3 Min

วิจัยชี้ คน ‘คล้าย’ กันแล้ว ไม่แคล้วเป็น ‘เนื้อคู่’ กัน

3 Min
4210 Views
21 Mar 2022

ในทางวิทยาศาสตร์การจับคู่กันแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ คือ ‘homogamy’ คือการจับคู่กันระหว่างคนสองคนที่มีปัจจัยหลายอย่างคล้ายกันหรือเหมือนกัน ส่วน ‘hererogamy’ คือการจับคู่ระหว่างคนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย และ ‘complementarity’ คือการจับคู่ระหว่างคนที่มีลักษณะเติมเต็มกันและกัน เช่น คนขี้อายคบกันชอบเข้าสังคม คนไม่ค่อยมีอารมณ์ขันคบกับคนตลก เป็นต้น

คำถามก็คือ ความสัมพันธ์แบบไหนที่ดึงดูดกันและกันมากที่สุด?

ในแง่มุมของงานวิจัย เฉลยเลยก็คือความเหมือนต่างหาก ที่ทำหน้าที่ดั่งเสน่ห์แรงระหว่างคนสองคนในความสัมพันธ์โรแมนติกมากที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับความต่างอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ทฤษฎีที่ว่าคนเรามักชอบคนที่ต่างจากตัวเองนั้นออกจะไม่ถูกต้องเสมอไป

เนื้อคู่กันแล้วไม่แคล้วเหมือนกัน

ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา มีนักสังคมศาสตร์ได้ทำวิจัยกว่า 240 ชิ้นเพื่อพยายามหาคำตอบว่าความเหมือนทั้งในแง่ของทัศนคติ ลักษณะนิสัย ความสนใจภายนอก คุณค่า และลักษณะร่วมอื่นๆ นั้นสามารถนำไปสู่ความดึงดูดได้หรือไม่ และในปี 2013 ‘แมทธิว มอนโทยา’ (Matthew Montoya) และโรเบริต์ ฮอร์ตัน’ (Robert Horton) สองนักจิตวิทยาก็ได้ร่วมกันศึกษาผลลัพธ์จากผลวิจัยเหล่านั้น (meta-analysis) และพวกเขาค้นพบว่าคนคล้ายกันย่อมสนใจกัน

ในภาษาวิทยาศาสตร์ การลงเอยกันระหว่างคนสองคนที่คล้ายคลึงกันนั้นจะเรียกว่า ‘assortative mating’ ซึ่งไว้ใช้อธิบายเวลาคนสองคนที่มีปัจจัยหลายอย่างคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ฐานะ และรวมถึงหน้าตามักจะจับคู่กัน

สรุปก็คือความเหมือนคือปัจจัยของความชอบและความชอบก็นำไปสู่การเลือกคนๆ นี้มาเป็นคู่ครองอีกที

แต่ความแตกต่างไม่ได้เติมเต็มหรือ?

คุณเคยได้ยินเรื่องราวความรักระหว่างคนสองคนที่แตกต่างแต่กลับเติมเต็มไหม? นึกภาพในซีรีส์ที่สาวเรียบร้อยหลงรักกับหนุ่มแบดบอย บางคนเลือกคนที่มีในสิ่งที่ตัวเองขาดมาเป็นคู่ครอง เพราะเชื่อว่าอีกฝ่ายจะสามารถเติมเต็มในสิ่งที่ตนไม่มี หรือช่วยเติมเต็มข้อดีข้อเสียให้กันและกัน

คำถามก็คือทฤษฎีคิดเหล่านั้นเป็นจริงแค่ไหน คนแตกต่างช่วยเติมเต็มให้กันได้จริงหรือ?

ในการค้นพบของแมทธิว ดี. จอหน์สัน (Matthewศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน ทฤษฎีนี้ไม่จริงเสมอไปเพราะเขาค้นพบว่าไม่มีผลวิจัยใดเลยที่ช่วยสนับสนุนว่าคนที่แตกต่างกัน ทั้งทางบุคลิกภาพ ความสนใจ การศึกษา ทัศนคติทางการเมือง พื้นฐานการถูกเลี้ยงดูมา และทางด้านปัจจัยอื่นๆ จะดึงดูดเข้าหากัน

