โคมุโระ’ สามีสามัญชน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อในสหรัฐฯ ก็ตามติดชีวิตใหม่ของทั้งคู่ทันที
สื่ออเมริกันหัวสีที่เน้นข่าวซอกแซกหวือหวาอย่าง ‘เดอะนิวยอร์กโพสต์’ (The New York Post) ไปส่องดูชีวิตความเป็นอยู่ของเคและมาโกะ พร้อมรายงานว่าที่พักของทั้งคู่เป็นแบบ ‘หนึ่งห้องนอน’ ก็จริง แต่ก็ไม่ถือว่าธรรมดา เพราะห้องของ ‘ครอบครัวโคมุโระ’ อยู่ในอาคารสูงที่ตั้งอยู่ในย่านเฮลส์คิตเชน ซึ่งโฆษณาว่าเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่มีชีวิตหรูหรามีระดับ (Luxury Living)
เดอะนิวยอร์กโพสต์รายงานว่าอาคารดังกล่าวมีทั้งหมด 372 ยูนิต เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2017 จึงยังใหม่อยู่มาก และอยู่ไม่ไกลจากเซ็นทรัลพาร์ก สวนสาธารณะขนาดใหญ่ซึ่งถูกยกให้เป็น ‘ปอดของมหานครนิวยอร์ก’ ค่าเช่าต่อเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 4,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 141,000 บาท) มีพื้นที่ส่วนกลางรวมถึงเลานจ์บนดาดฟ้า, สปา, ฟิตเนส และห้องสมุด โดยห้องแต่ละโซนจะเห็นวิวเมืองที่แตกต่างกันไป บางห้องอาจเห็นวิวแม่น้ำฮัดสัน
อย่างไรก็ตาม สื่อกระแสหลักทั้งบีบีซี (BBC) และเอ็นเอชเค (NHK) รายงานไปถึงประเด็นว่า ‘มาโกะ โคมุโระ’ อาจจะยื่นเรื่องขอวีซ่าทำงาน เพื่อเตรียมลู่ทางประกอบอาชีพในสหรัฐฯ ขณะที่สามีของเธออาจจะต้องเตรียมตัวสอบเนติบัณฑิตรอบใหม่ หลังจากการประกาศผลเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนระบุว่าเขาสอบไม่ผ่าน ซึ่งกำหนดการสอบครั้งต่อไปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และก่อนหน้านั้นเขาอาจต้องหยุดงานเพื่อเตรียมตัวสอบ
ชีวิตเชื้อพระวงศ์ มาพร้อมกับภาระหน้าที่แห่งชาติ
ด้านเดอะนิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) รายงานว่าสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นที่เป็นสตรี ต้องแบกรับความคาดหวังที่หนักหน่วงมากกว่าที่ใครจะคาดคิด ทั้งยังต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดและไม่มีโอกาสให้แสดงความคิดเห็นใดๆ มากนัก การที่อดีตเจ้าหญิงมาโกะเลือกมีชีวิตใหม่ด้วยการย้ายไปอยู่กับสามีในต่างแดนจึงอาจเป็นอิสระมากกว่าการต้องอยู่ในกรอบประเพณีของราชวงศ์ที่เก่าแก่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
เดอะนิวยอร์กไทม์สยกตัวอย่าง ‘สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ’ พระอัครมเหสีของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบัน ทรงเคยเผชิญกับแรงกดดันจากสังคมญี่ปุ่นหลายด้าน รวมถึงการไม่มีพระโอรสสายตรง ทั้งยังทรงแท้งในการตั้งพระครรภ์ครั้งแรก ซึ่งมีผลให้พระองค์ทรงมีอาการโรคซึมเศร้า
แม้ว่าต่อมาจะทรงมีพระประสูติกาลแก่ ‘เจ้าหญิงไอโกะ’ แต่คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งกลับมองว่าเป็นเรื่อง ‘น่าเสียดาย’ เพราะสังคมญี่ปุ่นไม่สนับสนุนให้เปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้เจ้าหญิงสามารถสืบสันตติวงศ์ได้ ทำให้ตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 1 ตกไปเป็นของ ‘เจ้าชายฟุมิฮิโตะ’ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแทน
