5 Min

“ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง” ประติมากรรมจากซากปรักหักพังในเหตุระเบิดใหญ่เลบานอน ที่กินใจประชาชนทั้งประเทศ

5 Min
251 Views
04 Feb 2021

ในปี 2020 ถ้าจำกันได้ ช่วงกลางปีเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในประเทศเลบานอน เหตุการณ์นั้นน่ากลัวมากและดังไปทั่วโลก

ซึ่งหลังเหตุระเบิดไม่นาน ฮายัต นาเซอร์ ศิลปินหญิงคนหนึ่งก็เอาเศษซากปรักหักพังมาสร้างเป็น ‘รูปปั้นผู้หญิงถือคบไฟ’ ซึ่งทรงพลังและกินใจคนเลบานอนมาก เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการ “ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง”

ฮายัต นาเซอร์ และ รูปปั้นจากซากเหตุระเบิดที่เลบานอนของเธอ | MyModernMet

แต่ถ้าจะให้เข้าใจว่ารูปปั้นนี้ ‘กินใจ’ ยังไง ต้องย้อนทำความเข้าใจอดีตหน่อย

เลบานอนเป็นประเทศประชาธิปไตยมายาวนานแล้ว อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยของเลบานอนก็มีเอกลักษณ์มากๆ เพราะระบบการเลือกผู้แทนประเทศนี้จะมีโควตาของผู้แทนตามผู้นับถือศาสนานิกายต่างๆ กล่าวอีกแบบคือในเขตหนึ่งๆ จะมีการกำหนดเลยว่าผู้แทนต้องมาจากศาสนาหนึ่งๆ นิกายหนึ่งๆ เท่านั้น

ซึ่งที่เป็นแบบนี้มาจากข้อตกลงตั้งแต่อดีตเพื่อป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งทางศาสนา เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ เป็นดินแดนที่คนคริสต์และคนมุสลิมอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต

ข้อตกลงก็คือประธานาธิบดีของเลบานอนที่เป็นประมุขของประเทศจะต้องเป็นคนคริสต์ นิกายมาโรไนท์ นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารจะต้องมาจากชาวอิสลาม นิกายซุนนี และประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมาจากชาวอิสลาม นิกายชีอะห์

โดยข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสะท้อนโครงสร้างประชากรยุคนั้นที่ชาวคริสต์มากที่สุด ชาวอิสลามนิกายซุนนีรองลงมา และชาวอิสลามนิกายชีอะห์ก็รองลงมาอีกที

โครงสร้างทางการเมืองนี้ไม่ใช่แค่ในระดับผู้นำประเทศ แต่รวมถึงในระดับนักการเมืองด้วย เพราะนักการเมืองในเขตที่มีคนศาสนาใดมากก็ต้องมาจากศาสนาหรือนิกายนั้นเท่านั้น คือมี ‘โควตา’ ชัดเจนมายาวนาน

อย่างไรก็ดี โครงสร้างทางการเมืองนี้ก็เหมือนระเบิดเวลา

เพราะระบบโควตาศาสนา ทำให้นักการเมืองที่ลงเลือกตั้งไม่ได้ให้ความสนใจในการเสนอนโยบายแข่งกันมาโดยตลอด แต่จะแย่งชิงกันเป็นผู้แทนของศาสนาแทน ดังนั้นก็ไม่แปลกเลยที่ประเทศนี้จะไม่มีนโยบายดีๆ ที่จะทำให้ประเทศพัฒนา จนเศรษฐกิจติดหล่มมายาวนาน

และที่ยุ่งไปอีก ระบบแบบนี้ทำให้มีพรรคการเมืองเยอะมากๆ ไม่มีพรรคใหญ่ที่กวาดคะแนนครึ่งสภา แต่มีเป็นสิบๆ พรรคที่ต้องร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม และที่ยุ่งกว่าก็คือ จะตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของสภา

ดังนั้นเวลาประเทศนี้เลือกตั้งครั้งหนึ่ง จะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะตกลงตำแหน่งของขั้วการเมืองต่างๆ และตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ดูแบบนี้เราก็คงพอจะเห็นได้ว่า “กฎเกณฑ์ทางการเมือง” ของเลบานอน ทำให้กระบวนการทางการเมือง “ล่าช้า” ประเด็นนี้ชัด ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมาก แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และนโยบาย เพราะจะทำอะไรที ต้องไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างขั้วการเมืองจำนวนมากให้ลงตัวตลอด ไม่งั้นใช้อำนาจไม่ได้

