สำรวจหนังสือเลี้ยงลูกเกือบร้อยปี อดีตเชื่อ ‘รักลูก ให้ปล่อยลูก’ แต่พ่อแม่สมัยนี้ให้อิสระลูกไม่เท่าสมัยก่อน?
‘รอโตก่อน ค่อยทำ’ เราเชื่อว่าหลายๆ คนอาจเคยเจอประโยคนี้สมัยตัวเองเด็กๆ
เมื่อพูดถึง ‘การเลี้ยงลูก’ เทียบอดีตกับปัจจุบัน หลายๆ คนอาจคิดว่าพ่อแม่สมัยก่อนเข้มงวดกว่าพ่อแม่สมัยนี้ และตีไปว่ายิ่งเข้าสู่สมัยใหม่เท่าไหร่ การเลี้ยงลูกยิ่งเต็มไปด้วยอิสระมากขึ้น
แต่มีนักเขียนคนหนึ่งที่ลงทุนไปค้นคว้าคำแนะนำการเลี้ยงลูกกองโตจากอดีตสู่ปัจจุบันเกือบร้อยปี จนค้นพบความจริงที่อาจฟังดูน่าแปลกใจสำหรับหลายๆ คนว่า – ไม่ พ่อแม่สมัยก่อนอาจไม่ได้เข้มงวดมากๆ อย่างที่เราบางคนอาจเชื่อ…
‘มาร์เคลลา รูทเธอร์ฟอร์ด’ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์จาก Wellesley College ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Adult Supervision Required ได้ค้นคว้าศึกษาบทความแนะนำการเลี้ยงลูกจากนิตยสารยอดนิยมของคนอเมริกัน เช่น นิตยสาร Parents และ Good Housekeeping จำนวนกว่า 565 บทความ จากต้นยุคศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21
และเธอค้นพบว่า การเลี้ยงดูลูกในอดีตให้ความสำคัญเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ของลูกมากกว่าสมัยนี้ซะอีก!
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เรามาดูความจริงที่ซ่อนอยู่ในคู่มือเลี้ยงลูก ที่มาร์เคลลาค้นพบกันดีกว่า
รักวัวให้ผูก แต่รักลูกให้ปล่อย?
จากการค้นพบของมาร์เคลลา พ่อแม่อเมริกันก่อนยุค 1970’s มีความกล้าและหัวก้าวหน้าในเรื่องการ ‘ปล่อยลูก’ มากทีเดียว และบางทีก็อาจมากจนน่าตกใจสำหรับพ่อแม่บางคู่ในสมัยนี้ เพราะในตำราเลี้ยงลูกจากยุคเก่านั้น กระทั่งเด็กวัยเตาะแตะ ก็ยังถูกเชื่อว่า สามารถเล่นคนเดียวที่สนามหญ้าหน้าบ้านได้โดยพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเฝ้า
ตัวอย่างอยู่ในนิตยสาร Parents ปี 1946 เล่าถึงกรณีของเด็กอายุไม่ถึงสองขวบดีที่สนุกกับการได้เล่นในสนามตอนที่มีแม่อยู่ด้วย แต่ปัญหาเกิดเวลาแม่มีงานต้องทำ เพราะลูกเธอมักจะร้องตาม – กรณีนี้ เป็นคุณจะคิดหรือเลือกวิธีจัดการปัญหาอย่างไร?
พ่อแม่สมัยนี้หลายท่านอาจเลือกที่จะไม่ปล่อยลูก และเข้าใจว่าลูกติดเรา ต้องมีเรา และเป็นห่วงความปลอดภัยของลูก แต่บทความนี้ไม่คิดเช่นนั้น ตรงกันข้าม บทความอธิบายว่าเด็กไม่ได้ติดแม่ หรือกลัวการต้องอยู่คนเดียว แต่อาจแค่กลัวว่าจะเข้าบ้านเองไม่ได้ ทางแก้ของแม่ จึงแค่ต้องปลดล็อกกลอนบ้านเพื่อให้ลูกสามารถหาทางเปิดประตูเข้าบ้านได้เอง
ผลลัพธ์ที่ได้ เธอเขียนไว้ว่า “ในวันดีๆ หน่อย ลูกของฉันสามารถเล่นที่หน้าบ้านได้อย่างมีความสุขอยู่หลายชั่วโมงทีเดียว”
อนึ่ง การตัดสินปล่อยลูกตามบทความน่าจะมีเรื่องของบริบทความปลอดภัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวด้วย เช่น บ้านอยู่ในละแวกที่ปลอดภัยไหม สนามหญ้ามีรั้วแน่นหนาหรือเปล่า หรือแม่มีมุมทำงานที่สามารถมองลูกที่กำลังเล่นผ่านทางหน้าต่างได้ตลอดหรือไม่ ดังนั้น สถานการณ์นี้จึง ‘ไม่ใช่’ แบบอย่างที่พ่อแม่ทุกคนควรปฏิบัติตามแต่อย่างใด
ส่วนสำคัญที่เราได้จากตัวอย่างนี้ เป็นเรื่อง ‘ทัศนคติ’ ของแม่ในสมัยนั้น ที่ไม่ได้ใช้ทัศนคติปกป้องลูกเพราะคิดว่าลูกเป็นสิ่งเปราะบางที่ต้องได้รับการประคบประหงม แต่ใช้ทัศนคติมอบความเข้มแข็งโดยให้ลูกฝึกตัดสินใจตั้งแต่ยังเล็ก
