ในทุกๆ เดือนจะมีไม่กี่วันที่คนไทยเฝ้ารอ นอกจากวันหวยออกแล้ว เราก็รอวันของเซล ตั้งแต่ 1.1 จนถึง 12.12 นั่นล่ะ!
เพราะในแต่ละเดือนจะมีวันที่สินค้าออนไลน์ลดราคาอย่างบ้าคลั่ง อาจจะเป็นวันเทศกาลพิเศษ หรือวันที่เลขวันและเดือนตรงกัน แต่ไม่ว่ามันจะลดราคาด้วยเหตุผลอะไรสิ่งเหล่านี้ล่อตาล่อใจเราให้กดสั่งเหลือเกินจนทุกสัปดาห์จะต้องมีกล่องพัสดุมาส่งที่บ้านแบบนับกันไม่ถ้วน
ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อโควิด-19 เข้ามาพร้อมกับการล็อกดาวน์ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากออกจากบ้าน และเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของอย่างสิ้นเชิง การชอปปิ้งกลายเป็นการ ‘สั่งมา’ มากกว่าไปเดินเลือกเหมือนเมื่อก่อน การสั่งอาหารมากินที่บ้านก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตประจำวัน แม้ว่ามันจะฟังดูเป็นเรื่องที่สะดวกสบายดี แต่สิ่งหนึ่งที่เติบโตอย่างมากพร้อมกับการสั่งของออนไลน์คือ ‘ขยะ’
การจัดส่งทั้งหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้ทรัพยากรอย่างมากตั้งแต่กล่องกระดาษ การแรปพลาสติก และบับเบิลที่ใช้ห่อกันกระแทก สิ่งของเหล่านี้ถูกใช้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยข้อมูลจาก เซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ระบุว่าสิ่งของที่ใช้ในการบรรจุสินค้านั้นจะมีจุดสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบ เตาเผาขยะ หรือถูกทิ้งในธรรมชาติด้วยความรวดเร็ว และมีพลาสติกเพียงแค่ 14-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล
นอกจากนี้บริษัทวิจัยการตลาดเทคนาวิโอ (Technavio) คาดการณ์ว่าความต้องการและมูลค่าสินค้ากันกระแทกจะพวกบับเบิลห่อของและอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.16 พันล้านดอลลาร์ จนถึงปี 2024 เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ทำให้มีความต้องการอย่างไม่หยุดยั้ง
เฉพาะกับแอมะซอน (Amazon) แบรนด์อี-คอมเมิร์ซขนาดยักษ์ใหญ่ของโลก ก็มีรายงานว่าสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มากถึง 210 ล้านกิโลกรัมในปีที่แล้ว เฉพาะบับเบิลลมสำหรับห่อของแอมะซอนก็สามารถนำมาพันรอบโลกได้ถึง 500 รอบ ซึ่งนักอนุรักษ์เชื่อว่ากว่า 1 ใน 4 ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจะเดินทางสู่มหาสมุทรหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการชอบสั่งของเท่านั้นที่เปลี่ยนไป หลังจากมีโควิด-19 ปริมาณพลาสติกประเภทใช้แล้ว (Single use plastic) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะหลายคนไม่ต้องการนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำเนื่องจากกังวลเรื่องสุขอนามัย The Economist ระบุว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกา พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเติบโตขึ้นถึง 250-300 เปอร์เซ็นต์ในช่วงโควิด-19
แต่ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงของการสั่งของไม่ได้จบเฉพาะเรื่องพลาสติกเท่านั้น เพราะ การจัดส่งสินค้าโดยทั่วไปนิยมใช้กล่องกระดาษลูกฟูก แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้มีต้นไม้ราว 3,000 ล้านต้นถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นกล่องสำหรับขนส่งราว 241 ล้านตันในทุกๆ ปี และแม้ว่ากระดาษจะใช้กระบวนการย่อยสลายที่เร็วกว่าพลาสติกมาก แต่ไม่นิยมนำมารีไซเคิลเช่นกัน การสั่งของอย่างไม่หยุดยั้งก็ทำให้ปริมาณขยะกระดาษลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาขยะล้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รายงานการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกในรูปแบบการสั่งอาหาร Delivery ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ
การสั่งของออนไลน์หรือสั่งอาหารมากินที่บ้านเป็นประจำนั้นเป็นเรื่องที่สะดวกสบายอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งโปรโมชันประจำเดือนก็ช่างล่อตาล่อใจ แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นกระบวนการที่สร้างขยะไม่น้อยเลยเช่นกัน และหากขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่มีวิธีการกำจัดที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2050 ขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นอีก 15 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปัจจุบัน
อ้างอิง:
- VOX. Online shopping has boomed in the pandemic. But what about all the packaging?. https://bit.ly/3oO2kNe
- Sciencedirect. The COVID-19 pandemic and single-use plastic waste in households: A preliminary study. https://bit.ly/3IKlmfd
- IPS. The rise in plastic pollution during Covid-19 crisis. https://bit.ly/2JMWk5C
- Green Peace. ส่องประเด็นขยะพลาสติกล้นเมืองช่วงโควิด ที่ Road map อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา? . https://bit.ly/3onqo78