นักดนตรีเซ็ง Oasis ไม่กลับมารวมวงสักที เลยทำเพลงใหม่ให้ และใช้ AI โคลนเสียงร้องอย่างเนียน เจ้าของเสียงฟังแล้วดันชอบอีก

2 Min
526 Views
30 Apr 2023

ถ้าใครตามข่าวเทคโนโลยีก็คงจะรู้ดีว่าปีนี้หลายสื่อเก็งกันว่าจะเป็นปีที่เทคโนโลยี ‘โคลนเสียง’ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

อย่างล่าสุดก็มีโปรเจกต์ดนตรีชื่อ ‘AISIS’ เพิ่งจะอัปโหลดอัลบั้มไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา และมียอดคนฟังทะลุ 300,000 วิวแล้ว

โดยไฮไลต์ของอัลบั้มคือ ดนตรีบริตป๊อปสไตล์วงในตำนานยุค 1990s ของอังกฤษอย่าง ‘Oasis’ ในยุครุ่งเรือง 3 อัลบั้มแรก และมีเสียงร้องเหมือน เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) นักร้องนำเป๊ะๆ

ใช่แล้ว เสียงร้องทั้งหมดของอัลบั้มนี้เกิดจากเทคโนโลยี ‘โคลนเสียง’ ด้วย AI นั่นเอง ส่วนดนตรีเป็นฝีมือของวงโนเนมชื่อ ‘Breezer’ ซึ่งทุกคนฟังแล้วอึ้ง เพราะว่าเพลงในอัลบั้มนี้เรียกได้เลยว่าดี แถมเสียงร้องก็เนียนมากๆ ไม่รู้เลยว่าเป็น AI โดยคำบรรยายในแชนเนล YouTube ของโปรเจกต์นี้เล่าว่า เขาเบื่อที่ Oasis ไม่รวมวงซะที ก็เลยทำเพลงโดยให้ AI มาร้องแทนเสียเลย

แล้วมันก็เป็นไปตามคาด เพราะโปรเจกต์นี้ก็ได้ไปถึงหู เลียม กัลลาเกอร์ แห่งวง Oasis ในที่สุด ซึ่งพอเจ้าตัวได้ฟังก็ดันรู้สึกโดนเส้นเสียด้วย ถึงกับบอกว่า “เสียงกูนี่โคตรเจ๋งเลย” ซึ่งพอเป็นอีหรอบนี้ คนก็พากันไฮป์ไปกันใหญ่ เพราะโดยส่วนใหญ่ งานดนตรีที่ใช้ AI มักจะโดน ‘นักดนตรีต้นฉบับ’ ออกมาด่ากันทั้งนั้น นี่เลยเป็นครั้งแรกๆ ที่เจ้าของเพลงดันชอบ

ในบทสัมภาษณ์ต่อๆ มาหลังจากเพลงดัง มีคนไปสัมภาษณ์คนทำเพลงให้โปรเจกต์ AISIS เขาก็เผยว่าจริงๆ ตัวเขาน่ะเป็นคนชอบ Oasis และทำเพลงแนว Oasis มาเป็นสิบปีแล้ว ช่วงโควิดว่างๆ เลยเอาเพลงที่แต่งๆ เก็บไว้ยาวนานมาเล่นกัน แล้วตั้งวงใหม่ชื่อ Breezer ซึ่งเล่นไปได้พักนึงก็แยกวง เรียกได้ว่าอัดเพลงยังไม่เสร็จดี อัลบั้มยังไม่ทันเสร็จ วงก็ดันแตกไปเสียก่อน

แต่ด้วยความที่เพลงของวงยังอยู่ ประจวบกับที่เทคโนโลยี ‘โคลนเสียง’ มาถึงพอดีในปี 2023 ทางวงก็เลยนึกสนุกกลับมารวมตัวกัน ทำอัลบั้มให้เสร็จ แต่เปลี่ยนเสียงร้องของนักร้องคนเดิมเป็นเสียง เลียม กัลลาเกอร์ แทน

ผลก็คือ อัลบั้มยาวครึ่งชั่วโมงที่ดังระเบิดใน YouTube นั่นแหละ และพอดังแบบนี้ ทางวงก็เปรยๆ ว่า อาจทำต่อด้วยนะ

ถึงตรงนี้บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วมันทำแบบนี้กันได้เหรอ มันถูกกฎหมายหรือเปล่า

ต้องเข้าใจก่อนว่า แง่มุมด้านกฎหมายเกี่ยวกับ AI ในตอนนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพียงแต่หากจะไปมองที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การไป ‘โคลนเสียงนักร้อง’ เพื่อมาร้องเพลงก็อาจคลุมเครืออยู่สักหน่อย เพราะกฎหมายตระกูลนี้คุ้มครองที่ ‘ผลงาน’ แต่พอเป็นกรณีนี้ซึ่งเป็นการผลิตเสียงร้อง ทำนอง และเนื้อเพลงขึ้นใหม่ ก็ยิ่งจะดูซับซ้อนไปกันใหญ่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้คุ้มครอง ‘เสียงร้อง’ แต่ครอบคลุมแค่ ‘ลิขสิทธิ์เสียงร้องที่บันทึกไว้เป็นเพลงๆ’ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กรณีของ AISIS มันพิเศษตรงที่ เลียม กัลลาเกอร์เจ้าของเสียงดันชอบนี่สิ ตัวคลิปและงานดนตรีมันก็เลยรอดมาให้ชาวโลกได้เห็นว่าเทคโนโลยีโคลนเสียงยุคนี้มันไปได้แค่ไหน

ทั้งนี้ แม้ว่ากรณีนี้จะแฮปปี้กันทุกฝ่ายเพราะฝ่ายที่ ‘ทำงานดนตรี’ ออกมาก็ดูจะชอบและ ‘เคารพ’ ตัว ‘เจ้าของเสียง’ มาก แต่ในหลายๆ กรณี เทคโนโลยีพวกนี้ก็ไม่ได้ทำให้ ‘เจ้าของเสียง’ แฮปปี้เท่าไร เช่นเหล่าดาราถูกใช้เสียงไปพูดอะไรที่น่ารังเกียจและผิดกฎหมาย แร็ปเปอร์ถูกใช้เสียงแร็ปที่ผิดไปจากบุคลิกของเจ้าตัว ฯลฯ ตราบที่ยังไม่มีกฎหมายระบุชัดเจน อะไรพวกนี้ก็อาจโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