Photobook สุดเศร้า ภาพสุดท้ายของน้องหมาญี่ปุ่นที่เจ้าของทิ้ง ก่อนเข้าห้องรมแก๊ส
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ “สะอาด” น่าจะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกซึ่งแน่นอนความสะอาดนี้ของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็มาจากวินัยของคนญี่ปุ่นเองที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับตรง ๆ อีกส่วนก็เกิดจากมาตรการของรัฐ และมาตรการหนึ่งที่ญี่ปุ่นทำเด็ดขาดมากก็คือการ “จัดการ” กับหมาจรจัด
เราไปญี่ปุ่น เราไม่เคยเห็นหมาจรจัดใช่มั้ยครับ? เห็นแบบนี้เราอาจพาลคิดว่าคนญี่ปุ่นไม่ทิ้งหมา แต่ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นทิ้งหมากันมากมายมหาศาล ซึ่ง “ทิ้ง” ในที่นี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทิ้งกันข้างถนน แต่เอาไปให้สถานพักพิงโดยตรงเลย (สมเป็นญี่ปุ่น จะทิ้งหมายังทำอย่างเป็นระเบียบ)
หรือถึงแม้ว่าหมาบางส่วนก็ถูกทิ้งข้างถนนจริง แต่ไม่นานก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปจับจากข้างถนนมาสถานพักพิงอย่างรวดเร็วอยู่ดี เราจึงไม่เห็นหมาจรจัดในญี่ปุ่นเลย และจากสถานพักพิงนั้นน้องหมาก็ต้องรอคนมาอุปการะหรือรับไปเลี้ยง
คำถามคือ ถ้าไม่ได้รับการอุปการะชะตากรรมน้องหมาจะเป็นอย่างไร? คำตอบคือ
ถ้าอยู่มานานแล้วไม่มีคนรับอุปการะ ปลายทางก็คือห้องรมแก๊ส หรือถูกสถานอุปการะเอาไปทำ “การุณยฆาต”
เราอาจมองว่านี่เป็นสิ่งที่โหดร้ายและป่าเถื่อน แต่ในความเป็นจริงนี่ก็เป็นมาตรฐานโลก เพราะประเทศเจริญแล้วเขาจะจัดการเอาหมาข้างถนนไปเข้าสถานพักพิงรอคนอุปการะหมด แต่สถานพักพิงก็มีทั้งเนื้อที่และงบจำกัดพูดง่าย ๆ คือไม่สามารถรับหมาเข้ามาได้เรื่อย ๆ ดังนั้นหมาที่อยู่มาก่อน อยู่มานาน และไม่มีคนอุปการะไปสักทีก็ต้อง “เสียสละพื้นที่” ในสถานอุปการะให้น้องหมาตัวใหม่ ๆ ที่เข้ามาภายหลัง และการเสียสละที่ว่าก็คือต้องถูกสถานพักพิงจับไปทำ “การุณยฆาต” นั่นเอง
ในแง่นี้ญี่ปุ่นก็ “จัดการ” หมาจรจัดตามมาตรฐานสากลอยู่ แต่สิ่งที่ต่างคือ โดยทั่วไปในโลกอัตราการอุปการะน้องหมาจากสถานพักพิงมักจะสูงเกิน 50% (ชาติตะวันตกอัตราอุปการะ 60-70% เป็นปกติ ขนาดจีนยัง 40% เลย) แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นโอกาสที่คนจะรับไปอุปการะมีแค่ราว ๆ 10% เท่านั้น
ซึ่งต่ำมาก ๆ และนี่ทำให้น้องหมาที่เข้าสถานพักพิงมีโอกาสตายราว ๆ 9 ใน 10 และนั่นทำให้มีหมาที่ต้องถูกทำการุณยฆาตจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุให้ทางญี่ปุ่นเลือกใช้วีธีการ “รมแก๊ส” ทีละหลายๆ ตัว ซึ่งต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ใช้วิธี “ฉีดยา” เพื่อทำการุณยฆาตเป็นตัว ๆ ไป
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่นิยมอุปการะหมาคงเป็นเรื่องที่ต้องถกกันยาว แต่ผลที่เกิดขึ้นของการไม่อุปการะหมา ก็คือปี ๆ หนึ่งมีน้องหมาญี่ปุ่นต้องถูกทำการุณยฆาติในห้องรมแก๊สเป็นจำนวนหลายแสนตัว
นี่เป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ และมันคือตัวเลขในมุมมืดของสังคมญี่ปุ่นที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยรู้ ซึ่งก็ไม่แปลกนัก เพราะคนญี่ปุ่นแม้แต่คนที่รักหมา ก็ไม่ได้แวะเวียนไปดูหมาตามสถานพักฟื้นเพื่อเอามาอุปการะอยู่แล้ว
ทั้งหมดทำให้สถานพักพื้นเหมือนหลุมดำที่ดูดกลืนชีวิตน้องหมา เพราะโอกาสรอดเพียง 10% นั้นก็หมายถึงในทางปฏิบัติก็คือน้องหมาส่วนใหญ่เข้าไปก็เพื่อรอวันตายเท่านั้นเอง
คนรู้เรื่องพวกนี้ทุกคนที่รักหมาก็คงสะเทือนใจ คนญี่ปุ่นก็เช่นกัน ทาง Sae Kodama ช่างภาพหญิงคนหนึ่งที่คลุกคลีกับสถานพักฟื้นหมาได้จัดทำนิทรรศการภาพถ่ายน้องหมาก่อนเข้าห้องรมแก๊ส มาตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดเธอได้รวมเอาภาพมาทำเป็น Photobook (ดูภาพบางส่วนได้ที่
http://bit.ly/2QTqV13)
ซึ่งดูไปก็น่าจะยิ่งสะเทือนใจ เพราะน้องหมาในภาพนั้นแม้ว่าจะดูหน้าจ๋อย ๆ กัน แต่ทุกตัวก็ยังดูสุขภาพดีไม่ได้เจ็บป่วยหรือพิการอะไรเลย หรือถ้าจะพูดให้มากกว่านั้น ส่วนใหญ่นี่อยู่เมืองไทยยังน่าจะเอามาขายแพง ๆ ได้เลย เพราะเป็นหมามีสายพันธุ์ดี ๆ ทั้งนั้น (ยังไม่นับว่า “นิสัย” ก็น่าจะดีมาก ๆ เพราะใครเคยเจอหมาที่ญี่ปุ่นตัวเป็น ๆ ก็คงเห็นว่าพวกน้อง ๆ เรียบร้อยกันมาก ไม่เห่าโวยวายเลย)
ทั้งหมดมันชวนให้เราคิดว่ามันเกิดบ้าอะไรขึ้น? คนญี่ปุ่นเลี้ยงหมากันง่ายเกินไปรึไง?
