Select Paragraph To Read
- อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
กระแส ‘ฟ้าผ่าคนดูหนังกลางแปลง แต่ผู้ว่าฯ สั่งปิดข่าว’ เริ่มต้นจากเพจเฟซบุ๊คหนึ่งซึ่งมีผู้ติดตามราว 2.9 หมื่นคน และมีผู้ไปแสดงความคิดเห็นกว่า 6,400 ครั้ง โดยมีผู้ไปร่วมงานยืนยันว่า ‘ไม่มีเหตุฟ้าผ่าเกิดขึ้น’ ระหว่างเทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สถิติของกรมควบคุมโรคระบุว่าผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุฟ้าผ่าในไทยปีก่อนอยู่ที่ 5 รายในเดือนเมษายน ส่วนบริเวณที่เกิดเหตุฟ้าผ่าจนคนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดคือ ‘ทุ่งนา ไร่ และสวน’
——————————————————–
เทศกาลหนังกลางแปลงซึ่งถูกกระจายไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน โดยล่าสุดมีเพจเฟซบุ๊ค The Malaengtad พูดถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ ‘ฟ้าผ่าคนตาย’ ขณะฉายหนังกลางแปลง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ทั้งยังระบุด้วยว่า ‘ผู้ว่าฯ สั่งปิดข่าว’
“ตอนค่ำมีฝนตกหนัก และเกิดฟ้าผ่าลงมาลานกิจกรรมหนังกลางแปลง ผู้ว่าฯ สั่งปิดข่าวหรือไงนะ สื่อห้ามลง” เพจดังกล่าวระบุ
สิ่งที่เป็นประเด็นเพราะมีผู้นำโพสต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะสื่อที่ไปรายงานข่าวเทศกาลหนังกลางแปลงไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ฟ้าผ่าแต่อย่างใด ทั้งยังมีผู้ระบุว่าตนเองไปร่วมงาน และยืนยันว่าไม่มีฟ้าผ่าเกิดขึ้น ทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่าเพจมีหลักฐานอ้างอิงอย่างอื่นหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
อย่างไรก็ดี มีผู้แสดงความกังวลว่าช่วงฝนฟ้าคะนอง ‘ไม่ควรฉายหนังกลางแปลง’ เพราะกลัวจะมีอันตรายเกิดขึ้นจริงๆ ทำให้มีผู้นำสถิติเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุฟ้าผ่าในประเทศไทยมาเปิดเผย พบว่าปี 2564 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากฟ้าผ่าทั่วไทย 5 รายเฉพาะในเดือนเมษายนที่ทางการแจ้งเตือนประชาชน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย ขณะที่สถิติผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าในปี 2563 อยู่ที่ 5 ราย และบาดเจ็บ 35 ราย โดยบริเวณที่ฟ้าผ่าส่วนใหญ่ คือ ทุ่งนา ไร่ และสวน
นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊คแสดงความเห็นด้วยว่าในเขตเมืองส่วนใหญ่มีการติดตั้ง ‘สายล่อฟ้า’ จึงไม่ค่อยเกิดเหตุฟ้าผ่าจนมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
สถิติกรมควบคุมโรคของไทยระบุว่ามีการพบอุบัติเหตุจากฟ้าฝ่ามากที่สุดในช่วงต้นฤดูฝน โดยภาคที่พบมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ สุรินทร์ สกลนคร จังหวัดละ 4 ราย รองลงมาคือ สงขลา แม่ฮ่องสอน ระยอง จังหวัดละ 3 ราย และอำนาจเจริญ มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย
ส่วนข้อแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว มีการเตือนว่า ขณะที่ฝนตกฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรง ไม่ควรเข้าไปยืนหลบใต้ต้นไม้สูงใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง หรือป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง อาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับได้ ควรหาที่หลบในบ้านหรืออาคารที่มีกำแพงล้อมรอบ และยืนให้ห่างจากผนัง หน้าต่าง หรือประตูบ้าน ไม่สัมผัสกับโลหะทุกชนิดที่อาจเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า เช่น การสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ การสวมเสื้อผ้าที่มีกระดุมหรือเข็มขัดที่ทำด้วยโลหะ ไม่สัมผัสหรือใช้อุปกรณ์การทำงานที่เป็นโลหะต่างๆ (เครื่องมือซ่อมแซม/เครื่องมือการเกษตร)
ทั้งยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สัมผัสน้ำ เช่น การลงเล่นน้ำ ในแหล่งน้ำ บ่อ หนอง คลอง บึง ซึ่งน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอยู่นอกตัวอาคารขณะที่มีฝนตกฟ้าคะนอง
“หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า ให้รีบโทรแจ้งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุและสถานที่เกิดเหตุให้ทราบ”
ขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัย EMC ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าเฉลี่ย 43 รายต่อปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงกว่าไทยหลายเท่า มีการประกาศไว้ในเว็บไซต์ว่า ‘ภัยฟ้าผ่า’ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกิจกรรมกลางแจ้ง และเรียกร้องให้ผู้ทำประกันที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง
เหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวพันกับการจัดไฟและการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้จัดกิจกรรมกลางแจ้งจึงควรการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนกรณีที่ฝนตกหรือมีพายุฝนฟ้าคะนอง โดยจะต้องมีผู้เฝ้าระวังสภาพอากาศ และผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติจากฟ้าผ่า
อ้างอิง
- EMC. Lightning Safety for Outdoor Events. https://bit.ly/3NWR7mM
- National Weahter Service. Safety National Program: How Dangerous is Lightning? https://bit.ly/3yyhD04
- The Malaengtad. ผู้ว่าสั่งปิดข่าว!!! “เตือนสติผู้ว่า” ฝนตกฟ้าผ่ากลางหนังกลางแปลงหวั่นประชาชนบาดเจ็บ. https://bit.ly/3uFdVAF
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ. กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 19/2564. https://bit.ly/3NVpMl6