ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ระดับโลกที่คนมองกันเป็นสายตาเดียวก็คือการ “เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา”
อย่างไรก็ดี วันนั้นคือการ “เลือกตั้งทั่วไป” ทั่วสหรัฐอเมริกา และคนไม่ได้เลือกแค่ประธานาธิบดี ส.ส. หรือ ส.ว. เท่านั้น แต่ยังมีการทำประชามติในประเด็นต่างๆ ของแต่ละรัฐด้วย
ประเด็นหนึ่งที่น่าทึ่งมากๆ แต่เงียบไปภายใต้กระแส “ผลประธานาธิบดี” น่าจะหนีไม่พ้นการที่รัฐโอเรกอนได้เป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะแก้กฎหมายในการถือครอง (รวมทั้งเสพ) ยาเสพติดทุกชนิด จะไม่มีโทษจำคุกอีกต่อไป และมีโทษปรับเพียงเล็กน้อยไม่ได้ต่างจากการขับรถเร็วเกินกำหนด หรือคนที่กระทำผิดยังสามารถเลือกเข้ารับการบำบัดแทนการจ่ายค่าปรับได้อีกด้วย
เวลาที่เราพูดถึง “ยาเสพติดทุกชนิด” เรากำลังพูดถึงยาที่ถือว่าค่อนข้างจะ “ร้ายแรง” อย่างเฮโรอีน และโคเคน (ไม่ต้องพูดถึงเมธแอมเฟตามีน หรือ “ยาไอซ์” ซึ่งก็อยู่ในข่ายที่จะถูกเปลี่ยนกฎหมายเช่นกัน)
นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก และอาจพลิกนโยบาย “ปราบปรามยาเสพติด” ในโลกเลย แต่จะเป็นอย่างไร เอาล่ะ เดี๋ยวเรามาค่อยๆ ว่ากัน
1.
การ “ทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย” (Decriminization) ในระดับการเสพและครอบครองไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเราจะมอง “ยาเสพติด” แยกเป็นตัวๆ เพราะอย่างน้อยๆ ในอเมริกา กระบวนการทำแบบนี้กับกัญชามีมาตั้งแต่ยุค 1970’s แล้ว จริงๆ การถือครองกัญชา ไม่ใช่โทษร้ายแรงในอเมริกาถึง 11 รัฐมาตั้งแต่ยุคนั้น
ซึ่งนี่ก็เป็นการกรุยทางให้สังคมเลิกเห็นว่า “ยาเสพติด” บางชนิดไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น และนำมาสู่แนวนโยบายนำ “ยาเสพติด” บางส่วนเข้ามาเป็นส่วนร่วมกับระบบเศรษฐกิจปกติในช่วง 2010’s นั่นคือการอนุญาตให้มีการปลูกและขายกัญชากันได้ตามปกติ
2.
ถามว่าอะไรพวกนี้ใหม่หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่ได้ใหม่เลย”
อเมริกา “ตามหลัง” ชาวบ้านด้วยซ้ำ มีประเทศอื่นๆ ทำก่อนอเมริกาเยอะแยะ แต่ประเด็นคือ อเมริกาเริ่มทำแบบนี้เมื่อไหร่จะกลายเป็นกระแสทั่วโลก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าอเมริกาเป็นผู้นำชาวโลกทั้งในแง่วัฒนธรรมและนโยบาย
พูดง่ายๆ ก็คือ เนเธอร์แลนด์นี่ “กัญชาถูกกฎหมาย” มานานนม โลกไม่ทำตาม แต่พออเมริกาเริ่มทำให้ “กัญชาถูกกฎหมาย” ครั้งหนึ่งเกิดกระแสไปทั่วโลกเลย นี่คือพลังทางวัฒนธรรมของอเมริกาที่เราปฏิเสธไม่ได้
เช่นเดียวกัน โปรตุเกสเป็นประเทศแรกๆ ที่ “สู้กับยาเสพติด” ด้วยการทำให้ “ถูกกฎหมาย” และทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จมาก แต่ก็ไม่มีใครสนใจ ถ้าอเมริกาทำตามล่ะก็ น่าจะไม่ต่างจากกัญชา
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่า การ “สู้กับยาเสพติด” ด้วยการทำให้มันถูกกฎหมาย สมเหตุสมผลยังไง? คนจะไม่ติดตายกันทั้งบ้านทั้งเมืองหรือ?
นี่แหละ ประเด็น เพราะประเทศที่ลองทำแล้ว ไม่ได้เป็นแบบนั้น
3.
