3 Min

สรุปควรกินยา “Ponstan” หรือ Ibuprofen หรือไม่ ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด

3 Min
4616 Views
02 Dec 2021

ช่วงนี้อัปเดตเรื่องการรักษาและปฏิบัติตัวช่วงที่ COVID-19 ระบาดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ และล่าสุดในวันอังคารที่ผ่านมาทางองค์การอนามัยโลกก็แนะนำชัดเจนว่าช่วงนี้ถ้าเป็นไข้ (ไม่ว่าจะรู้ว่าติด COVID-19 หรือไม่) ก็ให้กินยาพาราเซตามอลเป็นหลัก อย่าไปกิน Ibuprofen

ชื่อแรกเป็นชื่อที่เรารู้อยู่แล้ว ชื่อหลังเป็นชื่อที่บ้านเราอาจไม่คุ้นนัก

แต่ถ้าพูดถึง “Ponstan” หลาย ๆ คนคงจะอ๋อ เพราะนั่นเป็นยาที่หาได้ทั่วไปในบ้านเรา ร้านสะดวกซื้อยังมีขาย

ซึ่ง Ponstan ไม่ใช่ Ibuprofen นะครับ แต่มันถือว่าเป็นยากลุ่มเดียวกันที่เรียกว่า Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drug (NSAID) ซึ่งก็คือยากลุ่ม “ยาแก้อักเสบ” (ในความหมายนานาชาติ ไม่ใช่ความหมายในไทยที่จะใช้คำนี้เรียกพวกยาปฏิชีวนะ) และจริง ๆ ที่เขาคิดว่าต้องระวัง มันต้องระวังทั้งกลุ่มเลย ดังนั้นถ้าเมืองนอกบอกว่าอย่าเพิ่งกิน Ibuprofen ถ้าเป็นบ้านเรา ก็คงจะต้องบอกว่าอย่าเพิ่งกิน Mefenamic Acid หรือที่เรารู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า Ponstan นี่แหละ

แล้วทำไมเขาห้ามกิน?

จริง ๆ ต้นเรื่องเลยมันมาจากบทความในวารสารการแพทย์รุ่นใหญ่อย่าง The Lancet ที่มีนักวิจัยเสนอว่า จริง ๆ เหตุผลที่ความเสี่ยงของคนเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานต่อ COVID-19 มากกว่าคนอื่น เพราะคนเป็นโรคพวกนี้จะผลิตเอนไซม์ตัวหนึ่งมากกว่าปกติ และคนเป็นโรคพวกนี้ หมอก็จะชอบสั่งให้กิน Ibuprofen ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มเอนไซม์ตัวนั้นไปอีก และบังเอิญจริง ๆ มันมีงานวิจัยพบว่าเอนไซม์ตัวนี้ดูจะไปเพิ่มการเติบโตให้ COVID-19

นี่นำไปสู่คำแนะนำว่าถ้าคนติด COVID-19 แล้วกิน Ibuprofen อาจทำให้อาการแย่ลง เรียกได้ว่าจากไม่มีอาการ ก็อาจทำให้มีอาการ จากมีอาการเบาก็อาจกลายเป็นอาการหนัก

โดยงานวิจัยนี้ตีพิมพ์มาในวันที่ 11 มีนาคม 2020 และต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2020 ทางรัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศสก็ “รับลูก” ต่อ โดยบอกเลยว่าอย่าเพิ่งกิน “ยาแก้อักเสบ” เพราะจะทำให้อาการ COVID-19 แย่ลง โดยยกตัวอย่าง “Ibuprofen, Cortisone, …” ซึ่งถ้าสังเกตคือ เขาห้ามทั้งกลุ่ม “ยาแก้อักเสบ” เลย ซึ่งยากลุ่มนี้ในบ้านเราที่คนรู้จักและกินกันทั่วไปมากที่สุดคือ “Ponstan”

และที่มา “รับลูก” ต่อจากรัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศสก็คือองค์การอนามัยโลก โดยมีการประกาศว่าช่วงนี้ถ้ามีไข้ ให้กินพาราเซตามอลอย่ากิน Ibuprofen

