2 Min

‘ป๊อปอาย’ อาจไม่ได้ชอบกินผัก แต่เพราะนักวิทย์เบลอจัด ใส่จุดทศนิยมผิดจนค่าโภชนาการโอเวอร์เกินจริง

2 Min
213 Views
30 Jul 2024

ในที่นี้มีใครมีประสบการณ์ถูกผู้ปกครองรบเร้าให้กินผักเพื่อจะได้แข็งแรงเหมือนอย่างป๊อปอาย’ (Popeye) กันบ้างไหม? หากใครเคยเจออย่างนั้น ถือเป็นคนมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้วนะ

แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่อย่างไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาหนึ่ง ตัวละครในชุดกะลาสีเรือ กล้ามโต ชอบคาบไปป์ตลอดเวลา และกินผักกระป๋อง (ผักที่ป๊อปอายกินคือผักปวยเล้ง (Spinach) ไม่ใช่ผักโขม (Amaranth) ตามที่มีการแปลในเวอร์ชันภาษาไทย) คือหนึ่งในการ์ตูนที่ฮิตติดลมบน สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จไว้อย่างมากมาย

โดยเฉพาะในสหรัฐอมริกา ที่ภาพลักษณ์นั้นถูกนำไปปรากฏตัวอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน (ภายหลังยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์) วิดีโอเกม และสินค้าต่างๆ ออกมานับไม่ถ้วน แม้แต่มิกกี้เมาส์ยังต้องยอมศิโรราบไปในช่วงเวลาหนึ่ง

อิทธิพลนั้นยังแรงไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวในเนื้อหา อย่างฉากการกินผักปวยเล้งเพื่อเอาชนะบลูตัสคู่อริตลอดกาลในเกือบทุกๆ ตอน ก็ทำให้ยอดขายผักในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์

โดยเฉพาะที่เมืองคริสตัลซิตี้ ในเท็กซัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแปรรูปและขนส่งปวยเล้ง มีออร์เดอร์สั่งปวยเล้งกระป๋องเข้ามาวันละ 10,000 กระป๋อง เลยทีเดียว แถมเรื่องนี้ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจของเมืองในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great depression) เอาไว้ด้วย (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่รูปปั้นป๊อปอายถูกสร้างขึ้นที่เมืองนี้)

แต่ใครจะคิดล่ะ ว่าเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์นี้ เมื่อย้อนกลับไปยังข้อเท็จจริง ที่มาของสูตรพลังงานกลับผิดฝาผิดฝั่งไปเสียหมด เพราะนักเคมีดันบันทึกค่าสารอาหารในปวยเล้งสูงเกินจริง

จุดตั้งต้นของเรื่องนี้มาจาก อีริช ฟอน โวล์ฟ (Erich Von Wolfe) นักเคมีชาวเยอรมัน ผู้ค้นคว้าทำข้อมูลปริมาณธาตุเหล็กในพืชผักใบเขียวดันไปวางจุดทศนิยมผิดตำแหน่ง ตอนเขียนรายงานส่งวารสารการแพทย์ ในปี 1870 แทนที่จะเขียนว่า ปวยเล้งมีธาตุเหล็ก 3.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เขากลับเขียนว่าปวยเล้งมีธาตุเหล็ก 35 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณจริงถึง 10 เท่า

ด้วยค่าพลังงานที่โอเวอร์เกินจริงไปมาก ก็คงไม่แปลกที่ใครจะนำมาใช้อ้างอิง ดังนั้นเมื่อป๊อปอายถูกสร้างขึ้น ผู้บริหารสตูดิโอจึงแนะนำ เอลซี ซีการ์ (Elzie Segar) ผู้ให้กำเนิดตัวละคร เขียนให้ป๊อปอายกินปวยเล้งเพื่อเสริมความแข็งแรง เพราะมันเห็นชัดขนาดนั้นว่ามีคุณสมบัติทางโภชนาการที่ได้รับการยกย่องสูง

และจากนั้นเรื่องราวตำนานของนักกินผักเพิ่มพลังก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะเวอร์ชันซีรีส์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ถูกผลิตมากกว่า 200 ตอน

ส่วนข้อมูลที่ผิดไปนั้นตอนนี้ถูกแก้ไขแล้ว แต่กว่าจะแก้ก็ต้องรอเกือบ 70 ปี หลังมีนักวิทยาศาสตร์ย้อนมาตรวจสอบวัดค่าพลังงานในผักชนิดนี้อีกหน จึงรู้ว่ารายละเอียดที่เชื่อกันมานมนานนั้นผิดไปจากความเป็นจริงมาก

แต่ก็นั่นล่ะ บางครั้งความผิดพลาดก็สร้างเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อให้เกิดขึ้นกับโลกได้ เหมือนอย่างการ์ตูนเรื่องนี้ที่กลายเป็นตำนาน และอยู่ในใจวัยเด็กของหลายๆ คน มาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง