2 Min

รื้อทิ้งกลางดึก ‘อนุสาวรีย์เหยื่อเทียนอันเหมิน’ หายไปจาก ม.ฮ่องกงอย่างเงียบๆ

2 Min
189 Views
10 Jan 2022

มหาวิทยาลัยฮ่องกงเคยเป็นที่ตั้งของ ‘เสาแห่งความอัปยศ’ (Pillar of Shame) อนุสาวรีย์ที่มีชื่อเสียงอันเป็นสัญลักษณ์ของเหยื่อในการสังหารหมู่ที่โหดร้ายที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยกองกำลังของรัฐบาลจีนเมื่อปี 1989 

แต่คืนวันพุธที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ดังกล่าวได้หายไปจากพื้นที่อย่างเงียบๆ

Pillar of Shame | BBC

อนุสาวรีย์ความสูงกว่า 8 เมตรแสดงให้เห็นร่างและใบหน้าอันเจ็บปวดทับซ้อนกันของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตที่ถูกสังหารที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เคยตั้งอยู่บริเวณข้างโรงอาหารของมหาวิทยาลัย และเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพซึ่งถูกแกะสลักโดยศิลปินชาวเดนมาร์กในปี 1997 หลังจากที่ฮ่องกงถูกอังกฤษส่งคืนให้จีนแผ่นดินใหญ่ 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงปิดเทอมฤดูหนาว และในวันพุธมีคนพบเห็นคนงานนำพลาสติกมาไล่คลุมพื้นที่ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายก็ถูกถอดออกและหายไปกับตู้คอนเทนเนอร์ ในวันต่อมาบริเวณดังกล่าวยังคงถูกปิดเอาไว้ด้วยพลาสติกและเครื่องกีดขวาง

ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้กล่าวว่าอนุสาวรีย์ถูกถอดถอนออกเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงทางกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรม โดยที่ไม่ได้มีการให้รายละเอียดมากนัก แต่ระบุว่าเสาดังกล่าวถูกนำไป ‘เก็บรักษา’ ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยขอคำแนะนำทางกฎหมายว่าควรทำอย่างไรต่อไป

Pillar of Shame | VICE

เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เกิดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในปี 1989 มีผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติหลายแสนคนรวมตัวกัน แต่ถูกปราบปรามโดยกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลจีน จนกลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้คนจำนวนมาก และไม่อาจระบุได้ว่าผู้เสียชีวิตมีจำนวนเท่าไรแน่ แต่คาดการณ์ว่ามีหลายพันคน และเหตุการณ์ที่โหดร้ายนั้นทำให้นานาชาติประณามการกระทำของรัฐบาลจีนอย่างมาก

นี่เป็นอนุสาวรีย์สาธารณะไม่กี่แห่งที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่ยังหลงเหลือในฮ่องกง ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ปิดกั้นข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนอย่างมากและถูกเซนเซอร์ไม่ให้มีการพูดถึงอย่างจริงจังในสื่อ เวทีสาธารณะ รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ

Pillar of Shame | voanews

ในขณะที่ประชาธิปไตยในฮ่องกงเองก็กำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2019 มีเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงที่ฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง และมีการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อปราบปรามชาวฮ่องกง และตอกย้ำนโยบาย ‘จีนเดียว’ เพื่อลบภาพ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ในสมัยที่ฮ่องกงเคยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงลากยาวมาถึงปัจจุบัน 

หลังจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ถูกบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2020 เป็นต้นมา สมาชิกฝ่ายค้านในสภานิติบัญญัติฮ่องกงและนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากถูกถอดถอน จับกุม และต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลฮ่องกงยังประกาศห้ามจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยรัฐบาลอ้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่าเจ้าหน้าที่ห้ามเนื่องจากเหตุผลทางประชาธิปไตย

อ้างอิง