โดยคำอธิบายมาตรฐานตอนนี้คือ พวกยากลุ่ม “ยาแก้อักเสบ” หน้าที่ของมันหลัก ๆ คือจะไปกดระบบภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายไม่เกิดอาการอักเสบ (เผื่อไม่รู้ อาการบวมแดงอักเสบใด ๆ มันไม่ได้เกิดจาก “เชื้อโรค” นะครับ แต่มันเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง) ซึ่งการทำแบบนั้นในภาวะที่ร่างกายติดเชื้อ COVID-19 มันจะทำให้ร่างกายสู้กับเชื้อไม่ได้เท่าที่ควร และจะทำให้อาการแย่ลง

ซึ่งเอาจริง ๆ มันมีงานศึกษามากมายที่ชี้ว่า Ibuprofen มันมีแนวโน้มจะทำให้อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยรวม ๆ (ไม่ใช่แค่ COVID-19) แย่ลงก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นเอาจริง ๆ ข้อเสนอว่าที่ว่าในภาวะการระบาดของ COVID-19 คนไม่ควรจะกิน “ยาแก้อักเสบ” มันจึงเป็นส่วนที่ถือว่าเป็นความรู้ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่แล้วนี่เอง

และนี่คือที่มาของข้อเสนอไม่ให้กิน “Ponstan” และ Ibuprofen ทั้งหมดในช่วงนี้ ซึ่งเขาก็บอกว่าถ้าจะต้องกินก็คือเฉพาะคนมีโรคประจำตัวที่ต้องกินเท่านั้น และถ้าจะกินควรได้รับคำปรึกษาหมออย่างใกล้ชิด คือหมอจะตัดสินเองว่าผลดีหรือผลเสียจะมากกว่ากัน

แต่ถามว่าข้อเสนอนี้คนเห็นด้วยหมดหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ ถ้าไปถามบริษัทยาที่ผลิต Ibuprofen (มีหลาย ๆ บริษัท เป็นยาทั่วไปที่ใครก็ผลิตได้) ทางบริษัทก็จะบอกว่า มันเป็นยาที่คนกินมายาวนานปกติ ก็ไม่เป็นไร และตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นพอว่ามันจะทำให้คนที่ติดเชื้อ COVID-19 แย่ลงจริง

หรือทางฝั่งอเมริกา นายแพทย์ที่เป็นหัวหน้าทีมรับมือ COVID-19 ของ Donald Trump ก็พูดทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้ “หลักฐานวิทยาศาสตร์ยังไม่หนักแน่นพอ” ที่จะบอกให้คนหยุดกิน Ibuprofen เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของ COVID-19 แย่ลง และความเชื่อแบบนี้ “เป็นแค่ตำนานเมืองที่เล่าต่อกัน” เท่านั้น

อันที่จริง แม้แต่เรื่องของ Ibuprofen ก็มี “ข่าวปลอม” แพร่กระจายอยู่มาก เช่น “เรื่องเล่า” ที่แชร์กันต่อ ๆ มาใน WhatsApp (และก็น่าจะลามมา Line เรียบร้อยแล้ว) ที่มีพล็อตคล้าย ๆ กันว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่กิน Ibuprofen เข้าไปอาการแย่ลง โดยทาง BBC เจอเรื่องแบบนี้ทั้งหมด 3 เรื่อง เป็นเรื่องจาก ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และอิตาลี แต่ไม่มีเรื่องใดเลยที่พิสูจน์ได้ว่าจริง

สรุป เราจะทำยังไงกันดี? คำตอบคือ ถ้าเชื่อในหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” ช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งกิน Ibuprofen หรือ Ponstan เลยครับ ถ้าไม่จำเป็น เพราะมันก็มีงานวิจัยและคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ชวนให้เราสงสัยว่าจริง ๆ ยากลุ่มนี้อาจทำให้ COVID-19 แย่ลงจริง

ส่วนถ้าคิดว่า “ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หนักแน่นพอ” ก็น่าจะกินได้ตามปกติแหละครับ ซึ่งถ้ารู้สึกว่าอาการคล้าย ๆ กับ COVID-19 เริ่มกำเริบหรือแย่ลง จะหยุดยาแล้วกลับไปใช้หลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็ไม่ผิดกติกาอะไรครับ

อ้างอิง