รู้จัก ‘เส้นความยากจนสากล’ มาตรวัดจนของธนาคารโลกที่ทำให้ประเทศไทย “ไม่มีคนจน”
ถ้าไม่นับโควิด-19 ปัญหาใหญ่ที่ชาวโลกต้องเผชิญก็มีตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไปจนถึงภาวะโลกร้อน
ถ้า “มองโลกในแง่ดี” บางคนอาจพยายามชี้ว่า อย่างน้อยที่สุด จำนวนคนที่ “ยากจนสุดๆ” ในโลกกำลังลดลงเรื่อยๆ และโลกของเราก็น่าจะปลอดคนจนภายในปี 2030 ตามเป้าที่ธนาคารโลกวางไว้
เป้าที่ว่านี้ ธนาคารโลกเรียกว่า “เส้นความยากจนสากล”
1.
หลายอาจคิดว่า “เส้นความยากจนสากล” เป็น “จริง” เพราะเป็นการอ้างข้อมูลจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ แต่ในความเป็นจริง ก็ดังเช่นทุกเรื่องในโลกวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ทุกอย่างไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอน
และในกรณีของ “เส้นความยากจนสากล” นี่เป็นสิ่งที่คนทั้งในโลกวิชาการทั้งนอกและในสาขาเศรษฐศาสตร์ และแวดวงการพัฒนานานาชาติวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด
ทางธนาคารโลกเองก็ยอมรับว่า เส้นนี้มีปัญหา แต่เหล่า “คนนอก” ก็มักจะเอาข้อมูลมาใช้ราวกับไม่มีปัญหาตลอด
เพื่อจะเข้าประเด็นให้เร็วที่สุด ถ้าวัดตามเส้นความยากจนสากล เมืองไทย “ไม่มีคนจน” เลย (คือมีประมาณ 0.03% ของประชากร ซึ่งถือว่าน้อยมากจนแทบไม่มี) เพราะมาตรฐานนี้นับว่า “คนจน” คือคนที่มีเงินใช้ต่ำกว่า 26 บาทต่อวัน
เราก็คงจินตนาการได้ไม่ยากว่า เมืองไทยน่าจะไม่มีคนแบบนั้นอยู่ เพราะเงินแค่นั้นไม่เพียงพอจะมีชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหน
2.
ถ้าไม่เอา “เส้นความยากจนสากล” มาวัดเมืองไทย แล้วใช้เส้นของเมืองไทยมาวัดล่ะ?
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พัฒนาเส้นความยากจนที่สมเหตุสมผล
กว่าในมาตรฐานการครองชีพของคนไทย และเส้นนี้ขีดไว้ว่า “คนจน” คือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 90 บาทต่อวัน
ใช้วันละ 90 บาท จะพอได้ยังไง? ถ้าตัดค่าเช่า ฯลฯ ออกไป ยังจินตนาการได้ยากเลย และตัวเลขนี้ก็ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า “ต่ำไป”
แล้ว… “เส้นความยากจนสากล” ที่บอกว่าคนจนคือคนที่มีเงินใช้ต่ำกว่า 26 บาทต่อวัน คงจะน่าขันมาก และน่าจะเชื่อถือไม่ได้เลย
แต่เพื่อความเป็นธรรม เรามาทำรู้จัก “เส้นความยากจนสากล” กันก่อน
3.
