จาก ‘แหล่งเครื่องนอน’ ถึง ‘ร่างทองของพระ-เจ้า’ รู้จัก ‘ตลาดปีนัง’ ตลาดสำคัญย่านคลองเตย ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการค้าระหว่างไทยกับมาเลย์

5 Min
774 Views
13 Mar 2024

ถ้าจะกล่าวถึงย่านสำคัญที่มีความเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร หลายคนอาจจะนึกถึงย่านต่างๆ ในฝั่งธนบุรีหรือจะเป็นย่านพระนคร บริเวณพระบรมมหาราชวัง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ยังมีอีกหนึ่งย่านที่มีความสำคัญและเก่าแก่ที่ใครหลายคนอาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือย่านคลองเตยที่ว่ากันว่าสามารถย้อนอายุถึงสมัยอยุธยาตอนต้น กลับไปประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 เลยทีเดียว 

พื้นที่ในปัจจุบันที่เป็นเขตคลองเตยเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองปากน้ำพระประแดง’ (ที่ไม่ใช่ พระประแดง ของสมุทรปราการ) โดยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของแม่น้ำก่อนจะถึงเมืองอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ด้านในของแม่น้ำ

สันนิษฐานว่า เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่คาบเกี่ยวระหว่างช่วงขอมเรืองอำนาจกับร่องรอยของอารยธรรมจากกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีการพบหลักฐานร่องรอยของวัดโบราณ 4-5 แห่ง อย่างวัดหน้าพระธาตุ, วัดไก่เตี้ย, วัดเงิน, วัดทอง และวัดสะพานพระโขนง ต่อมาคาดว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมืองนี้ถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง จนกระทั่งในปี 2480 มีการสร้างท่าเรือกรุงเทพขึ้น 

นั่นทำให้เกิดการอพยพเข้ามาของแรงงานจำนวนมากเพื่อรับจ้างก่อสร้าง และลงหลักปักฐานถาวรเมื่อท่าเรือแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงปี พ.. 2510-2530 ชุมชนแห่งนี้จึงขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในที่สุด และพื้นที่ส่วนนี้ก็ได้รับการขนานนามว่าชุมชนคลองเตย 

ในปัจจุบันคลองเตยได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ด้วยการเป็นที่ตั้งของตลาดสำคัญถึงสองแห่ง อย่างตลาดคลองเตยและตลาดปีนังโดยแห่งแรกเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลที่มีความสด สะอาด คนกรุงสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขับรถไปจังหวัดติดทะเล ในขณะที่ตลาดแห่งที่สองนั้นกลับขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งขายสินค้าที่นำเข้าจากจีน มาเลเซีย และสินค้าจากภาคใต้ของประเทศไทย 

ตลาดปีนัง (ไทย)

จากข้อมูลของโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครตลาดปีนังถือเป็นตลาดเก่าแก่ของเขตคลองเตย โดยเริ่มแรกเป็นตลาดที่พ่อค้าแม่ขายใช้ขายของแบบหาบเร่เท่านั้น จนกระทั่งมีการตัดถนนใน พ.. 2516 ทำให้มีการโยกย้ายเข้ามาของพ่อค้าแม่ค้าหลายรายที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนในซอย เรียกว่าชุมชนปีนัง 

และแม้จะมีบันทึกที่มาที่ไปของตลาดปีนังแห่งนี้อยู่ไม่มาก แต่ชื่อปีนังคงเป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกได้ว่า ตลาดดังกล่าวมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับเมืองปีนังของประเทศมาเลเซีย ซึ่งตามคำบอกเล่าของพ่อค้าแม่ขายในท้องที่พบว่า ชื่อปีนังอาจมาจากการที่สินค้าของตลาดส่วนใหญ่ในอดีต นำเข้ามาจากมาเลเซีย โดยผ่านเกาะปีนังที่เมืองท่าสำคัญในรัฐเคดะห์ ที่อดีตเคยเป็นอาณานิคมของสยามและอังกฤษ ทั้งยังเป็นสถานีการค้าแห่งแรกของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู ก่อนนำเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยแล้วมาหยุดที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสินค้าที่มีชื่อเสียงมาแต่อดีตของชุมชนนี้ ได้แก่ ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ขนมและอาหารจากภาคใต้ ที่ชาวบ้านเรียกว่าขนมปักษ์ใต้เครื่องสำอาง รวมไปถึง เทวรูปและตุ๊กตาจีน ที่เรียกว่ากิมซิ้นซึ่งในปัจจุบัน ตลาดปีนังถือเป็นแหล่งขายกิมซิ้นที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร

กิมซิ้นคืออะไร?

กิมซิ้นเป็นคำจีนสำเนียงฮกเกี้ยน ใช้เรียกเทวรูปตามความเชื่อของชาวจีน โดยประกอบขึ้นจากคำสองคำได้แก่คำว่ากิมที่แปลว่า ทอง และซิ้นที่แปลว่า ร่างกาย ทำให้รวมๆ แล้วกิมซิ้นจึงมีความหมายว่าร่างทองหรือ ร่างเสมือนของเทพเจ้าปัทมาสน์ พิณนุกูลได้ให้ความหมายของกิมซิ้นไว้ในงานวิจัยเรื่องกระบวนการสร้างตัวหมาย และการให้ความหมายของกิมซิ้น ประติมากรรมรูปเคารพในพื้นที่พิธีกรรมว่ากิมซิ้นเป็นวัตถุมงคลในรูปแบบประติมากรรม มีลักษณะเป็นสามมิติลอยตัว เกิดจากการแกะสลักไม้ การหล่อ และการปั้นจากวัสดุหลากหลายชนิด มีการประจุความหมายให้มีนัยของความเป็นเทพเจ้าจีนที่มีความทับซ้อนทางสัญญะ เป็นตัวหมายหรือตัวแทนขององค์เทพเจ้า กิมซิ้นองค์เทพแต่ละองค์มีที่มาจากเทพดั้งเดิมตามตำนาน เทพตามวรรณกรรมท้องถิ่น เทพที่เป็นพระ นักพรต บุคคลสำคัญ และเทพที่เป็นขุนศึกหรือขุนนางในยุคสมัยต่างๆ โดยไม่มีการแบ่งแยกศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อ ทั้งความเชื่อแบบพุทธศาสนานิกายมหายาน เต๋า ขงจื้อ และความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม

