PMDD เครียดจัด ซึมเศร้า อยากตาย ภาวะอารมณ์สลายอย่างรุนแรงก่อนมีประจำเดือน
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจ อาการเหล่านี้เริ่มมีการถูกพูดถึงและศึกษากับอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 20 นี่แหละ และที่เริ่มมีการศึกษาจริงจังก็เพราะ สภาวะช่วงก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิง มันเริ่มส่งผลกระทบในเรื่องต่างๆ การทำงาน การเจ็บป่วย ความสัมพันธ์และบางครั้งอาจรวมถึงพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดในเชิงลบ เพราะฉะนั้นศึกษามันไว้ เข้าใจมันไว้น่าจะสบายใจกว่า
เชื่อว่าสุภาพสตรีเกือบทุกท่านน่าจะรู้จักกับอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) หรือความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายก่อนมีประจำเดือนกันอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งอาการที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงบ่อยนักก็คือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder)
ก่อนจะไปพูดถึง PMDD เราแวะมาทบทวนข้อมูลของ PMS คร่าวๆ กันก่อน คำจำกัดความของ PMS ก็จะประมาณว่าอาการผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรมก่อนช่วงมีประจำเดือน อาการตัวอย่างก็จะเป็นพวก กินเยอะ ปวดท้อง อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย หลงลืม ไม่มีสมาธิ ส่วนอาการหนักเบาหรืออาการที่พบ ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และก็น่าจะพอคุ้นๆ อาการเหล่านี้กันอยู่แล้ว
แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ PMDD เจ้าอาการนี้ ถ้าจะอธิบายแบบหยาบๆ ก็เหมือนขั้นกว่าของ PMS เป็น PMS ที่ทวีคูณความรุนแรงมากกว่า PMDD จะส่งผลกระทบในแง่ของการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด (สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีข้อมูลระบุว่าเจ้า PMDD สามารถติดต่อทางพันธุกรรมจากคุณแม่สู่ลูกสาวได้อีกด้วย)
อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการทางร่างกาย แต่ PMDD จะยิ่งทำให้ปัญหาทางจิตเวชนั้นรุนแรงขึ้น อาจจะสภาวะซึมเศร้า สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิต ร้องไห้บ่อย วิตกกังวลอย่างรุนแรง อารมณ์หวั่นไหวและแปรปวนง่ายมาก เครียดจัด และอาจจะโมโหร้าย อารมณ์รุนแรง
แต่คุณผู้หญิงก็ไม่ต้องวังวลกันไป เพราะอาการ PMDD เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างน้อย โดยมีตัวเลขอยู่เพียง 2-10 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงที่มีประจำเดือนเท่านั้น ส่วนสาเหตุของ PMDD อาจจะมาจากเรื่องของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างช่วงรอบเดือน ความเครียด เหตุการณ์ร้ายแรงและประสบการณ์ในชีวิต และความเครียดอาการวิตกกังวลต่างๆ อีกด้วย
ใครที่รู้สึกถึงอาการและอารมณ์แปลกๆ ก่อนมีประจำเดือน ก็อย่าไปตีความว่าตัวเองเป็น PMDD นะ เพราะการระบุที่ชัดเจนจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่จะนิ่งนอนใจว่ามันหายไปตามกาลเวลา เพราะถ้ามันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจริงๆ การไปพบแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร การรักษามีหลากหลายแบบ การทานยา การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ รวมถึงการบำบัดทางจิต ตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นควร
เอาเป็นว่าคุณผู้ชายก็รู้ข้อมูลเหล่านี้ไว้ เผื่อจะได้เข้าใจและดูแลคุณผู้หญิง และคุณผู้หญิงก็รู้ข้อมูลเหล่านี้ไว้เผื่อรู้จักและดูแลตัวเองด้วย!
อ้างอิง