“เหรียญโอลิมปิก” กับ “ราคาขาย” ที่คุณอาจไม่เคยรู้ ซึ่งเคยทะยานไปถึง 50 ล้านบาท!
จบกันไปแล้วสำหรับโอลิมปิก 2021 ที่โตเกียว นอกเหนือไปจากประสบการณ์และความทรงจำนี่นักกีฬาคงเอาติดตัวกลับบ้านไปด้วย ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ และตัวแทนแห่งความสำเร็จในรูปของ “เหรียญรางวัล”
นักกีฬาหลายๆ คนอาจคิดว่า “เหรียญรางวัล” ที่เป็นเหมือนตัวแทนของความอุตสาหะ อดทน ฝึกซ้อม จนได้มาซึ่งชัยชนะ เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ได้ผิดเลย
แต่คุณรู้ไหมว่า ในวงการแข่งขันกีฬา “เหรียญรางวัล” ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ “ประเมิน” ค่าได้ ยิ่งโดยเฉพาะเหรียญรางวัลจากงาน “โอลิมปิก” งานแข่งขันกีฬาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีหลายครั้งทีเดียวที่เหรียญรางวัลถูกประเมินเป็นเงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าเหรียญนั้นจะอยู่ในระดับไหน เหรียญทองแดง เหรียญเงิน หรือเหรียญทอง (ที่ไม่ใช่ทองแท้ล้วนๆ ด้วยซ้ำ!)
เพราะเงื่อนไขว่าเหรียญนั้นจะมีมูลค่าขนาดไหน มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวัสดุของเหรียญนั้นๆ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความหายาก ใครเคยเป็นผู้ถือครองเหรียญนั้น หรือประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่อาจซ้อนอยู่ในเหรียญกลมๆ สะท้อนแสงแวววาว
อย่างไม่นานมานี้ มีเหรียญเงินจากกีฬายิงปืนที่มาจากเกมโอลิมปิกในกรุงปารีส ปี 1900 ที่ขายได้ในราคาทั้งสิ้นราวๆ 43,000 บาท
แล้วก็มีเหรียญทองแดง จากโอลิมปิกหน้าหนาวปี 1956 ที่จัดในประเทศอิตาลี ซึ่งขายได้ในราคา ราวๆ 125,000 บาท
แต่มีเหรียญโอลิมปิกที่ได้ขาย “โคตรแพง” คือเหรียญรางวัลที่หนึ่งที่มาจากงานโอลิมปิกกรุงเอเธนส์ในปี 1896 เหรียญรางวัลอันดับ 1 ชิ้นนี้ทำจากเงิน เนื่องด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีธรรมเนียมเหรียญทอง และมันถูกขายไปในราคาประมาณ 6 ล้านบาท! อ้างอิงจาก RR Auction บริษัทประมูลในบอสตัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีอดีตนักกีฬาโอลิมปิกหลายคนที่หันมาขายเหรียญรางวัลของพวกเขา บางคนขายเพราะมีปัญหาทางการเงิน บางคนขายเพราะอยากระดมทุนเพื่อการกุศล
“บิล รัสเซล” ผู้เป็นตำนานจากทีมบาสเกตบอล “บอสตัน เซลติกส์” (Boston Celtics) จะนำเหรียญทองโอลิมปิกปี 1956 ปีที่เขาเป็นหัวหน้าทีมชาติสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดการประมูลในฤดูใบไม้ร่วงนี้
“ผมตัดสินใจจะขายเหรียญรางวัลส่วนใหญ่ของผม” รัสเซลกล่าวในวิดีโอบนเว็บไซต์ของ Hunt Auction บริษัทจะรับหน้าที่ประมูลเหรียญรางวัลของเขา รวมถึงแหวนแชมป์ N.B.A แจ็คเก็ตและสิ่งของจากเหตุการณ์สำคัญชิ้นอื่นๆ
รัสเซลกล่าวว่ารายได้ส่วนหนึ่งจะมอบให้องค์กรการกุศล MENTOR ที่เขาร่วมก่อตั้งเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงโค้ชให้กับนักกีฬารุ่นเยาว์ และมอบให้กับองค์กรเพื่อความยุติธรรมทางสังคมที่ก่อตั้งโดยทีมเซลติกส์
