3 Min

ใครเป็น ‘มนุษย์นกฮูก’ บ้าง? เมื่อเราทำงานได้ดีกว่าในช่วงกลางคืน

3 Min
1048 Views
07 Jan 2022

พอพูดถึงช่วงเวลาทำงาน หลายคนมักจะเริ่มต้นด้วยเช้าวันใหม่ จึงทำให้ในที่ทำงานหลายๆ ที่ทำงานกำหนดเวลาทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็นเป็นปกติ แต่หลายๆ คนเคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ทำไมบางครั้งเราถึงไม่มีความรู้สึกอยากทำงานในช่วงระหว่างวันเลย และพบว่าตัวเองทำงานได้ดีหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าในช่วงที่ท้องฟ้าเริ่มมืดแล้ว

ในประเด็นนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจและหาสาเหตุของแต่ละคนไปพร้อมๆ กับเรา ว่าจริงๆ แล้วทำไมเราถึงชอบทำงานในช่วงกลางคืนมากกว่า

จากบทความของ Rachael Rettner นักเขียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้บางคนทำงานในช่วงกลางคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไว้ 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน

การถ่ายทอดทางยีนหรือพันธุกรรมจากคนในครอบครัว

การที่พ่อ แม่ หรือคนใดคนหนึ่งในครอบครัวทำงานได้ดีในช่วงเวลากลางคืน หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า ‘Night Owl’ สามารถถ่ายทอดผ่านทางยีนไปยังคนในครอบครัวได้ ดังนั้น ถ้าหากว่าใครมีคนในครอบครัวที่มีลักษณะนี้ ก็สามารถส่งผลให้เราเป็น Night Owl ได้เช่นกัน

สมองบางคนสามารถทำงานได้ดีกว่าในช่วงเวลาบ่ายเป็นต้นไป

จากผลการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาพบว่า สมองของคนที่ทำงานได้ดีในช่วงกลางวันและกลางคืนมีช่วงเวลาการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งในกลุ่มของคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงกลางคืนก็คือตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น จึงไม่แปลกที่ใครหลายๆ คนจะเริ่มรู้สึกอยากทำงานตั้งแต่ช่วงบ่ายหรือเย็นไปแล้ว

จังหวะของรอบวันและกิจวัตรที่แตกต่างกัน

จริงๆ แล้วช่วงเวลาในการทำงานของมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ กลุ่มที่ทำงานได้ดีในช่วงเช้า หรือ ‘Early Bird’ กลุ่มที่ทำงานได้ดีในช่วงกลางคืน หรือ ‘Night Owl’  และกลุ่มที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองช่วงเวลา ซึ่งการที่แต่ละคนมีช่วงเวลาในการทำงานที่แตกต่างกันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกิจวัตรที่แตกต่างกัน แต่ที่น่าแปลกก็คือ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าคนส่วนมากถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาการทำงานที่พอดี ไม่ดึกหรือเช้าจนเกินไป ทำให้คนส่วนมากสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงเวลานี้

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน

บางคนมีช่วงเวลาในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยน ตัวอย่างเช่น คนที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วอาจจะต้องใช้เวลาในช่วงกลางวันเพื่อเลี้ยงดูลูก ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีในช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ต้องมีเรื่องให้กังวลใจแล้ว จึงสามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในส่วนของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ก็ส่งผลให้แต่ละคนมีช่วงเวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป

แต่แน่นอนว่าการที่เรานอนดึกโดยใช้เวลาในช่วงกลางคืนส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน ถ้าหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่แย่ลงได้ ดังนั้น เราจึงต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานให้มีความสมดุลกันมากขึ้น 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตมีความบาลานซ์ วันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ อยากมาแนะนำทุกคน ซึ่งก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นช่วงกลางคืนหรือช่วงเวลาใดระหว่างวันก็ตาม

  1. หาช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าตัวเองสามารถทำงานได้ดีที่สุด และใช้เวลาเพื่อการทำงานอย่างเต็มที่แค่ในช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะ
  2. กำหนดเวลาเข้านอนให้เหมาะสมและพักผ่อนให้ตรงตามเวลา
  3. จัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำให้ดี และเริ่มทำจากงานที่มีความสำคัญมากที่สุดก่อน
  4. จดบันทึกการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น เรื่องของอาหารที่มีผลต่อระดับพลังงานของร่างกาย เรื่องของสิ่งรบกวนต่างๆ ที่มีผลต่อช่วงเวลาในการทำงาน
  5. ปรับเปลี่ยนห้องนอนและการนอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปิดไฟและปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในขณะนอน
  6. ใส่ใจเรื่องของสุขภาพให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหารการกินหรือการออกกำลังกาย เพราะเรื่องพื้นฐานเหล่านี้สามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราได้โดยตรง
  7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน การรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอาจจะทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจตื่นมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน ซึ่งก็คงไม่เป็นผลดีต่อการทำงานในระหว่างวันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม บางคนอาจจะทำงานได้ดีกว่าในช่วงกลางคืน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากเน้นย้ำก็คือเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างสมดุล หาจุดที่พอดีสำหรับทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน เพราะการใช้ชีวิตอย่างสมดุลจะทำให้เราทำงานออกมาได้ดี และในขณะเดียวกัน เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และมีความสุขในชีวิตได้ด้วย 

อ้างอิง