พูดง่ายๆ คือ “รัฐธรรมนูญ” เลบานอนมีเจตนาดีว่าจะไม่ให้คนศาสนาใดปกครองประเทศแล้วกดศาสนาอื่นได้ผ่านระบบโควตาทางการเมืองต่างๆ แต่ผลในทางปฏิบัติก็คือ กลับสร้างระบบการเมืองที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย และไม่มีเสถียรภาพอย่างมาก ระดับเป็นเคสคลาสสิคให้หลายๆ ประเทศที่พยายามจะสร้างระบบโควตาทางการเมืองดูเอาไว้เป็นอุทาหรณ์ ว่ามันไม่เวิร์ค ไม่ควรจะทำ ระบบเลือกตั้งตามปกติที่ใช้กันในโลกที่คนจะต้องพรรคการเมืองยังไง ส่งคนลงเขตไหนก็ได้กันอย่างอิสระ มันพิสูจน์แล้วว่า “ดีกว่า”

ที่นี้ถึงจะไม่เวิร์ค “รัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนง่ายๆ เลบานอนก็ปกครองแบบนี้มาตลอดแบบถูไถไปได้เรื่อยๆ คนเลบานอนก็ไม่ว่าอะไร เพราะก็คิดว่าก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ มันก็พออยู่ได้

แต่ทีนี้ปัจจุบัน ด้วยปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน เศรษฐกิจประเทศถึงวิกฤติ เพราะเป็นหนี้เยอะ รัฐบาลจำเป็นต้องออกภาษีใหม่มาเต็มไปหมดในปี 2019 ซึ่งนั่นรวมตั้งแต่เพิ่มภาษีน้ำมันและยาสูบไปจนถึงเก็บภาษีกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใช้ Social Media ด้วย

พูดง่ายๆ คือรัฐบาล “ถังแตก” เลยออกภาษีมาเต็มไปหมด และถึงจุดนี้ คนเลบานอนก็รู้สึกว่าบ้าบอไปแล้ว จะมาเก็บภาษีอะไรกันขนาดนี้ ก็เลยลงถนนประท้วงกันในกลางเดือนตุลาคม ปี 2019

และไม่ถึงสองอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีก็ประกาศลาออก และหลังจากทางประธานาธิบดีจัดสรร “นายกคนนอก” ให้เพื่อลงมาจัดการกับ “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นจนประชาชนประท้วงหนัก

คนเลบานอนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การปฏิวัติ” ที่น่าจะนำไปสู่สิ่งดีๆ และตอนนั้นเอง ฮายัต นาเซอร์ ก็ได้ไปสร้างศิลปะจากซากของการประท้วงไว้หลายชิ้น ซึ่งชิ้นที่ดังสุดคือชิ้นที่เป็นรูปนกฟีนิกซ์ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเลบานอนได้ฟื้นคืนจากเถ้าถ่าน และจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม ซึ่งคราวนั้นคนก็รู้สึกว่ามันกินใจกันมาก ไปถ่ายรูปกันใหญ่

รูปปั้นนกฟีนิกซ์ของ ฮายัต นาเซอร์ | The Nation News

นั่นเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของประชาชนระดับที่ต้องปั้นรูปปั้นฉลอง แต่ถามว่า เปลี่ยนรัฐมนตรี “ปัญหาการเมือง” ของเลบานอนจบไหม?

คำตอบคือ “ไม่จบ และไม่ได้น่าจะจบเลย” เพราะตัวนายกรัฐมนตรี เอาจริงๆ ไม่ใช่คนที่มีปัญหา ปัญหาคือทั้งรัฐบาล และต้นตอปัญหาคือทั้งระบบเลือกตั้งที่ผลิตรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพมาต่อเนื่องยาวนาน จนประเทศถังแตกอย่างตอนนี้

ซึ่งคนเลบานอนก็รู้ดีถึงปัญหาดังกล่าว และพวกเขาก็เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ ยกเลิกระบบโควตาศาสนาซะ และใช้ระบบปกติเลือกกันแบบชาวโลก ไม่ต้องมากำหนดว่าเขตนี้ๆ ผู้แทนจะต้องเป็นตัวแทนของศาสนาไหน นิกายใด

