ทำความรู้จัก ‘ภาวะซึมเศร้าหลังมีเพศสัมพันธ์’ มีเพศสัมพันธ์ด้วยความเต็มใจ แต่ก็ยังรู้สึก ‘เศร้า’ หลังเสร็จภารกิจ
เรามักจินตนาการว่า หลังจบฉากอันเร่าร้อนของค่ำคืนอันหฤหรรษ์ระหว่างตนกับคู่แล้วนั้น จะต้องรู้สึกฟิน อิ่มเอม แล้วผล็อยหลับไปในอ้อมกอดของกันและกัน
แต่ในบางครั้งกลับไม่ใช่ แทนที่จะรู้สึกดีกลับรู้สึกเศร้า บางคนอาจรู้สึกผิดร่วมด้วย
นั่นเพราะคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Postcoital dysphoria (PCD) หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าหลังมีเพศสัมพันธ์’ ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากการช่วยตัวเอง หรือหลังมีเพศสัมพันธ์กับคู่ก็ได้ และเกิดขึ้นได้ไม่ว่าคุณจะถึงจุดสุดยอดหรือไม่ก็ตาม ที่สำคัญคือเกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นปกติ
ยืนยันได้จากการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2015 สำรวจนักเรียนหญิง 233 คน พบว่า 46 เปอร์เซ็นต์ เคยมีภาวะ PCD อย่างน้อย 1 ครั้ง และการศึกษาปี 2019 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างเพศชาย จำนวน 1,208 คน พบว่าผู้ชาย 41 เปอร์เซ็นต์ เคยมีภาวะ PCD และระหว่าง 3-4 เปอร์เซ็นต์ มีภาวะนี้เป็นประจำ คือเศร้าหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
ทีนี้เรามาดูกันว่า ภาวะซึมเศร้าหลังมีเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน: หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ ฮอร์โมนออกซิโตซิน และเอ็นดอร์ฟิน ที่เกี่ยวข้องกับความสุข และความผูกพันจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนโดยฉับพลันนี้ สามารถทำให้เกิดอารมณ์เศร้าขึ้นชั่วคราว หรือจู่ๆ ก็เกิดความรู้สึกแย่ลงได้
- ความมั่นคงทางใจ: เพราะการมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เผยให้เห็นตัวตนของกันและกันในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น นำไปสู่การเกิดความรู้สึกต่างๆ มากมาย รวมถึงความรู้สึกวิตกกังวล ความเสียใจ หรือความผิดหวังหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเศร้าได้
- ความเหนียวแน่นทางความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก: หากคู่นั้นกำลังมีปัญหาที่แก้ไขร่วมกันไม่ได้ หรือเป็นความกังวลที่ค้างคาใจ รวมถึงมีระดับอารมณ์ไม่เท่ากัน ก็อาจทำให้เกิดความเศร้าภายหลังได้
- ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง: แน่นอนว่า คนเรามักคาดหวังให้อีกฝ่ายสามารถรู้ หรือรู้แล้วควรเติมเต็มความต้องการให้กันได้ และหากไม่ได้รับการตอบสนองจึงทำให้เกิดความเศร้า หรือน้อยใจขึ้นมาได้
- ประสบการณ์แย่ๆ ในอดีต: บางคนอาจเคยประสบกับเหตุการณ์ทางเพศที่แย่ หรือเลวร้ายในอดีต แล้วยังก้าวผ่านมันไปไม่ได้ หรือคิดว่าผ่านมาได้แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่มีบางอย่างมากระตุ้นอีกครั้ง จึงมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ราวกับว่ากำลังหวนคืนสู่ความเจ็บปวดนั้นอีกครั้ง ซึ่งสิ่งกระตุ้นอาจเป็นการมองเห็น กลิ่น พื้นผิว หรือแม้กระทั่งความคิดก็ได้
- ความกังวลทางร่างกาย และสมรรถภาพทางเพศ: เพราะบางคนไม่พึงพอใจ หรือไม่มั่นใจในรูปร่างของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เพียงแต่จะรู้สึกในมุมตัวเอง ยังกังวลต่อไปอีกว่าคู่ของตนจะรู้สึกต่อตัวเองอย่างไร รวมถึงความกังวลต่อสมรรถภาพทางเพศที่สงสัยว่าตัวเองทำได้ดีพอหรือเปล่าก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน
ดังนั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจในค่ำคืนอันแสนโชกโชนแล้ว อย่าเพิ่งหันหลังหนีแล้วชิงหลับไปก่อน คอยสังเกตความรู้สึก แล้วพูดคุยถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยกัน เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน แต่หากประสบภาวะซึมเศร้าหลังมีเพศสัมพันธ์บ่อยขึ้นจนกลายเป็นปัญหา การพูดคุยกับนักจิตบำบัดอาจดีที่สุด