คุณเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร? แม้ว่าสิ่งนี้จะมีหลายชื่อในภาษาไทย แต่ชื่อสากลมันคือ ‘ไขควงฟิลลิปส์’ แต่รู้ไหมว่านาย ‘ฟิลลิปส์’ ก็ไม่ใช่คนที่สร้างไขควงนี้นะ

3 Min
256 Views
12 Jun 2024

ในภาษาไทย สิ่งที่บางคนเรียกว่าไขควงหัวแฉก บางคนก็เรียกว่า ‘ซากุไร’ บางคนก็เรียกว่า ‘ไขควงปากแฉก’ บางคนก็มีชื่อเรียกอื่นๆ ซึ่งนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ช่างที่มีชื่อเยอะและชวนสับสนที่สุดอย่างหนึ่ง

แต่รู้ไหมว่าในภาษาอังกฤษ อุปกรณ์ชนิดนี้มีชื่อสากลว่า ‘Philips screwdriver’ และจริงๆ ที่มามันก็น่าสนใจอยู่

ในอดีต แม้ว่าสกรูว์จะเป็นอุปกรณ์ช่างมาช้านาน แต่สกูรว์ที่ใช้มันเป็นแบบ ‘หัวบาก’ หรือหัวแบบที่เป็นเส้นเดียวทั้งหมด และมนุษย์ก็ใช้ สกูรว์แบบนี้มาได้แบบไม่มีปัญหาอะไร โดยใช้หัวไขควงหัวบากหรือไขควงปากแบน

พอเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เมื่อมีการประกอบสิ่งต่างๆ ด้วยเครื่องจักร การไขสกูรว์แบบหัวบาก เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามากเวลาให้เครื่องจักรไขสกูรว์ มันต้องการเครื่องจักรที่แม่นยำมากๆ ให้ปักไขควงและหมุนไขได้ตรงกลางพอดี เพราะถ้าเบี้ยวไปนิด มันก็จะไขสกูรว์เข้าไม่ตรง หรือถ้าไม่เป็นแบบนั้น เวลาเครื่องจักรหมุนไปไขไปแบบไม่ตรง สกูรว์ก็อาจหลุดไปเลย

ก็เลยมีคนเริ่มคิดว่า ถ้ามีสกรูว์ที่จะช่วยลดความผิดพลาดในการไขของเครื่องจักรได้ ก็น่าจะดี และนี่ก็เลยทำให้ จอห์น พี. ธอมป์สัน (John P. Thompson) คิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็คือ ‘สกรูว์หัวแฉก’ เพราะหัวที่เป็นแฉกจะช่วยในการล็อกองศาเวลาไขสกูรว์เข้าไป ทำให้ไขได้แม่นยำขึ้น

ไอเดียของธอมป์สันบรรเจิดมาก แต่พอเขาเอา ‘สิทธิบัตร’ นี้ไปขายบริษัทผลิตสกูรว์ต่างๆ ทุกบริษัทก็บอกว่ามันผลิตไม่ได้ ทุกเจ้าอ้างว่าถ้าตอกสกูรว์ให้หัวแฉก หัวมันจะแตก ดังนั้นจึงทำไม่ได้

ธอมป์สันยอมแพ้ในที่สุด และสุดท้ายเขาขายสิทธิบัตรนี้ให้เพื่อนของเขาอย่าง เฮนรี เอฟ. ฟิลลิปส์ (Henry F. Phillips) ในปี 1935 

เรื่องหลังจากนี้คงเดาไม่ยาก ฟิลลิปส์นำไอเดียของธอมป์สันไปประยุกต์ออกแบบใหม่ให้ทำการผลิตง่ายขึ้น และสุดท้ายก็ไปดีลกับบริษัทผลิตสกูรว์รายใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกาได้ และผลิตภัณฑ์ ‘สกูรว์ฟิลลิปส์’ และ ‘ไขควงฟิลลิปส์’ ก็มีขายในท้องตลาดเป็นครั้งแรกในปี 1936 โดยยุคแรกความหมายของไขควงฟิลลิปส์ หมายถึงไขควงที่ผลิตมาภายใต้สิทธิบัตรของบริษัท Phillips ที่เฮนรี เอฟ. ฟิลลิปส์ ตั้งขึ้นนี่เอง (ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ที่ชื่อซ้ำกัน แต่เราจะคุ้นชื่อกว่า) โดยอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ในการประกอบสินค้าก็คือพวกอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากๆ ในอเมริกาสมัยโน้น

หลังจากนั้นไม่นาน โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เรียกได้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของอเมริกาใช้สกูรว์ฟิลลิปส์และไขควงฟิลลิปส์ ในการประกอบเข้าด้วยกันหมด เพราะมันเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาก และก็คงไม่ต้องบอกว่า ‘เจ้าของสิทธิบัตร’ ในตอนนั้นจะรับทรัพย์ไปมากแค่ไหน กับเทคโนโลยีเล็กๆ ที่เปลี่ยนโลกไปอย่างเงียบๆ

ในทศวรรษ 1950  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบมาพักใหญ่ และสิทธิบัตรของสกูรว์ฟิลลิปส์และไขควงฟิลลิปส์ก็หมดอายุแล้วในทุกที่ในโลก เทคโนโลยีนี้ก็เลยเป็นสมบัติของมนุษยชาติที่ใครจะผลิตก็ได้แบบไม่ต้องกลัวละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใคร ก็เลยทำให้ ทั้งสกูรว์ฟิลลิปส์ และ ไขควงฟิลลิปส์ แพร่กระจายไปทั่วโลกจนเป็นมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมทั่วโลกไป

แต่ก็นั่นเอง ชื่อของผู้ผลิตรายแรกก็ยังคงค้างอยู่เพื่อจารึกเอาไว้ว่า ใครคือคนแรกที่สามารถผลักดันนวัตกรรมเปลี่ยนโลกชิ้นนี้ออกสู่ท้องตลาดได้สำเร็จ

และนี่แหละ ที่มาของชื่อ ‘ไขควงฟิลลิปส์’ 

ถ้าเรื่องนี้จะสอนอะไร มันก็อาจสอนว่า การเป็นผู้คิดค้นอะไรออกมา เราอาจถูกหลงลืมไปในประวัติศาสตร์ก็ได้ ถ้าเราไม่สามารถทำให้ผู้คนใช้นวัตกรรมของเรา เพราะในปัจจุบัน ถ้าพูดถึง ‘ไขควงฟิลลิปส์’ แล้ว ชื่อของผู้คิดค้นตัวจริงอย่าง จอห์น พี. ธอมป์สัน ก็เป็นเพียงเชิงอรรถเล็กๆ ในประวัติของเฮนรี เอฟ. ฟิลลิปส์ เท่านั้น เพราะโลกไม่ได้จดจำคนที่คิดเทคโนโลยีมากเท่ากับคนที่ ‘แจ้งเกิด’ ให้เทคโนโลยี

อ้างอิง