และที่น่าสนใจคือ คนที่ลงถนนประท้วง เรียกได้ว่ามาจากทุกศาสนาทุกนิกายทั้งประเทศ คนเลบานอนหันหน้ามาจับมือกันข้ามศาสนา เรียกร้องระบบเลือกตั้งใหม่ ที่จะสร้างรัฐบาลที่ดีกว่านี้ได้ และพวกเขาก็เป็นศัตรูกับเหล่านักการเมืองในสภาปัจจุบันที่ชอบระบบเลือกตั้งแบบโควตา เพราะมันทำให้พวกเขาได้รับเลือก

อย่างไรก็ดี ก็อย่างที่บอก ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ที่นายกฯ

ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงไม่ได้แก้ด้วยการยุบสภา แน่นอนว่าคาราคาซังอยู่ยาวมาถึงปี 2020 เพราะรัฐบาลใหม่ไม่ได้มีข้อเสนอรูปธรรมว่าจะแก้รัฐธรรมนูญยังไง และหลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่ภาวะชะงักงันจากโควิด-19 ซึ่งพอคลายล็อกดาวน์ คนเลบานอนก็ประท้วงต่อเรื่อยๆ เพราะพวกเขายังไม่ได้การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องการ

พอมาถึงเดือนสิงหาคม ปี 2020 ก็เกิดเหตุระเบิด สิ่งที่หายนะอยู่แล้วยกระดับความหายนะขึ้นอีก

ถ้าจะสรุปง่ายๆ ลองคิดตามนี้… เศรษฐกิจเลบานอน “พัง” จนคนประท้วงตั้งแต่ปี 2019 แล้วคนประท้วงให้เปลี่ยนระบบการเมืองใหม่ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาคือระบบก็ยังไม่เปลี่ยน รัฐธรรมนูญก็ยังไม่แก้ พอมาปี 2020 เศรษฐกิจก็ยิ่ง “พัง” จากโควิด-19 และหายนะยังไม่ทันหาย ก็เจอเหตุระเบิดใหญ่ช็อกโลกอีก

คือตอนนั้นเลบานอนน่าจะ “พัง” กว่าทุกที่ในโลกแล้ว เรียกได้ว่าขนาดเศรษฐกิจพังๆ กันทุกประเทศ พวกประเทศมหาอำนาจยังรู้สึกว่าเป็นหน้าที่เลยที่จะต้อง “ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม” กับเลบานอนในเวลานั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเลบานอนเป็น “หายนะ” อีกระดับ

และก็กลับมาที่รูปปั้นของเรา…อย่างที่เล่าไว้ตอนต้น รูปปั้นนี้สร้างจากซากปรักหักพังของเหตุระเบิด ความรู้สึกของคนเลบานอนก็คือชาติของตัวเองมันไม่ใช่แค่ “พัง” แต่ “พังแล้วพังอีก” แบบไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร และงานประติมากรรมนี้ก็กินใจสุดๆ เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่า ถึงแม้จะพังไปจนเหลือแค่ซาก สุดท้ายคนเลบานอนก็จะกลับมาลุกขึ้นยืนใหม่ได้ดังเดิม

แต่ก็แน่นอนว่าคนเลบานอนทุกคนไม่คิดอย่างนั้น รูปปั้นนี้ปั้นมาให้ถ่ายรูปไม่นานก็ต้องเก็บไป เพราะอย่างน้อยประติมากรรมที่สร้างชื่อก่อนหน้านั้นอย่างรูปปั้นนกฟีนิกซ์ก็โดน “ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล” เผาทิ้งไปในเวลาไม่นาน เพราะถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ของการ “ปฏิวัติ” โดยประชาชน

และแน่นอนนั่นก็ทำให้ฮายัต นาเซอร์กลายเป็นประติมากรของการ “ปฏิวัติของประชาชน” มาตั้งแต่ตอนนั้น

อ้างอิง:

  • My Modern Met. Lebanese Artist Creates Powerful Sculpture From the Ashes of Beirut Port Explosion [Interview]. http://bit.ly/36F4xku
  • The Nation News. ‘This phoenix has to rise’: new Beirut sculptures represent the power of the Lebanese people. http://bit.ly/2YHkmCS