Select Paragraph To Read
- 1. ตัวนิ่ม หรือเรียกอีกชื่อว่า ตัวลิ่น
- 2. ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายนักอนุรักษ์พยายามแสดงความเห็นแย้งว่า 'เกล็ด' ของตัวนิ่ม ไม่มีคุณสมบัติการรักษาโรคแต่อย่างใด
- 3. อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ตัวนิ่มเป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวที่ได้รับความคุ้มครอง
ก่อนหน้านี้ ‘ตัวนิ่ม’ คงไม่ใช่ชื่อของสัตว์ที่เราคุ้นหูกันมากนัก จนกระทั่งโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ชื่อของสัตว์ที่ฟังดูน่าจับก็ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง เพราะเชื่อกันว่า ตัวนิ่มเป็นพาหะส่งต่อเชื้อโควิด-19 มาสู่คน
แต่เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ ตัวนิ่มกำลังครองแชมป์สัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดในปัจจุบัน

ตัวนิ่ม | worldanimalprotection.com
1. ตัวนิ่ม หรือเรียกอีกชื่อว่า ตัวลิ่น
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตัวใหญ่กว่าแมวนิดหน่อย จุดเด่นของพวกมันคือเกล็ดแข็งที่ขึ้นคลุมอยู่ทั่วตัว (ยกเว้นบริเวณท้อง) สำหรับเป็นเครื่องป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือหรือสิงโต

ตัวนิ่ม หรือ ตัวลิ่น | pri.org
เวลาเจอภัยแผ้วพาน พวกมันก็จะนอนม้วนเป็นขดกลม ทำตัวแข็งจนสัตว์อื่นทำร้ายไม่ได้
ทว่าจุดเด่นของพวกมันกลับเป็นความโชคร้าย เมื่อมนุษย์ดันทะลึ่งค้นพบ (อย่างไรไม่ทราบ) ว่า ‘เกล็ด’ ที่ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วตัว นำมาใช้เป็นยารักษาได้สารพัดโรค

เกล็ดตัวนิ่ม | worldanimalprotection.com
ตำรับยาแผนโบราณของจีนเชื่อกันว่า รักษาได้ตั้งแต่บรรเทาอาการปวดเมื่อย สลายก้อนในร่างกาย ตั้งแต่สิวจนถึงเนื้องอกมะเร็ง ช่วยหมุนเวียนเลือด ห้ามเลือด ขับประจำเดือน
ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการกินเนื้อตัวนิ่มก็ยังคงมีอยู่ และได้รับการยกระดับเป็นเมนูสุดหรู เสิร์ฟในภัตตาคาร ให้ผู้มีรสนิยมสรรหาอาหารแปลกได้ลิ้มลอง
เหตุผลหลักๆ ที่ตัวนิ่มถูกล่า มี 2 เรื่องใหญ่ แต่เพียงเท่านี้ก็พอแล้วที่พวกมันจะเป็นสัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดในโลกเวลานี้
ประมาณกันอย่างน้อยๆ (เท่าที่มีหลักฐานการจับกุม) พบว่า ตัวนิ่มจากแอฟริกาถูกล่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ตัวต่อปี เพื่อขายในตลาดเอเชีย โดยมีประเทศจีนและเวียดนามเป็นลูกค้าปลายทางรายใหญ่
2. ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายนักอนุรักษ์พยายามแสดงความเห็นแย้งว่า 'เกล็ด' ของตัวนิ่ม ไม่มีคุณสมบัติการรักษาโรคแต่อย่างใด

เกล็ดตัวนิ่ม | worldanimalprotection.com
และได้พิสูจน์ทราบด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเกล็ดเป็นสสารแบบเดียวกับเล็บและผมของคน (นอแรด ก็เช่นกัน) ไม่มีคุณสมบัติใดที่นำไปใช้รักษาโรคได้อย่างที่เชื่อกัน
ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ดูเหมือนจะไม่สามารถเอาชนะความเชื่อที่ฝังหัวได้มากนัก เพราะการล่าและค้าตัวนิ่มยังคงเป็นไปอย่างเอิกเกริก แม้ตัวนิ่มจะมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในระดับสากลก็ตาม
จนกระทั่งถึงยุคสมัยโควิด-19 นี่ล่ะ ผู้คนถึงจะเริ่มฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง
หากจำกันได้ ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดหนัก ทางการจีนได้ลงมติให้ปิดตลาดสัตว์ป่า และออกประกาศห้ามไม่ให้ซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าอย่างเด็ดขาด
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ จนถึงเหตุการณ์ล่าสุด รัฐบาลจีนตัดสินใจถอด ‘ตัวนิ่ม’ ออกจากสูตรยาแผนโบราณทั้งหมด ก็พอจะอุปมาได้ว่า เป็นก้าวเล็กๆ ของจีน แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของวงการอนุรักษ์
3. อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ตัวนิ่มเป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวที่ได้รับความคุ้มครอง
ยาแผนโบราณของจีนยังคงประกอบด้วยชิ้นส่วนสัตว์ป่าอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ดีหมี นอแรด เลียงผา หรือแม้แต่ชิ้นส่วนอวัยวะของเสือ

ดีหมี | htgetrid.com

เลียงผา | wikipedia.org
หากจีนคิดจะขึ้นมาเป็นประเทศนักอนุรักษ์แถวหน้า คงต้องถอดชิ้นส่วนสัตว์ป่าอื่นๆ ออกจากตำราโอสถเสียก่อน
รวมถึงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การค้าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นจีนหรือที่ไหนบนโลก ล้วนทำกันอย่างผิดกฎหมาย
นี่เป็นอีกโจทย์ที่ต้องคิดและแก้ไขในยุควิกฤตการณ์สูญพันธุ์ที่เหลือเวลาน้อยลงทุกที
และที่สำคัญ พวกเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนจะตัดสินใจเชื่อ ว่าอะไรเป็นอะไร
อ้างอิง:
- Ben Westcott (CNN) . China removes pangolin scales from traditional medicine list, helping protect world’s most trafficked mammal. https://cnn.it/3hBZDIR
- Daniel J Ingram. 400,000 African pangolins are hunted for meat every year—why it’ s time to act. https://bit.ly/3daRgk8
- Mongabay. Three pangolin species closer to extinction: IUCN. https://bit.ly/2zGQjCB
- Rachael Bale. Pangolin scales are not a party drug, say researchers. https://on.natgeo.com/2N3Ruiq
- Brandthink. โควิด-19 ทำให้จีนและเวียดนามได้ทบทวนกฎหมายค้าสัตว์ป่า (อีกครั้ง). https://bit.ly/2Yek3jK