ต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาพูดถึงยาเสพติดที่ร้ายแรง (คือมีฤทธิ์เสพติดมากๆ และไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อร่างกาย) ให้ถูกกฎหมาย หลักคือเราจะไม่ทำให้ “ผู้เสพ” นั้นเป็น “อาชญากร” แต่เราจะพลิกมองว่าพวกเขาคือ “ผู้ป่วย” ที่ต้องรับการบำบัด
ผลของวิธีการแบบนี้หลักๆ คือ เราจะไม่ต้องเสียทรัพยากรในระบบยุติธรรมกับ “คดียาเสพติด” คือถ้าพบ “ผู้เสพ” เราไม่ต้องส่งขึ้นศาลและเข้าคุก แต่ส่งผู้เสพเข้ารับการบำบัดแทน
วิธีนี้ฟังดูง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆ แก้ปัญหา “คุกล้น” ได้ดีมาก เพราะอเมริกามีปัญหา “คุกล้น” มานานแล้ว และในระดับรัฐบาลกลาง คนในคุกเกือบครึ่งหนึ่งติดคุกเพราะคดียาเสพติด
ดังนั้นถ้าทำให้ยาเสพติด “ถูกกฎหมาย” หมด ปัญหา “คุกล้น” ก็จะได้รับการแก้ทันที เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
4.
ซึ่งนี่ยังไม่ต้องพูดว่า การทำให้ยาเสพติด “ถูกกฎหมาย” นั้นจะเป็นการไปบั่นทอนระบบธุรกิจผิดกฎหมายอย่างมหาศาล และนั่นก็จะทำให้พวกองค์กรนอกกฎหมายมีอำนาจน้อยลงอีกด้วย เพราะนี่เป็นการตัดแหล่งเงินโดยตรง
และนี่เป็นเรื่องที่ซีเรียส แบบที่คนรู้กันมานานแล้วว่า พวกที่ต่อต้านการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ส่วนหนึ่งคือ “พ่อค้ายา” เพราะถ้ายาเสพติดถูกกฎหมายเมื่อไร คนพวกนี้แหละที่จะไม่สามารถทำมาหากินในแบบเดิมๆ ได้อีก
ดังนั้นในแง่นี้ เอาจริงๆ นโยบายทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย คือนโยบายที่มีการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลจริงโดยโปรตุเกส และรอการสานต่อในระดับนานาชาติ ซึ่งอเมริกาก็ดูจะเริ่มนำร่องแล้วในรัฐโอเรกอน
ความน่าสนใจคือ รัฐขนาดกลางรัฐนี้ (ประชากรลำดับที่ 27 จาก 50 รัฐของอเมริกา) จริงๆ เป็นรัฐแรกของอเมริกาที่ทำให้การ “ถือครอง” กัญชาถูกกฎหมาย และก็เป็นรัฐแรกเช่นกันที่ให้การ “ซื้อขาย” กัญชาถูกกฎหมาย เรียกได้ว่าเป็นรัฐที่ “ก้าวหน้า” มากด้านนโยบายยาเสพติด และถ้าเป็นไปตามแพตเทิร์นกัญชา ความสำเร็จในโอเรกอนก็น่าจะทำให้รัฐอื่นๆ เริ่มทำตาม และทำให้เกิดเป็นกระแสโลกต่อไป
5.
นี่คือ “เรื่องใหญ่” สำหรับบ้านเราด้วย เพราะผู้วางนโยบายบ้านเรา เห็นความสำเร็จของนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างโปรตุเกสก็ไม่สนใจหรอก แต่ถ้าเห็นจากสหรัฐอเมริกา ก็คงจะเป็นอีกเรื่องเลย
ถ้าจะถามว่า สำคัญแค่ไหน เอาเป็นว่าคุกของไทยทุกวันนี้ที่ล้นสุดๆ จริงๆ ที่ล้นไม่ใช่เพราะคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญอะไรเลย เพราะนักโทษราว 80% ของคุกทั่วไทย เป็นนักโทษจากคดียาเสพติด และก็ไม่น่าแปลกเลยถ้าบ้านเราเปลี่ยนนโยบายยาเสพติดและมองว่าผู้เสพไม่ใช่ “อาชญากร” แต่เป็น “ผู้ป่วย” และเปลี่ยนจากส่งเข้าคุกเป็นส่งไปสถานบำบัด อะไรๆ ก็น่าจะดีกว่านี้ (หรือเปล่า?)
และถ้าถามว่าเอาเงินจากไหนทำสถานบำบัดยาเสพติด?
ในทางนานาชาติ มีการเสนอกันมานานแล้วว่าให้ตัดงบส่วนของคุกที่จะต้องรับ “นักโทษ” น้อยลงไปทำสถานบำบัดยาเสพติด
แต่ถ้าเป็นที่รัฐโอเรกอน มันส์กว่านั้น เพราะเขาวางแผนตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดร้ายแรง จาก “ภาษีกัญชา” ที่เก็บได้มากมายหลังจากทำให้กัญชามันถูกกฎหมายนั่นแหละ
อ้างอิง:
- The Verge. Drug decriminalization in Oregon could be a step toward better public health. https://bit.ly/3mVhVHj
- CNN. Oregon becomes the first state to decriminalize small amounts of heroin and other street drugs.https://cnn.it/3owmDvF
- Vox. America’s war on drugs has failed. Oregon is showing a way out. https://bit.ly/39RTerO
- OPB. Oregon becomes 1st state in the US to decriminalize drug possession. https://bit.ly/3n22FJ2