2 Min

เบอร์เกอร์รสชาติเนื้อมนุษย์ เทรนด์อาหาร Plant Based แบบใหม่ที่หลายคนกำลังพูดถึง

2 Min
579 Views
18 Jul 2022

ในปัจจุบันเทรนด์อาหารสุขภาพบนโลกของเรานั้นมีอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารคีโต หรือไม่ก็ผลผลิตจากการเกษตรแบบออร์แกนิก เทรนด์น้ำปั่นผักผลไม้สุดฮิต และหนึ่งในเทรนด์อาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมนั่นก็คือ อาหารแปรรูปจากโปรตีนพืช หรือ Plant-Based Food

แพลนต์เบสด์ (Plant-Based) คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์และรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ใช้วัตถุดิบทำจากพืช ให้โปรตีนสูง แต่มีปริมาณแคลอรีที่ต่ำกว่าการกินเนื้อสัตว์ทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะพบเห็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ที่ถูกพัฒนามาในรูปแบบของแพลนต์เบสด์

แต่ Oumph! บริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสด์ในยุโรปได้ก้าวไปอีกขั้น กับการพัฒนาเบอร์เกอร์เนื้อมนุษย์ (Human Meat Plant-Based Burger) เพื่อพิสูจน์ว่า บริษัทสามารถพัฒนาเนื้อแพลนต์เบสด์ที่มีรสชาติใดก็ได้ให้ใกล้เคียงกับเนื้อจริง ๆ

โดยในช่วงฮาโลวีนปี 2021 บริษัทได้ทดลองนำเบอร์เกอร์จากพืชตัวแรกของโลก ที่รสชาติคล้ายกับเนื้อมนุษย์ให้กับชาวสตอกโฮล์มที่สนใจได้มีโอกาสลิ้มลอง พร้อมกับเปิดตัวโฆษณาสั้นของแคมเปญที่สร้างการพูดถึงและจดจำในแวดวงนักโฆษณา

หนึ่งในทีมงานของแคมเปญกล่าวว่า พวกเขาต้องการที่จะโน้มน้าวใจคนรักเนื้อสัตว์ว่า ผลิตภัณฑ์จากพืชนั้นสามารถจําลองรสชาติของเนื้อสัตว์ได้จริงๆ

โทมัส ออสทิเกลีย (Tomas Ostiglia) ผู้อํานวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท LOLA MullenLowe ยังกล่าวเสริมอีกว่าทางออกก็คือการทําเบอร์เกอร์เนื้อมนุษย์จากพืชที่แสนอร่อย 

แคมเปญดังกล่าวเป็นหนึ่งในกว่า 1,900 ผลงานที่ได้รับรางวัล Silver Prize จากเทศกาล Cannes Lions International Festival of Creativity ซึ่งเป็นเทศกาลนานาชาติสําหรับวงการโฆษณาและงานด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยแคมเปญดังกล่าวได้รับรางวัลในสาขาแบรนด์ที่สร้างสรรค์ประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของลูกค้า (Brand Experience & Activation) 

ทั้งนี้ตัวเบอร์เกอร์เนื้อมนุษย์ทําด้วยผลิตภัณฑ์จากพืช ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง เห็ด และโปรตีนข้าวสาลี รวมถึง ไขมันจากพืช เครื่องเทศและส่วนผสมลึกลับ แน่นอนว่าไม่มีมนุษย์คนใดได้รับบาดเจ็บจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้

อย่างที่คุณรู้ว่าเบอร์เกอร์นี้ผลิตจากพืช แต่ถึงเวลาหรือยังที่คุณจะเปลี่ยนจากน้ำผักปั่นสุดชืดมาลิ้มลองเทรนด์อาหารสุขภาพรสชาติเนื้อมนุษย์กัน

อ้างอิง