แม้จะไม่มีชื่อของนักกีฬาสลักไปบนเหรียญรางวัล แต่ชื่อของคนที่สวมมันคล้องคอก็ยังสำคัญต่อมูลค่าของเหรียญอยู่ดี รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในครั้งนั้นๆ ด้วย
มีเหรียญทองของนักกีฬาไม่ปรากฏชื่อคนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐปี 1984 ที่ในทีมมีสมาชิกชื่อดังอย่าง “แพทริก อีวิ่ง” และ “คริส มัลลิน” เหรียญนี้ขายได้ในราคาเกือบ 2.8 ล้านบาท
เงินเกือบ 3 ล้านบาทนับว่าเป็นเงินจำนวนมาก แต่มันดูน้อยลงไปทันที เมื่อเทียบกับราคา “50 ล้านบาท” ของเหรียญทองจาก “เจสซี่ โอเว่นส์” นักกรีฑาผิวสีที่สร้างประวัติศาสตร์หักหน้าเหล่านาซีในเกมโอลิมปิก ที่จัดขึ้นในกรุงเบอร์ลิน ปี 1936 ด้วยการคว้ารางวัลเหรียญทองไปถึง 4 รางวัล เหรียญทองชิ้นนี้ทุบสถิติราคาประมูลในหมวดของที่ระลึกจากโอลิมปิก อ้างอิงจาก SCP Auction บริษัทจัดประมูลในแคลิฟอร์เนียที่รับประมูลเหรียญชิ้นนี้
เพราะอย่างนี้ ต้นกำเนิดและประวัติของผู้ถือครองเหรียญจึงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในการสร้างมูลค่าให้กับเหรียญ รวมถึงชนิดกีฬาด้วย เพราะมูลค่าเหรียญอาจลดลงได้ หากเหรียญนั้นไม่ปรากฏข้อมูลว่ามันมาจากกีฬาอะไร
ในเกมโอลิมปิกล่าสุดที่จัดขึ้นในโตเกียว เหรียญทองมีส่วนผสมของเงินมากกว่าทอง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 กรัม ในน้ำหนัก 556 กรัมของเหรียญทั้งอัน ข้อมูลอ้างอิงจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
เหรียญทองโอลิมปิกจะมีมูลค่าราวๆ 26,000 บาท ตีราคาโดย “ฟิลลิป นิวแมน” หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Metal Focus บริษัทวิจัยในลอนดอน
“ถ้าคุณชนะ ผมว่ามูลค่าของวัตถุก็น่าจะไม่เกี่ยว” นิวแมนกล่าว “ผมจะแปลกใจด้วยซ้ำถ้ามีคนคิดว่าเหรียญทำมาจากทองล้วนๆ”
ส่วนเหรียญเงินในเกมโอลิมปิกโตเกียวทำมาจากเงินบริสุทธิ์ และหนัก 550 กรัม สร้างมูลค่าราวๆ 15,000 บาท ส่วนเหรียญทองแดง ที่ทำมาจากทองแดง 95 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับเหล็ก 5 เปอร์เซ็นต์ก็จะมีมูลค่าน้อยลงมาก แต่นักสะสมบางคนก็ไม่ได้สนใจเรื่องนั้นและยินดีเก็บมันไว้ในคลัง เหมาะแก่การเริ่มสะสมสำหรับนักสะสมที่มีงบไม่มาก
ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเหรียญลำดับไหน เหรียญโอลิมปิกก็ยังเป็นเหรียญโอลิมปิก และกว่าจะได้มา แม้มันอาจไม่มีมีเรื่องราวจัดจ้านอยู่เบื้องหลังเหมือนเช่นเหรียญของเจสซี่ โอเว่นส์ แต่เหรียญนั้นมันยังคงหมายถึงความอุตสาหะของนักกีฬา ที่พาตัวเองมายืนอยู่บนโพเดี้ยมของเกมระดับโลกนี้ได้
ดังนั้น ไม่ว่านักกีฬาโอลิมปิกบ้านเราจะคว้าเหรียญชนิดใดกลับมาได้ เราก็ขอขอบคุณทุกความพยายามของเหล่านักกีฬาทุกคน ที่ได้กลายเป็นตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยในเกมโอลิมปิกปี 2021 นี้
อ้างอิง:
- The New York Times. Priceless? Even Olympic Medals Can Be Had for the Right Price. https://nyti.ms/3jOGgyv
- Silpa-Mag. เจสซี่ โอเวนส์ นักกรีฑาผิวดำ “หักหน้า” ฮิตเลอร์ ในโอลิมปิก แต่ต้องขมขื่นในสหรัฐฯ บ้านเกิด. https://www.silpa-mag.com/history/article_71936