เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนและคนทำงานอิสระจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินประโยครณรงค์ขึงขังหนักแน่นที่ว่า “การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน” โดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาลเปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีกันทุกๆ ปี
เวลาได้ยินประโยคนี้ ในความคิดใครหลายคนอาจมองเห็นภาพเงินปลิวหายไปจากกระเป๋า แต่ก็ต้องยอมทำตามเพราะไม่อยากเป็นพลเมืองผู้กระทำผิดกฎหมาย
ในความเป็นจริง การวางแผนจัดการภาษีจะช่วยลดรายจ่ายส่วนนี้ไปได้จำนวนหนึ่ง เพียงแต่หลายคนยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลหรือเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง
คำนวณภาษีจาก ‘เงินได้สุทธิ’ อย่าลืมหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค
พลเมืองไทยกลุ่มหนึ่งที่ต้องเสียภาษีอย่างแน่นอน คือ คนที่มีเงินได้สุทธิในแต่ละปีรวมกัน ‘มากกว่า’ 150,000 บาท ไปจนถึงมากกว่า 5 ล้านบาท โดยมีอัตราการจ่ายภาษีที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 5 – 35 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้ และเป็นที่มาของคำว่า ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’
แล้วเงินได้สุทธิคืออะไร?
ข้อมูลในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่ามันคือรายได้ต่อปีทั้งหมดของเรา ที่มาจาก 2 แหล่งหลักๆ ได้แก่ รายได้จากการทำงาน และรายได้จากสินทรัพย์ จากนั้นจึงจะนำมาหักค่าใช้จ่าย, ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค
ด้วยเหตุนี้จึงมีปัจจัย 3 ประการที่เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงจนเกินความจำเป็นในชีวิต หรือกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับ เพราะถ้าหักค่าต่างๆ ทั้ง 3 อย่างที่ว่ามาข้างต้นนั่นแล้ว เงินที่เหลือถึงจะเป็น ‘เงินได้สุทธิ’ ที่จะนำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณอัตราภาษี
(เงินได้สุทธิของเราอยู่ในเกณฑ์จ่ายภาษีอัตราไหน ดูรายละเอียดได้ที่: https://bit.ly/3q5N4ME)
จ่ายไปเท่าไร ก็มีทาง ‘ได้’ กลับคืนมาเช่นกัน
สิ่งที่ผู้เสียภาษีควรรู้ คือ การหัก ‘ค่าใช้จ่าย’ จะช่วยให้ตัวเลขรายได้จริงลดลง และจะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลงด้วย ทั้งยังเป็นคนละเรื่องกับการเลี่ยงภาษี แต่รายได้ประเภทต่างๆ จะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน โดยเงินเดือนที่เป็นรายได้จากการจ้างงานหรือตำแหน่งหน้าที่ จะหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับรายได้จาก ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ แต่รายได้จากดอกผล เช่น เงินปันผลหรือดอกเบี้ยไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
ส่วนรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่าทรัพย์สิน, รายได้จากการรับเหมา, รายได้จากการประกอบธุรกิจ และรายได้จากอาชีพอิสระ 6 อาชีพ (แพทย์ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี และจิตรกร) ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไป โดยจะอยู่ระหว่าง 30 – 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมี ‘ค่าลดหย่อน’ ที่นำมาหักจากรายได้จริงได้อีก ประกอบด้วย ค่าฝากครรภ์หรือคลอดบุตร, ค่าอุปการะพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ค่าอุปการะผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ, เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส, เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของผู้มีเงินได้และคู่สมรส, เบี้ยประกันสุขภาพผู้มีเงินได้ ตลอดจนเงินสะสมและเงินลงทุนที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการลงทุนต่างๆ
อันดับสุดท้าย คือ ‘เงินบริจาค’ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการศึกษาหรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ จะหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่าย แต่ก็ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ไปแล้ว
สรุปคือปัจจัยทั้ง 3 อย่างที่ว่ามา จะทำให้เรา ‘ขอคืนเงิน’ ได้บางส่วนตอนที่ยื่นแบบภาษีประจำปี
แม้จะดูแล้วชวนปวดหัวอยู่บ้าง แต่การยื่นแบบภาษีและการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเสียภาษีในปัจจุบันก็ถูกปรับปรุงให้ทันโลกทันเหตุการณ์ขึ้นมาก คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปสถานที่ราชการ แต่เข้าไปดูข้อมูลทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/548.html
หันมาใส่ใจตัวเลขชวนตาลายกันสักนิด เพราะผลที่ได้คืนมาอาจช่วยต่อชีวิตใครหลายคนได้
ปีนี้ฉันจะรวย แคมเปญที่พาทุกคนรวย (ความรู้) กับข้อมูลทางการเงินที่จับต้องได้และครบครัน ทั้งรูปแบบบทความ อินโฟฯ และวิดีโอ อย่าให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องน่ากลัว อยู่กับเงินด้วยความรู้ความเข้าใจ หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป มาเตรียมตัวรวยไปด้วยกัน! มาติดตามเนื้อหาอื่นๆ ในแคมเปญปีนี้ฉันจะรวยได้ที่: https://www.brandthink.me/campaign/pi-ni-chan-cha-ruai
อ้างอิง
- SET. รู้ประเภทของเงินได้. https://bit.ly/3mG3fOO
- SET. รู้จักเงินได้ รู้จ่ายภาษี. https://bit.ly/3wg9BYd
- SET. ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง. https://bit.ly/3CK6wlL
- SET Investnow. วางแผนการเงิน. เทคนิควางแผนภาษี ให้มีเงินเหลือเก็บ. https://bit.ly/2ZSOe3e