อยากได้อากาศดีต้องซื้อ ‘บาร์ออกซิเจน’ สวรรค์ลวงในวันที่ PM2.5 ปกคลุมอินเดีย

3 Min
585 Views
18 Jan 2022

oxygen bar l reuters

ในปีนี้ นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียกลับมาพบกับสภาพอากาศขมุกขมัวที่เต็มไปด้วยมลพิษฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวที่ความกดอากาศจะดักจับมลภาวะและควัน จนเหมือนกับมีโดมหมอกครอบเมืองไว้

ตามความเห็นของแพทย์ในประเทศระบุว่า ทุกวันนี้สภาพของผู้คนในนิวเดลี ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ใช้ชีวิตราวกับกำลังสูบบุหรี่วันละ 10 มวนต่อวัน

จากอดีตที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดร้อยละ 90 เป็นคนอายุมากที่สูบบุหรี่จัดมาทั้งชีวิต แต่นับจากปี 2018 เป็นต้นมา ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นคนไม่สูบบุหรี่และค่าเฉลี่ยอายุก็ต่ำลงเรื่อยๆ

ทางการของอินเดียเองก็พยายามต่อสู้กับปัญหานี้อย่างหนักหน่วง ที่ผ่านมาได้เปิดตัวโครงการ เปิดตัวโครงการ National Clean Air Program (NCAP) ตั้งเป้าลดมลพิษทางอากาศในเมืองต่างๆ ลงให้สำเร็จภายในปี 2024

หรือในช่วงปลายปีที่แล้ว ทางการก็ประกาศในประชาชน Work From Home และงดการก่อสร้าง ไปจนถึงให้โรงงานถ่านหินหยุดทำงานชั่วคราว แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานะของฝุ่น PM2.5 จะไม่ทุเลาลงสักเท่าไร

PM2.5 l reuters

จากสภาพปัญหาที่คนต้องเผชิญก็กลับกลายเป็นช่องทางให้เกิดธุรกิจใหม่อย่าง ‘การขายอากาศบริสุทธิ์’ เกิดขึ้นราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของภาพยนตร์ไซไฟแนว Post Apocalyptic

การนำอากาศบริสุทธิ์มาขายนี้เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของ ‘บาร์ออกซิเจน’ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่สภาพอากาศของอินเดียย่ำแย่แบบสุดๆ

ไอเดียแรกเริ่มก็ดังที่กล่าวไป ว่ามันเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่สุดแสนเลวร้าย แต่ก็ดันมีคนหัวใสคิดธุรกิจเปิดบาร์ให้คนมานั่งสูดอากาศบริสุทธิ์กันชิลๆ พลิกวิกฤตกันแบบดื้อๆ 

บาร์ออกซิเจนที่ชื่อ ‘Oxy Pure’ แห่งนี้โฆษณาว่า ให้บริการออกซิเจนบริสุทธิ์ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 15 นาที นอกจากจะมีอากาศดีๆ (ที่หาฟรีได้ยาก) ยังช่วยบำบัดความเครียด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดผ่านสมองและปรับปรุงความชัดเจนของจิตใจ แก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ไปจนบรรเทาไมเกรนและปวดหัวตึงเครียด

นอกจากนี้ยังมีกลิ่นหอมหลายแบบให้เลือก เช่น ตะไคร้ ลาเวนเดอร์ เชอร์รี่ ยูคาลิปตัส ส่งผ่านตามสายท่อตามแต่รสนิยมความชอบ

oxygen bar l business insider

อย่างไรก็ตาม ต้องสงวนเวลาไว้เพียงแค่ 15 นาทีด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ที่ไม่แนะนำให้คนทั่วไปรับออกซิเจนบริสุทธิ์เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี สำหรับราคาค่าใช้บริการก็ตกอยู่ที่ครั้งละ 299 รูปี (หรือประมาณ 130 บาท) ต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของแพทย์พวกเขามองว่า การรับออกซิเจนบริสุทธิ์เพียง 15 นาที แต่หากเวลาที่เหลือยังต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศเหมือนเดิม มันเหมือนการนำเงินไปทิ้งเปล่า ไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ได้รับมาตลอดทั้งวันได้หรอก

แต่ในมุมของผู้ใช้ พวกเขากลับมองว่า อย่างน้อยก็ขอได้รับอากาศดีๆ บ้าง แม้จะไม่มากก็ดีกว่าไม่มีเลย

ปัจจุบัน Oxy Pure ได้ขยายสาขาเพิ่มเติม กระจายอยู่ในห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรู ขณะที่บาร์ทำนองเดียวกันเริ่มผุดขึ้นตามมา และราคาก็มีตั้งแต่ 700-1,500 รูปี (หรือประมาณ 300-700 บาท) ต่อ 15 นาที

นอกจากธุรกิจบาร์แล้ว สินค้าจำพวกเครื่องฟอกอากาศก็เติบโตขึ้นมาก โดยคาดว่ามูลค่าการเติบโตจะมีไปถึงปี 2027 โดยมีคนอินเดียเป็นกลุ่มผู้ซื้อใหญ่ แต่สิ่งที่ว่ามานี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีเงินเท่านั้น จึงจะเข้าถึงได้

ขณะที่เรื่องของบริการเครื่องฟอกอากาศสาธารณะ จำนวนเครื่องที่ถูกติดตั้งก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับจำนวนมลพิษที่ถูกสร้างขึ้น และก็ครอบคลุมเพียงย่านที่ผู้คนแออัดพลุกพล่านเท่านั้น ตามผลงานวิเคราะห์ล่าสุด ก็สามารถลดมลพิษระดับ PM2.5 ได้เพียง 17 เปอร์เซ็นต์

โดยฝุ่นควันที่ปกคลุมอยู่ทั่วภาคเหนือของอินเดียนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย การคมนาคม การก่อสร้าง การทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางตอนเหนือของประเทศยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจผลิตอิฐขนาดเล็กหลายพันแห่ง ซึ่งใช้ไฟ เตาเผา และปล่องไฟธรรมดา ไปจนถึงเรื่องการเผาขยะชีวมวล ตอกย้ำให้มลพิษยิ่งมากและยิ่งแย่ลงไปทุกขณะ

หันกลับมามองประเทศไทย แม้ว่าสภาพมลพิษที่นี่ไม่สูงเท่ากับอินเดียในระนาบเดียวกันทุกวัน แต่ถ้าวันไหนสภาพอากาศแย่ ก็ทำร้ายเราได้อย่างแสบทรวงกันทีเดียว

ลำพังตอนนี้ก็ตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงกันแทบจะเอาตัวกันไม่รอดแล้ว ก็อย่าให้ถึงกับต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออากาศมาหายใจให้เป็นภาระเพิ่มอีกเลย

อ้างอิง

  • ABC News. Doctors say breathing toxic air in Delhi is like smoking 10 cigarettes a day and urgent solutions are needed. https://ab.co/3pXaWSi
  • Indian Express. At Delhi’s first oxygen bar, breathe in ‘pure air’ for Rs 300. https://bit.ly/3f4aXxj
  • Times of india. Study of outdoor air purifiers shows they cut PM2.5 by 17% https://bit.ly/3zUdunp