แบ่งขั้วการเมืองแบบ ‘ซ้าย-ขวา’ กำลังล้าสมัย คำถามใหม่คือเราเชื่อใน ‘เสรีภาพทางเทคโนโลยี’ หรือไม่?
โลกเราวนเวียนอยู่ในขั้วการเมืองแบบ ‘ซ้าย–ขวา’ มานับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส ฝ่ายขวาเชื่อในจารีตและวิถีสังคมแบบเดิมๆ ฝ่ายซ้ายเชื่อในความก้าวหน้าทางสังคม และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปจากจุดนั้นแค่ไหน ทุกวันนี้ ‘พรรคการเมือง’ ในโลกทั้งหลายก็มักจะถูกจัดในขั้วซ้ายขวาที่ว่าได้อยู่ จะซ้ายจัด ซ้ายกลาง ขวาจัด ขวากลาง อะไรก็ว่าไป
การแบ่งขั้วทางการเมืองแบบนี้ดำรงอยู่มาตลอดศตวรรษที่ 20 ที่ประชาธิปไตย ‘เบ่งบาน’ ทั่วโลก แต่พอมาในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่เราเห็นก็คือ ‘เผด็จการ’ เริ่มขยายตัว หรือให้ตรงกว่าคือ ‘ประชาธิปไตย’ ถึงยุคเสื่อมอย่างชัดเจน
มันเกิดอะไรขึ้น? บางคนอาจมองว่าปรากฏการณ์พวกนี้เกิดจากการขยายตัวของ ‘กลุ่มขวาจัด’ ทั่วโลก แต่อีกด้าน ถ้ามาดูจริงๆ เราก็เห็นว่าจำนวนคนออกไปเลือกตั้งทั่วโลกลดลงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก ไปจนถึงญี่ปุ่น และนี่เป็นแนวโน้มระยะยาวที่ปรากฏมานับแต่การตื่นตัวทางการเมืองในยุค 1960s
ดูเผินๆ นี่เราอาจคิดว่านี่เป็นเพราะ ‘คนรุ่นใหม่’ รังเกียจประชาธิปไตยก็ได้ แต่ถ้าเรารู้จัก ‘คนรุ่นใหม่’ จริงเราจะไม่พูดแบบนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยแน่ๆ แต่เขารังเกียจ ‘การเมืองระบบสภา’ ที่เป็นอยู่ซะมากกว่า
ทำไมการเมืองระบบสภาถึงน่ารังเกียจ? ถ้าเรากลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านๆ มา เราก็น่าจะเห็นว่าบรรยากาศรวมๆ ที่เกิดขึ้นก็คือคนมันรู้สึกว่า ‘จะเลือกพรรคการเมืองไหนก็ไม่ได้ต่างกัน? ’ และการเมืองแบบซ้ายจัดและขวาจัดสุดท้ายอาจต้องพินาศหมด เพราะ ‘พวกกลางๆ ’ หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Centrism จะเป็นผู้ชนะ
‘พวกกลางๆ ’ ที่ว่า คือพวกที่ใช้จุดยืนทางการเมืองแบบประนีประนอมแล้วสำหรับ ‘คนรุ่นเก่า’ (คือเอารัฐสวัสดิการแต่พองาม และก็รักษาสิทธิเสรีภาพพื้นฐานทุกอย่างเอาไว้อย่างมั่นคง) แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ การเลือกระหว่างพรรคซ้ายกลางกับขวากลางมันไม่ได้ต่างจากการเลือกระหว่างโค้กหรือเป๊ปซี่ มันไม่ได้ต่างกันในระดับแก่นสารระดับที่ควรจะเสียเวลาชีวิตไปคูหาเลือกตั้ง
นี่เลยเป็นสาเหตุว่า เว้นแต่จะมีฝ่ายขวาจัดบ้าๆ บอๆ ระดับโดนัลด์ ทรัมป์มาพยายามจะยึดประเทศ ให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว’ พวกเขาไม่ไปเลือกตั้งหรอก และตัวอย่างที่ดีมากๆ ของ ‘คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง’ คือประเทศญี่ปุ่นที่คนอายุน้อยๆ ไม่ถึง 1 ใน 3 ไปลงคะแนนเลือกตั้ง และจำนวนคนที่ไปเลือกตั้งก็น้อยลงเรื่อยๆ มายาวนานแล้วในหมู่คนรุ่นใหม่
สิ่งที่เกิดขึ้นก็อย่างที่ว่า คนรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกว่า ‘ความต่าง’ ที่เป็นฐานของการตั้งพรรคการเมืองซ้ายขวาในอดีตมัน ‘ไม่ต่าง’ อย่างมีนัยสำคัญ
แล้ว ‘ความต่าง’ อะไรที่เป็นประเด็น? ไปๆ มาๆ อาจไม่ใช่เรื่อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ แบบที่พวก ‘ซ้ายจัด’ ชอบประโคมว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่อาจเป็นเรื่อง ‘ความเชื่อในเสรีภาพทางเทคโนโลยี’ หรือพูดให้ชัดคือ ความรู้สึกรวมๆ ว่าในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนารัวๆ โดยอิสระ แบบทุกวันนี้ มันจะนำพามนุษย์ไปสู่ปลายทางชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นมันควรจะสนับสนุนให้ภาวะแบบนี้ดำเนินต่อไป
