5 Min

การใช้องค์ความรู้ และความสามารถของ
4 บัณฑิต จาก ‘นิด้า’ เพื่อพัฒนาสังคมอย่าง ‘ยั่งยืน’ และเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่แท้จริง!

5 Min
342 Views
08 Apr 2022

การ ‘พัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน’ ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสวัสดิการด้านต่างๆ อย่างที่ควรจะเกิดขึ้น กระทั่งสามารถดิ้นรนออกจากความลำบากหรือความยากจน

ทำให้กระบวนการพัฒนาสังคมให้มีความก้าวหน้า ไม่หยุดนิ่ง กลายเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน และมีความซับซ้อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัย ‘องค์ความรู้’ ตลอดจน ‘ความสามารถ’ ในการนำมาใช้เป็นหลักคิด และแนวทางเพื่อพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญต้องมีความ ‘ยั่งยืน’ มากที่สุด 

วันนี้เราจึงขอชวนบัณฑิต 4 สาขาวิชาจาก ‘สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)’ มาพูดคุยถึงการนำสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้มาใช้ในเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมกับตั้งคำถามว่าถ้าหากอนาคตสังคมได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านกันได้ข้างล่างนี้เลย

นำกรอบความรู้พัฒนาสังคม และใช้ควบคู่ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ภูริต มาวงศ์ศา 

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ
คณะการจัดการการท่องเที่ยวสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการทั่วไป โรงแรมป่าตอง รีสอร์ต 

โดยจุดเริ่มต้นของการศึกษามาจากความต้องการเฟ้นหาองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการท่องเที่ยวที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะในเรื่องความยั่งยืน สำหรับนำมาพัฒนาการท่องเที่ยว และใช้เป็นหลักคิดประกอบกิจการได้ในอนาคต

คุณภูริต กล่าวว่า กรอบความรู้ที่นำมาใช้ได้จริงในทันทีคือ การพัฒนา ‘ระบบ’ เนื่องจากที่นิด้าสอนให้รู้ระบบวิธีการคิด จากเดิมที่เราคิดแยกเป็นส่วนๆ ทำให้ไม่สามารถปะติดปะต่อเชื่อมเข้าด้วยกันได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ เป็นการมองภาพรวมทั้งหมด กระทั่งสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กันในชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม 

ทั้งนี้ในมุมมองความคิดของคุณภูริตยังให้นิยามความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

คือ ยืนยาว คงทน หรือการดำรงชีวิตที่ใช้สิ่งอยู่รอบตัวอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งไม่เกิดผลกระทบทางลบในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม 

“โดยมีจุดเชื่อมอยู่ด้วยกันถึง 3 มิติสำคัญคือ มิติสังคม, มิติสิ่งแวดล้อม และมิติเศรษฐกิจ 

นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียใช้ประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้สิ่งสำคัญควรเริ่มต้นจากการพัฒนาคนก่อน ให้เกิดการยอมรับ

รวมไปถึงมีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่มีกฎหมาย และความยุติธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมดุล” คุณภูริต กล่าวเพิ่มเติม

เขายังกล่าวต่อว่า ความยั่งยืนที่เห็นชัดเจนคือ ช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนขึ้นในกิจการท่องเที่ยว แต่ไม่เกิดผลกระทบกับลูกค้า อีกทั้งการใช้ระบบสีเขียว เช่น ภายในโรงแรมเริ่มมีการรีไซเคิล และใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทำให้ธุรกิจสามารถ ‘อยู่รอด’ ได้ต่อไปในอนาคต 

การศึกษาเพิ่มโอกาส และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน

“การศึกษาที่ดี ประเทศเราก็จะสามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี”

ณภัสนันท์ สุขสวัสดิ์

เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ที่ตอนนี้เป็นทั้งนางแบบอิสระ และเป็นผู้จัดการหน่วยตัวแทนขาย บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในสังคม ถ้าประเทศเรามีการศึกษาที่ดีมีคุณภาพให้กับเด็ก

“นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สอนให้เรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง โดยไม่เอาเปรียบกัน สังคมเรา ตลอดจนประเทศก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”

ถึงแม้เธอจะไม่ได้ทำงาน หรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กรขนาดใหญ่ แต่ก็ได้นำหลักคิดการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนมาใช้กับตนเองโดยตรง ใช้ศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มาเป็นแนวทางเพื่อวิเคราะห์ แยกแยะ รวมถึงการวางแผนครอบครัว ขณะเดียวกันเธอก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

คุณณภัสนันท์ กล่าวเน้นย้ำอีกว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ จึงมองอนาคตสังคมไทยหากมีการศึกษาที่ดี ภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมให้มีความคิดในการวิเคราะห์ แยกแยะ ก็จะทำให้สังคมเปิดกว้าง รวมไปถึงการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ แชร์ความรู้สึกกันได้ ประเทศก็จะได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ทั้งนี้เธอยังกล่าวว่า ในอนาคตถ้าหากมีโอกาส มีทุนทรัพย์ก็อยากช่วยเหลือเด็กที่อยู่ห่างไกลให้ได้รับการศึกษา ช่วยยกระดับความรู้ ความสามารถ เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่งเด็กเหล่านี้จะเข้ามาเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาสังคม

คน คือกลไกหลักในการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน

อิทธิพล อุดตมะปัญญา 

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ซึ่งปัจจุบันเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดสระแแก้ว 

คุณอิทธิพลกล่าวว่า สังคมจะได้รับการพัฒนาจนนำไปสู่ความยั่งยืน ต้องมี ‘ดี 3’ สิ่งหลักๆ ได้แก่ สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี และระบบเศรษฐกิจดี ที่ล้วนแล้วยังต้องมีองค์ประกอบคือ ‘ทรัพยากร’ ซึ่งประเทศเราก็มีปัจจัยที่เพียงพอและมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น 

เพียงแต่ต้องเน้นเรื่องการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร 

ถัดมาคือ ‘คน’ โดยต้องมีความรู้ทางวิชาการ และทัศนคติที่ดี และ ‘วัฒนธรรม’ ที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง ทั้งนี้พอมีองค์ประกอบครบถ้วน ก็จะสามารถนำไปสู่ปัจจัยความยั่งยืนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนนั้นควรเริ่มต้น ‘พัฒนาคน’ ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างคน ค่อยๆ พัฒนาฟันเฟืองทีละตัว เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากก็จะกลายเป็นฟันเฟืองขนาดใหญ่ จนเกิดระบบสังคมที่ดีได้  

“อนาคตของสังคมไทยสามารถคาดการณ์ได้บางส่วน อย่างไรก็ดีเราสามารถเป็นกลไกหนึ่ง แม้จะมีผลมากผลน้อยต่างกันไปในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เชื่อว่าประเทศเราอยู่ระหว่างจุดกลางๆ ไม่ใช่ทั้งจุดเริ่มต้น และไม่ใช่จุดปลายทาง ซึ่งเวลาจะเป็นโจทย์สำคัญในการนำคน นำความรู้ นำทรัพยากรมาใช้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน” คุณอิทธิพลกล่าวทิ้งท้าย 

เมื่อการพัฒนายั่งยืน หมายถึงการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง

ธันภัทร โคตรสิงห์ 

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรการบริหารสังคม
คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ตอนนี้เป็นทั้งนักวิจัย นักวิชาการ และที่ปรึกษาโครงการ

ผู้คนทั่วไปอาจจะให้คำนิยามคำว่าการพัฒนาที่ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง ‘อยู่คงทน’

แต่สำหรับคุณธันภัทร เธอให้ความหมายที่แตกต่างออกไปว่าการพัฒนายั่งยืน คือ การพัฒนาให้มีประโยชน์ที่แท้จริง โดยไม่เกิดโทษในด้านอื่นๆ ต่อไป

อีกทั้งเธอยังกล่าวว่า การดำเนินการเพื่อนพัฒนาสังคมนั้นควรมองผ่านสายตาที่ทั้งครอบคลุม รอบด้าน และตอบโจทย์ เนื่องจากไม่ควรคิดจะแก้ไขสิ่งใด แล้วทิ้งอะไรไว้ข้างหลังให้เกิดโทษตามมานั่นเอง 

นอกจากนี้ กระบวนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน คุณธันภัทรกล่าวต่อว่า ต้องเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ หรือทำการวิจัย หลังจากนั้นต้องมีการวางแผนให้เพียงพอ สุดท้ายต้องนึกถึงความเป็นไปได้ รวมถึงอุปสรรค และโอกาสต่างๆ อย่างไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ 

“โดยสิ่งแรกในการพัฒนานั่นก็คือ ‘ตัวเอง’ เสริมสร้างให้มีความคิด ความรู้ รวมถึงมีจริยธรรม หรือคุณธรรมที่ดี เพราะการเริ่มต้นจากการดูแลตัวเอง จะค่อยๆ นำไปสู่ระดับครอบครัว แล้วขยายสู่ระดับองค์กร ตลอดจนสามารถพัฒนาไปยังระดับประเทศได้”

คุณธันภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากในอนาคตทำ (พัฒนาสังคม) ได้จริง จะเปลี่ยนแปลงเป็น ‘สังคมสวยกว่า’ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คงไม่มีภาพของความแออัด ตึกเบียดๆ ที่ยัดคนมาในพื้นที่เดียวกันให้เกิดมูลค่าสูง จากการลืมคิดว่าการพัฒนานี้กำลังขาดการนึกถึงความยั่งยืน

จากเรื่องราวการพูดคุยข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงการนำความรู้ ความเข้าใจในการเรียนแต่ละสาขาของนิด้ามาปรับให้ใช้งานได้จริงทั้งในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน และยังเป็นหลักแนวคิดด้านความยั่งยืนเพื่อสังคมอีกด้วย

เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานกว่า 56 ปีของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการสอนเฉพาะระดับสูงกว่าปริญญาตรี อันมุ่งเน้นการบริหาร และพัฒนาเป็นผลักดันการพัฒนาสังคมไปข้างหน้าผ่านหลักสูตรการศึกษา เพื่อองค์ความรู้ให้กับบัณฑิต สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) สู่สังคมตามแนวคิด ‘NIDA for All’ โดยใช้ศาสตร์กับองค์ความรู้ในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภายใต้ปรัชญา WISDOM for Change สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง

#NIDAThailand #นิด้าน่าเรียนที่สุด #จบนิด้าภูมิใจที่สุด #ProudToBeNIDA