ในสมัยก่อน การวัดความยากจนในเชิงปริมาณเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ และเวลาจะพูดถึง “ความยากจน” ก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะสร้าง “เส้นความยากจน” เพื่อบอกว่าใครคือ “คนจน” ในประเทศ
ปัญหาก็คือ ถ้าคิดแบบนี้จะพูดถึง “ความยากจน” ระดับสากลไม่ได้ เพราะมีหลายมาตรฐาน ทางธนาคารโลกก็เลยพัฒนา “เส้นความยากจนสากล” ขึ้นมาจากค่าเฉลี่ยเส้นความยากจนประจำชาติของกลุ่มประเทศที่จนที่สุดในแถบแอฟริกา
ซึ่งธนาคารโลกไม่ได้เอามาใช้ดิบๆ แต่จะปรับค่าครองชีพให้เท่ากันหมด (ภาษานักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ปรับ PPP”) แต่ก็อย่างที่เห็น ถ้าเอาเส้นความยากจนสากลที่ว่ามาบอกว่า คนไทยที่จนคือคนมีรายได้ต่ำกว่า 26 บาทต่อวัน ช่างไม่สมเหตุสมผลและขัดสามัญสำนึกทางเศรษฐกิจ
เหตุที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะคนในโซนยากจนของแอฟริกาที่เป็นที่มาของตัวเลขนี้ มาตรฐานการครองชีพของพวกเขาต่ำมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือคนในแต่ละประเทศมีมาตรฐานการครองชีพระดับต่างกันมาก ถ้าจินตนาการง่ายๆ “คนจน” แถบแสกนดิเนเวีย ก็น่าจะมีมาตรฐานการครองชีพดีกว่า “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ของเมืองไทย และในทำนองเดียวกัน คนบ้านเราที่บอกว่าตัวเอง “จน” ก็น่าจะมีมาตรฐานการครองชีพดีกว่า “ชนชั้นกลาง” ในประเทศที่จนจริงๆ
นี่เลยเป็นที่มาของความ “ไม่สมเหตุสมผล” และการไม่สะท้อนตัวเลข “คนจน” จริงๆ ของ “เส้นความยากจนสากล”
4.
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจงงว่า แล้วตัวเลขที่บอกว่าคนจนลดลงมหาศาลในรอบ 20-30 ปีมาจากไหน? ทำขึ้นมาเอง?
คำตอบคือไม่ใช่ และคำอธิบายที่ง่ายสุดนั้น พยางค์เดียวจบคือ “จีน”
จีนเป็นประเทศที่พลิกจากยากจนมาร่ำรวยเร็วมาก และรวยขึ้นเรื่อยๆ (นับรายได้ต่อหัวของประชากร จีนรวยแซงไทยไปตั้งแต่ปี 2011) และด้วยความที่เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด การทำให้คนจนของจีน “หายจน” นั้นส่งผลให้ประชากรของโลกพ้นเส้นความยากจนไปอย่างมหาศาล และส่งผลบวกต่อตัวเลขการพัฒนาประชากรโลกโดยรวม
อย่างไรก็ดี ถ้าตัดจีนและกลุ่มประเทศแถบเอเชียแฟซิฟิกที่พัฒนาเศรษฐกิจเร็วในช่วงนี้ไปจากสมการ แล้วใช้เส้นความยากจนที่สมเหตุสมผล เราก็จะพบว่า 20 ปีที่ผ่านมา โลกมีคนจนมากขึ้น ยกเว้นจีน แต่ด้วยความที่ประชากรจีนเยอะ เลยดึงให้ภาพรวมดูประชากรคนจนในโลกลดลง
ความเป็นจริงที่ว่ามานี้ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศไม่สามารถจะ “เลิกใส่ใจ” ปัญหาความยากจนไปได้แบบที่หลายๆ คนคาดเอาไว้ เพราะแม้ว่าตัวเลขความยากจนในโลกลดลง
แต่ข้อเท็จจริงว่าในโซนที่ยากจนสุดๆ คนก็ยังจนลงไม่เปลี่ยน และพื้นที่แบบนั้นนี่แหละที่ต้องการความ “ช่วยเหลือ” เพื่อให้หลุดพ้นความยากจนที่สุดจากนานาประเทศ
อ้างอิง:
- World Bank. การลดความยากจนและปรับปรุงความเท่าเทียมในประเทศไทย: ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ. https://bit.ly/3kHKl6L
- สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เส้นความยากจน (Poverty line) จำแนกตามภาคและเขตพื้นที่ ปี พ.ศ. 2531 – 2561. https://bit.ly/3mxh7b6
- Investopedia. International Poverty Line. https://bit.ly/31SHel6
- Center for Human Rights and Global Justice. Philip Alston Condemns Failed Global Poverty Eradication Efforts. https://bit.ly/35QfRcB