หรือให้ตรงในเชิง ‘นโยบายสาธารณะ’ ที่พรรคการเมืองควรจะเอามาขายแต่ไม่มีใครทำก็คือ นโยบายเปิดเสรีเทคโนโลยี อันต่างจากแนวทาง ‘ควบคุมเทคโนโลยี’ ที่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายจัดยันขวาจัดก็มักจะเห็นร่วมกันว่ารัฐต้องควบคุมเทคโนโลยีและเอาไปตอบสนองวาระทางการเมืองของตัวเอง
ไอเดียของผู้ที่เชื่อใน ‘เสรีภาพทางเทคโนโลยี’ ก็ง่ายๆ เลย คือเชื่อว่าเอกชนควรพัฒนาเทคโนโลยีได้เต็มที่ รัฐควรเข้าควบคุมแทรกแซงให้น้อยที่สุด คือสนับสนุนได้ แต่ห้ามทำการควบคุมและระงับ ต้องปล่อยให้ ‘เทคโนโลยีมันคลี่คลายตัวมันเอง’
และจริงๆ นี่ไม่ใช่ไอเดียนามธรรมอะไรเลย แต่คือไอเดียแบบคนอย่าง อีลอน มัสก์
มัสก์คือ ‘คนดัง’ ที่เชื่อจริงๆ ว่าเทคโนโลยีจะทำให้โลกดีขึ้น และไม่ใช่แค่ ‘เชื่อ’ แต่เขามีบทบาทในการผลักเทคโนโลยีไปเป็นดังนั้นด้วย เรียกได้ว่าตอนนี้เป็นผู้นำทั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ เทคโนโลยีอวกาศ และยังพยายามจะมีเอี่ยวกับเทคโนโลยีเชื่อมมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์อีก และก็ไม่แปลกเลยที่เขาเป็น ‘บุรุษแห่งปี’ ทั้งปี 2020 ถึง 2021
มันมีเหตุผลไม่น้อยที่ทำไมมีคนสนับสนุนและเชื่อในมัสก์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจริงๆ ท่าทีอย่างมัสก์มันยียวนทั้งฝ่ายซ้ายและขวาแบบดั้งเดิมมากๆ เขาเชื่อในเสรีภาพทางเทคโนโลยีแบบที่ฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด ส่ายหน้าไปพร้อมกันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน และสำหรับเขา ‘เสรีภาพ’ ที่ว่ามันมีเหตุผลและเป้าหมายเดียวคือเพื่อให้มนุษยชาติพัฒนาเทคโนโลยีได้คล่องตัวที่สุด และนั่นคือสิ่งที่จะดีในปลายทางแบบไม่ต้องกังขา
แน่นอน มุมมองแบบนี้สุดขั้วมาก แต่ในโลกที่ไม่มี ‘ไอดอลของฝ่ายเปิดเสรีเทคโนโลยี’ เลย มันก็ต้องการคนแบบนี้แหละมาเป็นปากเป็นเสียง
บางคนอาจรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่จะใหญ่เร็วๆ นี้ แต่ในความเป็นจริง ‘เทคโนโลยีบล็อกเชน’ ทั้งหลายที่ทำงานข้ามชาติตอนนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ถึงข้อถกเถียงแบบนี้ เพราะเทคโนโลยีแบบนี้ทำงานข้ามชาติ ไม่มีศูนย์กลาง ดังนั้นมันจะไปบี้กับบริษัทไหนไม่ได้ ผลก็คือรัฐคุมไม่ได้ เพราะมันถูกสร้างมาแบบนั้น และ ‘ทางเลือก’ มันก็เลยคือการไม่แบนเทคโนโลยีพวกนี้ไปเลย และใช้อำนาจปราบปรามโหดๆ ระดับไม่แคร์สิทธิพื้นฐานตั้งแต่สิทธิความเป็นส่วนตัวยันสิทธิเหนือร่างกายและทรัพย์สิน (นึกอะไรไม่ออกนึกถึงจีน) ก็ต้องปล่อยเสรีไปเลย
เราจะพบข้อถกเถียงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งฝ่าย ‘เปิดเสรีเทคโนโลยี’ ก็จะบอกว่ามันผิดแต่แรกแล้วที่รัฐพยายามจะไปจุ้นจ้าน ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นตั้งแต่ซ้ายจัดยันขวาจัดในอดีตล้วนดาหน้ากันออกมายืนยันว่ารัฐต้องมีสิทธิควบคุม
‘ความขัดแย้ง’ ทางการเมืองแบบนี้แหละที่เราจะเห็นมากขึ้น ในขณะที่ ‘ฝ่ายควบคุมเทคโนโลยี’ ที่เป็นขั้วการเมืองซ้ายขวาเดิมน่าจะรวมตัวกัน อีกฝ่ายที่เป็นฝ่าย ‘เปิดเสรีเทคโนโลยี’ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ รวมตัวกับคนที่เคยอยู่ชายขอบขั้วการเมืองซ้าย–ขวาแบบเก่าๆ ก็จะรวมตัวกัน
และถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องตกใจไปที่เราที่เคยถูกจัดเป็น ‘หัวก้าวหน้า’ จะถูกมองว่ากลายมาเป็น ‘อนุรักษนิยม’ เพราะเราไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรเลย เราแค่ ‘มีจุดยืน’ ที่เดิม สักวันโลกก็จะหมุนไปไกลจนเรากลายไปเป็นพวก ‘อนุรักษนิยม’ ไปนั่นแหละ
อ้างอิง
- Metro. Could left and right-wing politics be replaced by up and down-wing? .https://bit.ly/3f2AnvB