สื่อรายนี้ระบุด้วยว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะในสมัยที่ยังทรงเป็นสามัญชน เคยมีภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ มีโอกาสเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเตรียมตัวจะเป็นนักการทูตหญิง แต่เมื่อเสกสมรสกับเจ้าชายนารุฮิโตะ ซึ่งก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ปัจจุบัน กลับทรงเงียบเชียบและแทบจะไม่เสด็จไปไหนเลยนอกเหนือจากไปร่วมงานพิธีการ
ซื่อตรงต่อตัวเอง - และมุ่งมั่นในทางที่เลือก
ส่วนกรณีของอดีตเจ้าหญิงมาโกะเองก็เจอกับเรื่องราวหนักหน่วงมาก่อนเช่นกัน เพราะตั้งแต่ประกาศในปี 2017 ว่าจะหมั้นกับเค โคมุโระ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากมีสื่อขุดคุ้ยว่าแม่ของเคยืมเงินอดีตคู่หมั้นแล้วไม่คืน โดยเงินจำนวนดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ส่งเสียให้เคเรียนต่อด้านกฎหมายในสหรัฐฯ ด้วย ทำให้การแต่งงานของเคและมาโกะถูกเลื่อนมาอีกหลายปี
จนกระทั่งทั้งคู่ได้ฤกษ์จดทะเบียนสมรสในพิธีเล็กๆ เรียบง่ายเป็นส่วนตัวปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เคชี้แจงว่าคู่กรณีของแม่เขาได้ทำสัญญาไม่ติดใจเอาความแล้ว สื่อหลายสำนักจึงรายงานว่าอดีตเจ้าหญิงสมหวังในที่สุด
แต่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวเรื่องมาโกะเป็นโรคเครียดหลังเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) เนื่องจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อดีตเจ้าหญิงประกาศไม่รับเงินบำเหน็จราว 139 ล้านเยน หรือประมาณ 40 ล้านบาท ที่ตามปกติต้องได้ตามกฎมณเฑียรบาล และติดตามสามีไปต่างแดน ไม่ขออยู่ญี่ปุ่นต่อ
ส่วน ‘เดอะเจแปนไทม์ส’ (The Japan Times) เคยรายงานว่ามาโกะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และเคยทำงานเป็นนักวิจัยให้กับพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยโตเกียวหลายปี นับตั้งแต่จบปริญญาโทสาขาพิพิธภัณฑ์ศิลปะและแกลเลอรีจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในอังกฤษเมื่อปี 2016 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความถนัดที่ชัดเจน
นอกจากนี้ เดอะเจแปนไทม์สยังระบุอีกว่า ‘มา’ ในชื่อของมาโกะ มาจากตัวอักษรคันจิที่หมายถึง ความจริงแท้ หรือความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเจ้าชายฟุมิฮิโตะและเจ้าหญิงคิโกะ พระบิดาและพระมารดาของอดีตเจ้าหญิง ทรงตั้งพระนามนี้เพื่ออวยพรให้พระธิดา ‘ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง’
จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาโกะจะมีหนทางชีวิตแตกต่างจากสมาชิกราชวงศ์สตรีคนอื่นๆ ของญี่ปุ่น และทำให้มาโกะและสามีถูกขนานนามว่าเป็น ‘แฮร์รีและเมแกนแห่งญี่ปุ่น’ โดยอ้างอิงถึงอดีตเจ้าชายอังกฤษและพระชายาที่สละฐานันดรศักดิ์ไปก่อนหน้านี้
อ้างอิง:
- The New York Post. Princess Mako, new husband move into one-bedroom in Hell’s Kitchen. https://bit.ly/3FoTL0C
- BBC. Japan’s former princess Mako arrives in New York after giving up title. https://bbc.in/3DgjJCY
- Japan Times. Princess Mako known for independence and in-depth knowledge of art. https://bit.ly/3kxHore
- The New York Times. Heavy Is the Burden on Japan’s Royal Women. https://nyti.ms/3kC0fl1