กลับกันผลวิจัยกลับยืนยันในเรื่องเดิม นั่นคือบอกว่าความเหมือนสิถึงใช่

ตัวอย่างผลวิจัยจาก Journal of Personality and Social Psychology ปี 2003 ก็ค้นพบว่าในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยมักจะเลือกแฟนที่บรรยายข้อมูลส่วนตัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเอง หรือไม่ก็มีลักษณะเป็นคนในแบบที่ตัวเองอยากเป็น มากกว่าจะเลือกคนลักษณะที่มีในสิ่งที่ตนไม่มี หรืออีกผลวิจัยหนึ่งจากปี 1998 ก็ค้นพบคล้ายๆ กัน เช่น ค้นพบว่าคนที่ชอบเข้าสังคม (extrovert) ไม่ได้ดึงดูดกับคนเก็บตัว (introvert) มากไปกว่าคนประเภทอื่นๆ

แต่ถ้าคุณสังเกตดู จะพบว่าในสังคมก็ยังมีคู่รักที่แตกต่างแต่ลงเอยมีความสุขกันได้ หรือไม่ก็แตกต่างแต่ก็ยังครองรักกันได้นาน เพราะอะไร?

เรื่องนี้พอมีคำอธิบายอยู่บ้าง

แตกต่างแต่อย่างดี

แอนดริว คริสเทนเซน (Andrew Christensen) ไบรอัน ดอสส์ (Brian Doss) และ นีล ยาคอบสัน (Neil Jacobson) สามนักจิตวิทยาที่ช่วยกันเขียนหนังสือเรื่อง Reconcilable Differences หรือแตกต่างอย่างปรองดองอธิบายไว้ว่า จริงๆ คู่รักก็ลงเอยกันเพราะเหมือนกันนี่ล่ะ แต่เวลาจะช่วยเกลาความต่างของคนสองคนขึ้นมาให้เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ทั้งคู่ได้ทำหน้าที่เติมเต็มกันและกันในความสัมพันธ์อีกที ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลวิจัยจากปี 2005 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSF)

ตัวอย่างเช่น คู่รักคู่หนึ่งเป็นคนที่คล้ายๆ กัน แต่มีอีกฝ่ายที่จะตลกกว่าอีกฝ่ายนิดนึงเมื่ออยู่ด้วยกันไปนานๆ ความตลกของอีกฝ่ายก็จะดูโดดเด่นในความสัมพันธ์ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจ้าตัวต้องรับบทเป็นคนโปกฮา ส่วนอีกฝั่ง ในทางตรงข้าม ความจริงจังก็จะเด่นขึ้นเพราะตัวเองต้องรับบทขั้วตรงข้าม

เรื่องนี้จึงกลับมาสรุปได้เช่นเดิมว่าความเหมือนนั้นแสนจะดึงดูดด้วยปัจจัยสนับสนุนมากมาย ส่วนความคิดที่เชื่อว่าความแตกต่างดึงดูดให้คนลงเอยกัน อาจจะมาจากภาพคู่รักที่เป็นตัวอย่างของทฤษฎีที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไปคู่รักจะหาหนทางพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อเติมเต็มกันและกันในความสัมพันธ์นั่นเอง

เหล่านี้ก็เป็นเพียงผลวิจัยที่ช่วยอธิบายความสัมพันธ์บางส่วน ลองกลับมาส่องโลกความเป็นจริงด้วยการย้อนกลับมาดูคู่ของคุณ และประสบการณ์ที่ผ่านมากันดีกว่า

พวกคุณลงเอยกันเพราะอะไรเพราะเหมือนหรือเพราะต่างกันล่ะ?

อ้างอิง

  • The Conversation. No, opposites do not attract. https://bit.ly/35rXEpi
  • SAGE journal. Do People Know What They Want: A Similar or Complementary Partner. https://bit.ly/3hAAoYT
  • SAGE journal. Unique Matching Patterns in Remarriage: Educational Assortative Mating Among Divorced Men and Women. https://bit.ly/3KeF6Yr
  • SAGE journal. Partner Selection for Personality Characteristics: A Couple-Centered Approach. https://bit.ly/3tojWQS
  • APA PsycNet. Interpersonal attraction and personality: What is attractive–self similarity, ideal similarity, complementarity or attachment security? . https://bit.ly/3Cl44Tq
  • Wiley Online Library. When does performance feedback prompt complementarity in romantic relationships? . https://bit.ly/3hABX8X