‘เศรษฐกิจปรสิต’ ไม่ใช่ชื่อหนัง! The Economist จัดไทยติดอันดับ 9 ‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ เกาะกินผลประโยชน์-เอื้อทุจริต
คำว่า ‘Parasite Economy’ แปลเป็นไทยแบบตรงตัวว่า ‘เศรษฐกิจปรสิต’ ไม่ใช่ศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เพราะคำนี้มีการนิยามความหมายและอธิบายบริบทประกอบในงานวิจัยของสถาบันทางฝั่งตะวันตกมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว
ล่าสุด The Economist สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองรายใหญ่ของโลก ได้เผยแพร่ ‘ดัชนีทุนพวกพ้อง’ หรือ Crony Capitalism Index ที่ใช้ชี้วัดว่าแต่ละประเทศเจอกับปัญหาที่เป็นผลจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนพวกพ้องมากน้อยเพียงไร พร้อมพาดหัวบทความว่านี่คือภาพรวมของ ‘เศรษฐกิจปรสิต’ หรือ The Parasite Economy 2022 ที่ต้องหาทางรับมือ
ดิ อีโคโนมิสต์เตือนแบบรวมๆ โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่งว่าระบบเศรษฐกิจแบบนี้เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การเกาะกินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้
ก่อนหน้านี้ก็มีบทความของหน่วยงานในไทยที่เคยเตือนเรื่องทุนพวกพ้องมาก่อน โดยระบุว่าเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุนพวกพ้องส่วนใหญ่ดำเนินไปได้ด้วยวิธีการ rent-seeking
แล้ว rent-seeking คืออะไรแน่?
ถ้าอ้างอิงบทความที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาของไทยปี 2556 rent-seeking หมายถึงการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะหมายถึงการลงทุน–ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจหรือระบบเศรษฐกิจที่ได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ ขณะที่บทความของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า rent-seeking คือพฤติกรรมแสวงหา ‘ผลตอบแทนส่วนเกิน’
ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมด ทำให้พอจะสรุปได้ว่าทุนพวกพ้องส่วนใหญ่ก็คือ ‘กลุ่มทุนผูกขาด’ ที่มีธุรกิจในมือต่างๆ มากมายจนมีอำนาจเหนือตลาด ทั้งยังโยงใยกับเครือข่ายอำนาจทางการเมืองหรือระบบราชการแนบแน่น จนนำไปสู่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่เหล่านี้ แต่กลับส่งผลจำกัดหรือปิดกั้น ‘ทางเลือกของผู้บริโภค’
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการตัดโอกาสแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางระบบเศรษฐกิจ เพราะทุนรายย่อยแทบจะไม่มีโอกาสต่อสู้กับทุนรายใหญ่ได้ เพราะเงื่อนไขต่างๆ ของรัฐไม่ได้ช่วยทุนขนาดเล็กเท่ากับที่ช่วยทุนใหญ่หรือทุนผูกขาดทั้งหลายให้ ‘คงสถานะ’ ผู้มีอำนาจเหนือตลาดต่อไป จนกลายเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีคะแนนสูง ‘ติดอันดับ 9’ ของดัชนีทุนพวกพ้องประจำปี 2564 หรือ CCI 2021 ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 สะท้อนว่าไทยนั้นตกอยู่ในวังวนของทุนพวกพ้องซึ่งมีอำนาจมากในตลาดธุรกิจการค้าสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกกันเลยทีเดียว
ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนดัชนี CCI เกิดจากการประเมินสินทรัพย์และความมั่งคั่งสุทธิ รวมถึงวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจของมหาเศรษฐีทั่วโลกรวม 2,755 คน โดยแบ่งเป็นภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยความสัมพันธ์แบบพวกพ้องในการดำเนินธุรกิจ และกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยความสัมพันธ์แบบพวกพ้องในการดำเนินธุรกิจ
คะแนนสูงในดัชนี CCI ไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่ดี
ถ้าจะมองโลกในแง่ดีและประนีประนอมกับตัวเองสักหน่อย ก็ต้องถือว่าไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอันดับ Top 10 ของดัชนี CCI เพราะประเทศที่มีคะแนนทุนพวกพ้องมากกว่าไทยมีทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งติดอันดับ 2-3 และอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 8
ส่วนประเทศที่มีคะแนนทุนพวกพ้องมากสุดในโลกคือ ‘รัสเซีย’ ซึ่งก็กำลังถูกหลายประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากการบุกเข้าไปทำสงครามในยูเครน
แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ของความเป็นจริงก็ต้องบอกว่าไทยมีคะแนนทุนพวกพ้องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ดิอีโคโนมิสต์เริ่มเผยแพร่ดัชนี CCI ครั้งแรกเมื่อปี 2014 โดยผลจัดอันดับครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2016 ไทยเคยอยู่ที่อันดับ 12 และมีคะแนนเพิ่มขึ้นจนติดอันดับ 9 ในการสำรวจข้อมูลปี 2021
อย่างไรก็ดี ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า การมีคะแนนดัชนี CCI สูง หมายถึงประเทศนั้นๆ มีทุนพวกพ้อง หรือมีปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่ที่โยงใยกับอำนาจรัฐมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีคะแนนน้อยนั่นเอง การติดอันดับต้นๆ แบบ Top 10 จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสักเท่าไร โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศที่จัดอันดับนี้ก็ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดไม่น้อยเลย ถึงที่สุดแล้วการมีชื่อติดอยู่ในโผนี้ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ก่อนหน้านี้ ‘แอนน์ ครูเกอร์’ นักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Hoover ในสหรัฐอเมริกา ก็เคยเตือนว่า ทุนนิยมพวกพ้องเป็นปัจจัยที่ ‘แย่’ ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งครูเกอร์บอกว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐเข้าไปสนับสนุนธุรกิจเอกชน รวมไปจนถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยขาดมาตรการกำกับดูแลที่รอบคอบ
ครูเกอร์ระบุว่านโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการกระจุกตัวของทุนในกลุ่มธุรกิจบางประเภทเท่านั้น เมื่อความต้องการที่แท้จริงในท้องตลาดไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนก็ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก แต่กลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐหรือระบบราชการก็ยังได้รับการช่วยเหลือ หรือ ‘อุ้ม’ ผ่านนโยบายในระดับประเทศ แต่คนจำนวนมากที่ต้องตกงานในช่วงนี้ หรือทุนรายย่อยที่ประสบความเสียหายจนต้องขายกิจการ ไม่อาจเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้เท่ากับทุนรายใหญ่
อ้างอิง
- The Economists. The crony-capitalism index 2016 – Billionaire wealth as a % of GDP, ranked by crony-sector wealth. https://bit.ly/3q4BaBQ
- Espresso Economist. The Parasite Economy 2022. https://bit.ly/3i7nSQQ
- Kristika. คอร์รัปชัน การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนากฎหมาย. https://bit.ly/3KRM2v3
- TDRI. การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง: บทนำและผลการศึกษาโดยสังเขป. https://bit.ly/3IbMouB
- Anne O. Krueger/Hoover Organization. Why Crony Capitalism Is Bad for Economic Growth. https://hvr.co/3i5ETeb
- Malay Mail. Malaysia No. 2 on The Economist’s crony capitalism index. https://bit.ly/3KK8c2m