งานยากรออยู่! กษัตริย์ ‘ชาร์ลส์ที่ 3’ & ราชินี ‘คามิลลา’ ทรงมีคะแนนนิยมตามหลังเชื้อพระวงศ์รุ่นลูก
นับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถ ‘ควีน’ เอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 รัฐบาลอังกฤษก็แถลงยืนยันว่า มกุฎราชกุมาร ‘ชาร์ลส์’ ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อจากพระมารดาในฐานะ ‘สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3’ โดยทันที
อย่างไรก็ดี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไปแล้ว
ขณะที่บรรยากาศทั่วไปในสหราชอาณาจักรมีการลดธงชาติเพื่อไว้อาลัยตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน และมีคนทยอยเดินทางมาวางช่อดอกไม้ไว้อาลัยที่หน้าพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน และปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นที่ที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ส่วนผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ส่งสาสน์แสดงความเสียใจมายังสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ทรงใกล้ชิดกับควีนผู้ล่วงลับ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่าประชาชนอังกฤษจำนวนมากเติบโตมาในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี ทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันกับพระองค์ และคนอังกฤษหลายรายให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองรู้สึกเคว้งคว้างและเศร้าใจอย่างหนัก เพราะราชวงศ์อังกฤษสูญเสียเสาหลักไปแล้ว
แม้แต่กลุ่มรีพับลิกันที่ตามปกติแล้วเป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการเรียกร้องให้อังกฤษเปลี่ยนจากประเทศที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นสาธารณรัฐ ก็ยังประกาศ ‘หยุดเคลื่อนไหวชั่วคราว’ เพื่อให้เกียรติแก่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และครอบครัวของพระองค์ แต่ก็มีสื่อต่างประเทศที่ประเมินว่าหลังจากนี้ไม่นาน ข้อเรียกร้องให้ ‘ยกเลิกสถาบันกษัตริย์’ จะถูกนำมาถกเถียงกันอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ในอังกฤษ แต่รวมถึง ‘ต่างแดน’ ด้วย
สิ้น ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ ประเทศเครือจักรภพก็อาจ ‘สิ้นเยื่อใย’
สื่อเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Time รายงานว่า ผู้คนในบางประเทศเริ่มออกมาเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลของตัวเองพิจารณา ‘ถอนตัว’ จากการเป็นสมาชิก ‘ประเทศเครือจักรภพอังกฤษ’ ที่เป็นพันธะผูกพันตั้งแต่ยุคอาณานิคมเมื่อครั้งอดีต ซึ่งประเทศพวกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในแถบแคริบเบียน และอีกประเทศหนึ่งที่มีกลุ่มคนออกตัวค่อนข้างแรงก็คือออสเตรเลีย
กลุ่มรอยัลลิสต์ในออสเตรเลียแย้งว่า การลงประชามติเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วช่วงปลายทศวรรษ 1990 และเสียงข้างมากก็เลือกที่จะอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษต่อไป ซึ่งเหมือนตอกย้ำกลายๆ ว่าไม่ควรต้องพูดเรื่องนี้กันใหม่ แต่กลุ่มรีพับลิกันยกเหตุผลมายืนยันว่า ตอนนี้อังกฤษมีกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว แต่เป็นกษัตริย์ผู้ทรงมีประวัติอื้อฉาวในอดีต แถมพวกเขายังมองว่ากฎการสืบทอดตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์โดยยึดโยงกับ ‘สายเลือด’ ของเหล่าสมาชิกราชวงศ์เป็นเรื่อง ‘ล้าหลัง’ ที่สมควรยกเลิกเช่นกัน
ร่องรอยความเคลื่อนไหวเหล่านี้บ่งชี้ว่า ‘คิง’ ชาร์ลส์ที่ 3 อาจต้องทรงเหน็ดเหนื่อยอีกมากกว่าที่พระองค์จะเป็นที่ยอมรับในฐานะประมุขพระองค์ใหม่ ทั้งในประเทศและในเครือจักรภพอังกฤษ ยิ่งถ้าดูผลสำรวจความเห็นของคนอังกฤษที่เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2022 พบว่า มีคนรุ่นใหม่ในอังกฤษ อายุระหว่าง 18-24 ปี ตอบว่า ‘สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งจำเป็น’ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ คะแนนนิยมของคิงชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเมื่อหลายเดือนก่อนทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ถูกทิ้งห่างจากเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ โดยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีคะแนนนิยมสูงสุด อันดับต่อมาคือดัชเชสเคท และเจ้าชายวิลเลียม พระสุณิสา และพระโอรสของพระองค์เอง ตามด้วยเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดาผู้ทรงล่วงลับไปแล้วนานนับปี จากนั้นจึงเป็นเจ้าหญิงแอนน์ พระขนิษฐา และ ซารา ฟิลิป พระนัดดา