โตเท่านี้…ก็มีสิทธิดูแลตัวเองได้
บทความในนิตยสาร Parents ปี 1956 ให้การรับรองว่าแม่สามารถอนุญาตให้ลูกวัยห้าขวบเดินไปโรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านไปสี่ช่วงตึกด้วยตัวเองได้ อีกทั้งในบทความยังระบุอย่างชัดเจนด้วยว่า ถ้าเด็กโตพอที่จะอยู่ในโรงเรียนอนุบาล เด็กก็โตพอที่จะหาทางเดินไปโรงเรียนเองได้โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่ดูแล และความต้องการอิสระของเด็กก็เป็นเรื่องปกติที่ดี พ่อแม่ควรให้การสนับสนุน
ทัศนคติดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นได้จากในบทความนิตยสาร Good Housekeeping ปี 1966 ซึ่งระบุถึงการดูแลตัวเองของเด็กไว้ดังนี้
“อายุ 6-8 ขวบสามารถถูกคาดหวังให้หาทางไปโรงเรียนด้วยตัวเองได้ ต้องรู้จักหาโทรศัพท์เพื่อโทรหาตำรวจถ้าตัวเองหลงทาง และรู้ว่าต้องโทรไปรายงานที่บ้านถ้ารู้ว่าตัวเองจะกลับบ้านสาย…
“อายุ 9-11 ขวบ ควรสามารถเดินทางด้วยรถเมล์สาธารณะและรถราง สามารถปฐมพยาบาลง่ายๆ ได้ และตัดสินใจด้วยเหตุผลเป็น หากต้องพบเจอสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย”
เข้าสู่ยุคใหม่ ก็เปลี่ยนไปเฝ้าระวังมากขึ้น
ในทางตรงข้าม ทัศนคติเหล่านี้เปลี่ยนไปหลังราวๆ ยุค 1980 ที่บทความเลิกมุ่งความสนใจในการให้คุณค่าต่ออิสระในตัวเองของเด็ก และเริ่มหันมาสนใจในเรื่องของความจำเป็นที่ต้องปกป้องและติดตามเฝ้าสังเกตลูกไปแทน
ตัวอย่างจากนิตยสาร Good Housekeeping ปี 2006 บทความเรื่อง “คุณเป็นแม่ที่ดีหรือไม่? ” ได้กล่าวว่า คนจะเป็นแม่ที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อเขาเฝ้าระวังดูลูกอย่างใกล้ชิดและดูแลลูกได้ตลอดเวลา
มาร์เคลลาสรุปผลการค้นคว้าบทความเลี้ยงลูกรวมแล้วเกือบร้อยปีไว้ว่า “คำแนะนำในการเลี้ยงลูกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แสดงหลักฐานเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เด็กต้องพัฒนาทักษะการมีอิสระและอยู่ได้แบบไม่มีผู้ปกครอง…
“คำแนะนำจากครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในระหว่างยุค 1960-1970 เด็กๆ สามารถไปไหนมาไหนโดยไร้การควบคุมตามพื้นที่สาธารณะ เช่น เดินไปโรงเรียนคนเดียว ท่องและเล่นไปทั่วในละแวกเพื่อนบ้าน ทั้งเล่นคนเดียวและเล่นกับเพื่อน ขี่จักรยานไปทั่วเมือง โบกรถเอง ไปทำธุระให้พ่อแม่ที่ร้านขายของหรือไปรษณีย์…
“คำบรรยายถึงเสรีภาพลักษณะนี้หายไปในบทความที่ร่วมสมัยมากขึ้น และกลายเป็นว่า พ่อแม่ยุคสมัยใหม่ได้รับคำเตือนให้แน่ใจว่าลูกๆ ของพวกเขาได้การดูแลที่มากพอจากผู้ใหญ่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะตอนอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน”
และแม้วัฒนธรรมกับบริบทของสังคมไทยจะแตกต่างจากสังคมอเมริกันมาก แต่เราเชื่อว่า อดีตที่มาร์เคลลาพาเราไปท่อง หากเราพิจารณามันอย่างมีวิจารณญาณ มันอาจทำให้ผู้ใหญ่สมัยนี้อย่างเราๆ ได้รับบทเรียนเรื่องการปฏิบัติกับเด็กในแบบที่ไม่อาจหาได้ในสมัยปัจจุบัน
การค้นพบของมาร์เคลล่า จึงอาจไม่เพียงแค่ทำให้เราแปลกใจ แต่ยังอาจทำให้เราเห็นคุณค่าของ ‘อิสระ’ ในวัยเด็กที่เราอาจเผลอมองข้ามไปด้วยก็ได้นะ
อ้างอิง
- Psychology Today. How Magazines’ Advice to Parents Has Changed Over a Century. https://bit.ly/36A3LIt