2 Min

ทำไมเราไม่ชอบฟังเสียงตัวเอง

2 Min
500 Views
23 Sep 2023

คุณเป็นไหม? ไม่ชอบฟังเสียงตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง เพราะรู้สึกว่ามันแย่มาก 

“นี่เสียงเราจริงเหรอ?! ทำไมไม่เหมือนที่ตัวเองได้ยินเลย” 

หลายคนมีคำถามแบบนี้ แต่ไม่ต้องห่วง คุณไม่ได้รู้สึกไปเองคนเดียว ยังมีคนมากมายที่รู้สึกเช่นเดียวกัน 

เพราะจากการสำรวจล่าสุดของผู้คน 1,500 คน เกินครึ่งหนึ่งกล่าวว่า พวกเขารู้สึกแย่มากหลังจากได้ฟังเสียงตัวเองจากเครื่องบันทึกเสียง

นอกจากนี้ นักวิจัยที่ Mass Eye and Ear ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอนของ Harvard Medical School ขอให้ผู้คนฟังเสียงของตนเองจากการบันทึกเสียง 58 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ชอบฟังเสียงตัวเอง และ 39 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า พวกเขาไม่ชอบเสียงตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแม้ไม่ได้ฟังจากการบันทึกก็ตาม 

หลายคนถึงกับออกปากว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากเปลี่ยนเสียงตัวเองไปเลย 

ดังนั้น คำถามสำคัญคือ ทำไมเสียงของเราจากการบันทึกจึงต่างจากเสียงที่เราได้ยิน?  

นั่นเพราะมี ‘ตัวกลาง’ ที่ต่างกัน โดยเสียงตัวเองที่เราได้ยินจากหู คือคลื่นเสียงที่เดินทางผ่านการนำของอากาศและกระดูก เข้าไปกระทบกับอวัยวะภายใน จึงเกิดการสั่นสะเทือนไปยังหูชั้นใน และจากหูข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง

เสียงของเราจึงมีน้ำเสียงที่ต่ำลง ลึกขึ้น เต็มอิ่ม และน่าพึงพอใจ

แตกต่างกับเสียงที่ได้ยินจากเครื่องบันทึกเสียง ที่เดินทางผ่านการนำของอากาศเพียงอย่างเดียว จึงไม่มีคุณภาพความลึกของน้ำเสียง แต่ที่น่าตกใจคือ เสียงที่เราไม่ชอบนี่แหละเป็นเสียงที่คนอื่นได้ยินจากเรา พูดอีกอย่างคือ เป็นเสียงโดยปกติของเราที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ 

แต่เพราะเรามักมีความคาดหวังภายใน ที่ส่งผลต่อความมั่นใจของตัวเองขณะที่พูดคุยกับคนอื่น เรียกว่า ‘การเผชิญหน้ากับเสียงตัวเอง’ (voice confrontation) ศึกษาครั้งแรกโดยนักจิตวิทยา ฟิลิป โฮลซ์แมน (Philip Holzman) และ ไคลด์ รูซีย์ (Clyde Rousey) ในทศวรรษ 1960

จากแนวคิดนี้ โคลอี คาร์ไมเคิล (Chloe Carmichael) นักจิตวิทยาคลินิกในนิวยอร์กกล่าวเชื่อมโยงไปถึงจิตวิทยาบุคลิกภาพด้านตัวตนและภาพลักษณ์ (Self-Image) ประกอบด้วย ตัวตนที่แท้จริงและตัวตนในอุดมคติที่เราอยากเป็น และจะเป็นให้ได้ 

แต่เมื่อต้องเผชิญกับความจริงที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือบางสิ่งบางอย่างก็ไม่อาจเป็นตามภาพในอุดมคติได้นั้น คนเราจึงรู้สึกไม่มั่นคง 

ในกรณีนี้ บางคนจึงอยากปรับปรุง หรือเปลี่ยนเสียงตัวเองไปเลยเพื่อให้ตัวเองเข้าใกล้ตัวตนในอุดมคติมากขึ้น 

ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ด้านหัตถการต่างๆ เช่น ใช้คอลลาเจน ฟิลเลอร์เจล หรือโบท็อกซ์ เพื่อปรับแต่งเส้นเสียง วิธีนี้พัฒนามาจากการรักษาอัมพาต แต่ก็มีความเสี่ยงในการทำหัตถการเหล่านี้ เช่น เลือดออก ติดเชื้อ เสียงแหบ หรือปัญหาในการหายใจ

แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องถึงมือหมอ เนื่องจาก เจสสิกา ดอยล์-เมกเกส (Jessica Doyle-Mekkes) โค้ชด้านเสียงที่ School of Theatre and Dance มหาวิทยาลัยอีสต์แคโรไลนา (East Carolina University) ในเมืองกรีนวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา แนะนำว่า 

กุญแจสำคัญในการมีเสียงที่น่าฟังขึ้นคือ การผ่อนคลายลิ้น และขยับเขยื้อนกรามของเราอย่างอิสระ กฎคือ ‘พื้นที่มากขึ้นเท่ากับเสียงเบสที่มากขึ้น’ เสียงเบสที่อบอุ่นและต่ำลงเป็นสิ่งที่หูของมนุษย์เรามักมองว่าน่าดึงดูด

พูดง่ายๆ คือ เราอาจต้องฝึกการขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อใบหน้า และอ้าปากกว้างๆ เพื่อให้เสียงที่เปล่งออกมาฉะฉานขึ้น เหมือนกับที่นักร้องต้องวอร์มเสียงก่อนทุกครั้ง 

การปรับแต่งเสียงด้วยวิธีธรรมชาตินั้นดีและปลอดภัยกว่า เราสามารถฝึกหายใจให้เต็มปอด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด การวอร์มเส้นเสียง การออกกำลังกาย การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รวมถึงควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพน้ำเสียงของเราน่าฟังมากขึ้น

อ้างอิง

Why you might not like your recorded voice and how you can change it https://shorturl.at/ajks3