เรื่องอื้อฉาวในครอบครัวยังเป็นเงาตามติดกษัตริย์พระองค์ใหม่
สาเหตุหลักที่ทำให้คิงชาร์ลส์ที่ 3 ไม่ค่อยเป็นที่รักในหมู่ประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะผู้คนยังมีภาพจำในความลังเล–ไม่เด็ดขาดของพระองค์ในอดีต ซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตพระชายา ‘ไดอานา’ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เนื่องจากคิงชาร์ลส์ถูกเปิดโปงเรื่องมีสัมพันธ์ในแบบชู้สาวกับ คามิลลา พาร์คเกอร์ โบลว์ส อดีตภริยานายทหารที่พระองค์รู้จักและสนิทสนมตั้งแต่ก่อนจะเสกสมรสกับไดอานา และยังคงสานต่อความสัมพันธ์หลังจากเสกสมรสไปแล้ว ซึ่งชาวคริสต์ที่เคร่งครัดในอังกฤษก็มองว่า การ ‘คบชู้’ เป็นเรื่องผิดศีลธรรม ยิ่งคนที่เป็นเชื้อพระวงศ์ทำแบบนี้ด้วยแล้วจะนับเป็น ‘แบบอย่างที่ดี’ ของประชาชนได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังเคยมีสื่อรายงานว่า เจ้าชายชาร์ลส์ในอดีตมักจะแสดงท่าทีไม่พอใจพระชายาไดอานาเวลาที่ต้องออกงานพิธีการร่วมกัน เพราะพระชายาในขณะนั้นได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนมากกว่าพระองค์เอง จึงมีนักวิเคราะห์ประเมินว่าเจ้าชายชาร์ลส์อาจรู้สึกว่าพระองค์ ‘เป็นรอง’ อดีตพระชายา ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ ‘ไปกันไม่รอด’
เมื่อทรงหย่าร้างกับอดีตพระชายา และเข้าพิธีเสกสมรสใหม่กับดัชเชส ‘คามิลลา’ แห่งคอร์นวอลล์ ซึ่งขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระราชินีคามิลลา’ ณ ปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้คนอังกฤษจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจกว่าเดิม เพราะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่คนที่พวกเขามองว่า ‘มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม’ กลายเป็นคนที่ได้รับตำแหน่งสำคัญซึ่งเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของประเทศ แม้แต่กลุ่มรอยัลลิสต์ที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์จำนวนไม่น้อยก็เคยตั้งคำถามว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรง ‘หลีกทาง’ ให้เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตขึ้นเป็นกษัตริย์แทนได้หรือไม่
ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคือ ‘ไม่ได้’ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา การสืบทอดสันตติวงศ์ก็ต้องเป็นไปตามลำดับอาวุโสและสายเลือดของทายาทพระองค์โตเป็นหลัก ต่อให้เจ้าชายวิลเลียมและดัชเชสเคทจะได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนมากกว่าก็ถือว่า ‘ไม่สมควร’
ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอังกฤษจึงประเมินว่า คิงชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายเรื่อง และต้องพิสูจน์พระองค์ให้ได้ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งประมุขของประเทศและเครือจักรภพอังกฤษอย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นแล้วก็อาจต้องเจอกับเสียงเรียกร้องให้ ‘ยกเลิกสถาบันกษัตริย์’ ที่ก่อตัวรอตั้งแต่ยังไม่เริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกันเลย และก็ต้องวัดใจว่ารอยัลลิสต์ในอังกฤษจะยังคงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ต่อไปเหมือนเดิมหรือไม่
อ้างอิง
- Australia Reader’s Digest. 11 reasons why some Brits don’t want Prince Charles to be king. https://bit.ly/3BCs7i1
- Time. What King Charles III’s Past Controversies Could Tell Us About How He’ll Reign. https://bit.ly/3QzuVAq
- Hindustan Times. Charles’ succession stirs Caribbean calls for reparations, removal of monarch as head of state. https://bit.ly/3RuLTBi
- Reuters. From ‘Rottweiler’ to Queen Consort, Camilla’s rise from shadow of Diana. https://reut.rs/3d3Erya
- YouGov. Prince Charles: Public Figure. https://bit.ly/3TZpAFo