PERFECTIONIST เมื่อความต้องการที่จะ ‘สมบูรณ์แบบ’ กำลังฆ่าเราอย่างช้าช้า

3 Min
2958 Views
30 Jul 2020

มีหลากหลายงานวิจัยยืนยันตรงกันว่า ความเครียดและอัตราอาการซึมเศร้ามีตัวเลขสูงขึ้นในทุกปี โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ระบุว่าผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาวะซึมเศร้ามากถึง 264 ล้านคน ยังไม่นับตัวเลขของการฆ่าตัวตายที่ดูเหมือนจะมีตัวเลขสูงขึ้น ในทุก 40 วินาทีจะมีการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น 1 ครั้ง โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลักของการตาย ผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า แต่กลับกลายเป็นผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตาย

ด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรนัก ที่คนเราจะเครียดและกดดันจากเรื่องราวในสังคม บางปัญหาก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราอาจยังไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน แต่บางอย่าง แค่เราลองเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแว่นตาที่สวมมองดูชีวิตสักนิด ชีวิตก็อาจจะดีขึ้นมาได้ จะดีกว่าไหมถ้าคุณจะลดมาตรฐานของคุณลงมาบ้าง ลดความคาดหวังลงมาอีกนิด และค่อย  เติบโตไปอย่างช้า  ไปตามฤดูกาลที่คนพึงผลิบานในแบบฉบับของตัวเอง

วันนี้เราจะชวนคุยกันเรื่อง Perfectionist ครับ กับคำว่า ‘สมบูรณ์แบบนิยม’ ผู้ที่ชื่นชอบ ผู้ที่แสวงหาหรือเสพติดความสมบูรณ์แบบ และเมื่อความสมบูรณ์แบบมันรัดแน่นจนเกิน จนใครบางคนอาจหายใจไม่ออก

(เนื้อหาในช่วงถัดไปของบนความ เราขออนุญาตเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Perfectionist นะครับ เพราะน่าจะเป็นคำที่เข้าใจง่ายและมีความหมายที่ตรงตัวกว่าการแปลออกมาเป็นคำศัพท์ภาษาไทย)

ความหมายของคำนี้ก็ตามชื่อเลยครับ คนกลุ่มนี้มักจะชอบอะไรที่สมบูรณ์แบบ เชื่อว่าสิ่งที่ดีคือสิ่งที่สมบูรณ์แบบ และพยายามแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่า ตัวเองนั้น ‘สมบูรณ์แบบ’ อีกด้วย แต่ประเด็นก็คือ ความต้องการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่สมบูรณ์แบบมันไม่ได้มีพลังในเชิงบวกเสมอไป ในหลายครั้งมันกลายเป็นอาการเจ็บป่วยทางจิต อย่างอาการซึมเศร้า อีกต่างหาก

ที่สำคัญใช่ว่า คนที่สมบูรณ์แบบ จะเป็นคนที่สมบูรณ์เสมอไป เพราะความรู้สึกกลัวที่จะไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละ จะทำให้เขาไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ และไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

ซึ่งก็ต้องขออธิบายต่อว่า บางบทความก็จะแบ่งเจ้า Perfectionist ไว้เป็นสองกลุ่มหลักครับ คือกลุ่มที่ปรับตัวได้ และกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ (Adaptive / Maladaptive) นั่นเอง

กลุ่มแรก กลุ่มที่ปรับตัวได้อาจจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะพวกเขาสามารถเติบโตไปสู่ความสมบูรณ์แบบได้ผ่านการเรียนรู้และปรับตัวจากข้อผิดพลาด มองปัญหาเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขาพัฒนาได้เอง

แต่สำหรับกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ อาจจะน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง เพราะมักจะกลัวความผิดพลาด กังวลในสิ่งที่ตัวเองทำเเละไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ รวมถึงคาดหวังผู้อื่นสูงอีกด้วย แน่นอนครับ ว่าชุดความคิดแบบนี้ สร้างโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาทางด้านจิตใจ ในเรื่องของแรงกดดันหรือสภาวะซึมเศร้า

หากจะมองในเรื่องของ Imposter Syndorm หรือ คนที่คิดว่าตัวเองเก่งไม่จริง กลุ่มสุ่มเสี่ยงที่มีอาการนี้ก็คือกลุ่ม Perfectionist มากที่สุดครับ คนกลุ่มนี้มักจะรู้สึกว่าความสำเร็จที่ตัวเองทำได้ ความสำเร็จที่ตัวเองสร้างได้นั้น เกิดจากการสนับสนุนของคนอื่น สำเร็จได้เพราะโชคช่วย และไม่ได้มากจากฝีมือของตัวเองสักเท่าไหร่

ซึ่งถ้าลองมองย้อนไปในพฤติกรรมของกลุ่ม Perfectionist ครับ เราจะพบเลยว่า คนกลุ่มนี้มักจะคาดหวังว่าทุกอย่างต้องเรียบร้อยทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งบางครั้งมันอาจไม่เป็นแบบนั้น มันอาจจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบ สุดท้ายก็จะรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่จริงเพราะไม่สามารถเป็นหรือทำแบบที่คาดหวังได้ 

และถ้าหากพูดถึงเรื่อง Perfectionist เราก็อยากชวนทุกคนมาลองสำรวจความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเองกันสักนิด ใจดีกับตัวเองบ้างไหมเมตตาตัวเองกันหรือเปล่ากับแนวคิดอย่าง Self-Compassion ครับ

ในบางครั้งเราก็ต้องเมตตาในความผิดพลาด ความล้มเหลว และความไม่สมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ และหากเราเริ่มเข้าใจในการเมตตาผู้อื่นได้ เราก็จะสามารถเมตตาตัวตนของเราได้เช่นกัน มันคือการพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จไม่ได้จำเป็นต้องเป็นการกดดันหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเสมอไป 

บางทีการเข้าใจและให้อภัยตัวเองอาจจะพาเราไปสู่ความพัฒนาที่ดีได้

สำหรับคำว่า Self-Compassion แล้ว เรามักจะต้องพูดถึงอีก 3 ประเด็นกันต่อ Self-kindness, common humanity, และ mindfulness หรือ การใจดีต่อตัวเอง การเข้าใจ และการมีสติ นั่นเอง

สุดท้ายนี้ครับ ชีวิตอาจจะเป็นอย่างที่ Dolly Parton นักร้องนักแต่งเพลงระดับตำนาน ว่าไว้ก็ได้ครับ

“If you want the rainbow, you gotta put up with the rain” 

ถ้าต้องการจะเห็นสายรุ้ง คุณจะต้องยอมอดทนกับสายฝนก่อน

กว่าที่เราจะสมบูรณ์แบบเราต่างก็ต้องบกพร่องหรือแตกหักก่อนมาก่อนเสมอ 

และท้ายที่สุดแล้ว ความสมบูรณ์แบบอาจจะไม่มีอยู่จริงเลยก็ได้

อ้างอิง :