ปีนังศูนย์กลางกิมซิ้นที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร

กิมซิ้นที่ขายอยู่ในตลาดปีนังมีมากกว่า 10 ร้าน โดยในแรกเริ่มนั้น มีร้าน.เจริญ ปีนังเป็นร้านแรกที่เปิดขายอ้วน จิราพรผู้ปลุกปั้นร้าน ส.เจริญ ร่วมกับเจ้าของที่เป็นชาวจีน เล่าให้ฟังว่า ร้าน ส.เจริญเปิดมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยเธอเข้ามาทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดปีนังเพิ่งเริ่มสร้าง สมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยสินค้าที่นำเข้ามาจากภาคใต้ของประเทศไทย และสินค้าจากจีนที่นำเข้าจากปีนัง มาเลเซีย ซึ่งหลักๆ แล้วก็จะมีผ้าปูที่นอน ขนมต่างประเทศ อย่างอินทผลัมอบแห้ง เงาะกระป๋อง กิมซิ้นตุ๊กตาจีน รวมไปถึงเสื้อผ้าอีกประปราย

ซึ่งแต่ก่อนนั้นร้านรวงในตลาดปีนังเป็นร้านแบบขายกับพื้นเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเริ่มมีการสร้างโครงสร้างอาคาร แล้วแบ่งสรรปันส่วนตลาดออกเป็นล็อกๆ จึงทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้ามาจับจองพื้นที่จนกลายเป็นร้านรวงต่างๆ ในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับ ส.เจริญ ที่ก่อนหน้านั้นก็เป็นร้านที่วางขายพวกตุ๊กตาจีนกับกิมซิ้นกับพื้นเช่นเดียวกัน ทว่าด้วยความนิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบสะสมประติมากรรมกิมซิ้น จึงทำให้ร้าน ส.เจริญขยับขยายขึ้นมาเป็นอาคารพาณิชย์หลายชั้นอย่างทุกวันนี้ 

เมื่อถูกถามว่าอะไรคือจุดเด่นของตลาดปีนังในสายตาของคนนิยมกิมซิ้น คุณอ้วนก็ตอบว่า ถ้าพูดถึงอะไรที่ดูจีนๆหลายคนอาจจะนึกถึงเยาวราช แต่แท้ที่จริงนั้นที่ปีนังกลับเป็นแหล่งขายกิมซิ้นที่ใหญ่กว่าหลายเท่า และมีความครบครัน หลากหลาย มีทุกสี ทุกขนาด ทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็น พระที่แกะจากไม้ หล่อจากโลหะ หรือปั้นจากดิน นี่จึงทำให้หลายคนมุ่งหน้ามาที่นี่ จนมันกลายเป็นศูนย์กลางการค้าพระจีนของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย 

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมานี้ การค้าพระของตลาดปีนังก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเข้ามาของตลาดออนไลน์ ที่บังคับให้ร้านขายกิมซิ้นจำนวนไม่น้อยต้องหันไปทำการตลาดบนแพลตฟอร์มต่างๆ แทน ทว่าด้วยกระแสมูเตลูในปัจจุบันกลับทำให้เกิดฐานลูกค้าหน้าใหม่ อย่างกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนอกสนใจในเรื่องการไหว้เจ้า รวมไปถึงมีการศึกษาพุทธศาสนานิกายมหายาน จนทำให้กิมซิ้นของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

จากข้อมูลที่ได้มานั้น น่าจะสรุปได้ว่า ชุมชนตลาดปีนัง เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นในปี พ.. 2516 ซึ่งก็เป็นช่วงที่เขตคลองเตยของกรุงเทพฯ กำลังขยายตัวเพื่อรองรับกับการเข้ามาของผู้คน และแรงงานจากภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงนับได้ว่าปัจจุบันชุมชนตลาดคลองเตยแห่งนี้ มีอายุเกิน ครึ่งศตวรรษแล้ว ซึ่งนานพอที่จะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านรวงที่ทยอยปิดตัวไป และการเกิดขึ้นของผู้บริโภคหน้าใหม่ ที่คอยหล่อเลี้ยงให้ตลาดแห่งนี้ไปต่อได้ในโลกปัจจุบัน

อ้างอิง

  • ศิลปวัฒนธรรม.คลองเตยดินแดนอาถรรพ์ย้อนอดีตสำรวจชุมชนและผู้คนย่านคลองเตย.http://tinyurl.com/2ay6tf8t
  • สุมาลี สุขดานนท์.การครอบครองคาบสมุทรมลายูของมหาอำนาจตะวันตก.http://tinyurl.com/3bv4vc99
  • ปัทมาสน์ พิณนุกูล.กระบวนการสร้างตัวหมาย และการให้ความหมายของกิมซิ้น ประติมากรรมรูปเคารพในพื้นที่พิธีกรรม.http://tinyurl.com/bdurajss
  • โครงการจัดทำแผนที่แหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีขีวิต.ชื่อแหล่งวัฒนธรรม คหกรรมศิลป์ เขตคลองเตย: ตลาดคลองเตยตลาดปีนัง.http://tinyurl.com/bde9ezk6