คำตอบคือเปล่าเลย เลี้ยงยากกว่าบ้านเราอีก คนญี่ปุ่นจะเลี้ยงหมาต้องไปลงทะเบียนกับเขตเพื่อจะทำบันทึกว่าใครเป็นเจ้าของ และออกตราที่ติดปลอกคอซึ่งสถานะเหมือนบัตรประชาชนของหมาพร้อมกันนั้นก็ต้อง “ฝังชิป” เพื่อน้องหมาหายจะได้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ น้องหมาที่ตายก็ต้องไปแจ้งเขต พูดง่าย ๆ คือมีการขึ้นทะเบียนคล้าย ๆ คนเลย หรือพูดอีกแบบ ในญี่ปุ่นเอาจริง ๆ ทางรัฐบาลรู้ว่าหมาทุกตัวเป็นของใคร
แต่ในความเป็นจริง ในหลาย ๆ เงื่อนไขคนญี่ปุ่นก็ต้องทิ้งหมา ไม่ว่าจะเป็นการจากบ้านนอกเข้าเมืองมาทำงานแล้วอยู่ห้องเล็ก ๆ เลี้ยงหมาไม่ได้ จนถึงเหตุสุดวิสัยในกรณีที่คนแก่ ๆ เลี้ยงหมาแล้วดันป่วยเลี้ยงต่อไม่ไหว หรือกระทั่งตายแล้วไม่มีใครรับหมาไปเลี้ยงต่อ ซึ่งเข้าใจว่าเคสหลัง ๆ นี้เยอะด้วยเพราะญี่ปุ่นมีคนแก่มากมายมหาศาล และคนแก่ญี่ปุนจำนวนมากก็เลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อน และก็มักจะตายก่อนหมาตลอด และสถานพักพิงก็ต้องรับไป “ดูแล” ต่อ ซึ่งหมาแก่ ๆ เข้าสถานพักพิง โอกาสรอดแทบจะเป็น 0% เพราะคนอุปการะที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็ไม่มีใครอยากรับหมาแก่ ๆ ไปเลี้ยง
กล่าวอีกแบบหนึ่ง ถึงตัวเลขจะเยอะแบบต้องการุณยฆาตปีละเป็นแสนตัว แต่สังคมญี่ปุ่นก็ “ทำดีที่สุดแล้ว” ในแง่ที่ว่าสร้างมาตรการให้คนพร้อมจริง ๆ ถึงจะเลี้ยงหมาได้ หมาข้างถนนที่แพร่พันธุ์ไปเรื่อยจนต้องจัดการก็ไม่มี และหมาแทบทั้งหมดที่อยู่ในสถานพักพิงก็คือหมาที่เจ้าของเลี้ยงไม่ไหวแล้วเอาไปส่งด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเจ้าของจะรู้มั้ยว่านั่งคือการส่งน้องไปสู่ความตายเพราะมันไม่มีใครรับอุปการะกันเท่าไรหรอกในสังคมญี่ปุ่น
แล้วอะไรคือทางแก้ที่เป็นไปได้ที่มากกว่านี้? คำตอบพื้นฐานมีสองทางคือ
- หนึ่งหาทางเพิ่มงบให้สถานพักฟื้นเพื่อรองรับหมาได้มากกว่านี้ เพื่อจะได้ต้องทำการุณยฆาตน้อยลง
- สองคือหาทางทำให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนคติเรื่องการเลี้ยงหมาและรับหมาไปอุปการะมากกว่านี้
ซึ่งสองทางนี้ในทางปฏิบัติแทบจะขัดกัน เพราะแนวทางแรก คนเสนอว่าควรจะเก็บภาษีคนเลี้ยงหมาเป็นรายปี (ซึ่งหลายประเทศทำกัน แต่ญี่ปุ่นไม่ทำ) เพื่อเอาเงินมาให้พวกสถานพักฟื้น แน่นอนว่าในทางเทคนิคทำได้แน่ ๆ เพราะญี่ปุ่นรู้ว่าหมาทุกตัวในประเทศอยู่บ้านไหน ใครเป็นเจ้าของ จะเก็บภาษีไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้าจะเก็บ แต่การทำแบบนี้ก็เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนในการเลี้ยงน้องหมา และผลก็คือก็ยิ่งน่าจะทำให้คนตัดสินใจรับน้องหมาจากสถานพักพิงไปอุปการะต่ำลงอีก จากที่ต่ำอยู่แล้ว
กล่าวคือญี่ปุ่นก็คงต้องเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และไม่ต้องทำการุณยฆาตหมากันปีละเป็นแสน ๆ ตัวแบบที่เป็นอยู่นี้
แต่ระหว่างนี้ เราก็คงต้องดู Photobook จากนิทรรศการสุดเศร้าต่อไปเรื่อย ๆ และก็น่าจะอีกนานกว่าอะไร ๆ
จะเปลี่ยนไป
อ้างอิง
- Photobook on senior dogs prior to euthanasia warns irresponsible owners in Japan. http://bit.ly/2url1wp