ในสังคมของเรา ‘ความรู้’ เป็นสิ่งสำคัญ
ความรู้ช่วยพัฒนา ความรู้มอบโอกาส ความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ความรู้ให้อะไรมากมาย
‘นิด้า’ คือชื่อของสถาบันการศึกษาอันซึ่งยึดถือหน้าที่สร้างความรู้ให้กับสังคมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนถึงทุกวันนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีมีผู้ใฝ่รู้มากมายที่เข้าไปในรั้วสถาบันนิด้า และได้กลับออกพร้อมความรู้ที่ช่วยนำไปสู่สร้าง ‘อะไรใหม่ๆ’ ให้กับสังคมมากมายนับไม่ถ้วน
‘อะไรใหม่ๆ’ ที่นิด้าช่วยสร้างให้สังคมคืออะไรบ้าง? – หลายๆ คนอาจสงสัย
และคนที่จะตอบคำถามนั้นได้ดีที่สุด คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากคนที่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักกับนิด้าอย่างถ่องแท้ ผ่านการเรียน สร้างประสบการณ์ ทำความสนิทชิดเชื้อกับความรู้ซึ่งอัดแน่นอยู่ในรั้วนิด้า แล้วจบออกมาพร้อมความทรงจำและคุณค่าที่ตักตวงจนเต็มกระเป๋า
วันนี้ จะมีตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา 4 คนที่จะมาช่วยตอบว่า นิด้าช่วยสร้างอะไรให้กับพวกเขาบ้าง
คนหนึ่งคือผู้รักการเป็นสื่อ คนหนึ่งคือผู้ที่เคยกลัวการก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ๆ คนหนึ่งคืออดีตคนขี้อายที่กลายเป็นผู้กล้าพูดเพื่อเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย คืออัยการมีฝันซึ่งถูกเติมเต็มได้เพราะนิด้า
ทั้ง 4 คนจะมาช่วยเฉลยว่าทำไมคำเล็กๆ 2 พยางค์อย่างคำว่า ‘ความรู้’ จึงสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมได้มากกว่าที่เราหลายๆคน คิดไว้
เรียนสื่อ สร้างสังคม
คุณรู้จักรายการ ‘ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์’ ของอสมท. ไหม? – นั่นคือที่ๆ ‘เสาวภาคย์ รัตนพงศ์’ ได้เข้าไปทำงานเป็น Senior Data Analyst และทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลับคมให้วิจารณญาณของผู้เสพสื่อ
แต่กว่าจะมาถึงตอนนี้ที่เธอทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมด้วยสื่อ เธอกับ ‘นิด้า’ เคยเป็นเพียงคนรู้จักกันมาก่อน เธอเล่าให้ฟังถึงชีวิตก่อนที่จะเจอกับนิด้าว่า “สมัยเรียนปริญญาตรี แล้วเราอยากเรียนปริญญาโท อาจารย์ของเราแนะนำให้เรียนนิด้า เราเลยลองเข้าไปดูหลักสูตรค่ะ”
เสาวภาคย์สนใจเรื่อง ‘สื่อ’ เป็นพิเศษ “เราสนใจเรื่องสื่อ เพราะสื่อมีการเปลี่ยนแปลงแทบจะตลอดเวลา ใหม่ก็กลายเป็นเก่าได้รวดเร็ว แต่นิด้ามีการปรับปรุงหลักสูตรตลอด ปรับไปตามสิ่งสังคมที่ให้ความสนใจ และเราก็ได้ทุนด้วยค่ะ เลยตัดสินใจเรียน”
เธอเล่าให้ฟังว่าเธอได้รับทุนการศึกษาเรียนดี และใจกว้างเผื่อข้อมูลให้ใครก็ตามที่ฝันอยากสร้างความรู้ แต่อาจไม่มีงบไว้ว่า “นิด้ามีทุนให้ทุกคณะ เพียงแค่เอาเกรดยื่นและสัมภาษณ์ ถ้ากรรมการสนใจ ก็ให้เรียนเลย ไม่ต้องสอบ ทุนมีหลายแบบ 1. ทุนการศึกษาเต็มจำนวน 2. จ่ายแค่ค่าบำรุงการศึกษา ไม่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิต กับสุดท้าย คือจ่ายครึ่งหนึ่ง”
เสาวภาคย์ตัดสินใจเลือกเรียนศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ เธอเล่าถึงสิ่งที่นิด้ามอบให้เธอว่า
“นิด้าสอนให้เราพร้อมที่จะปรับตัว สอนให้เราพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลง มองเหตุการณ์ตามความเป็นจริง คิดวิเคราะห์ตามความเป็นจริง เพื่อพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ค่ะ”
ความรู้และประสบการณ์จริงที่เธอได้รับจากนิด้า ทำให้เธอได้สานฝันในการทำหน้าที่สื่อเพื่อสังคม
“ความรู้ที่เอาไปช่วยสังคม เราได้มาจากวิจัยของตัวเอง เราสนใจเรื่องข่าวปลอมอยู่แล้ว เรื่องเฟคนิวส์ ข้อมูลเท็จ เราจึงตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ เรานำความรู้ทั้งหมดทั้งหมด ทั้งเรียน ทั้งวิจัย ในการจัดการข้อมูลต่างๆ ผนวกกับความรู้ด้านนิเทศ เข้าไปทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนว่าเขาจะตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองได้อย่างไร เหมือนติดอาวุธให้ประชาชนได้เริ่มต้นตรวจสอบสื่อด้วยตัวเอง”
เสาวภาคย์เสริมว่า “ถ้าเราทุกคนสามารถเป็นผู้รับสื่อที่ไม่เพียงแต่รับ แต่ยังมีความสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ข้อมูลเข้ามาเยอะมากๆ ตลอดเวลาได้ค่ะ”
หลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสกับนิด้า เสาวภาคย์ได้เรียนรู้ว่านิด้าไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบัน แต่ยังเป็นเหมือน ‘เลนส์’ ให้กับเธอ
“นิด้าเป็นเหมือนเลนส์ที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาจริงในสังคม ผ่านการเรียน หรือการวิจัย ส่วนตัวเรามองว่า นิด้าเป็นรากฐานสำคัญของความรู้สึกที่อยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วยค่ะ”
มากกว่าสอนให้รู้ คือสอนให้เข้าใจ ‘สังคม’
‘ดุจดาว เจริญผล’ เป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากร เธอเล่าให้ฟังว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เธออยากมาเรียนนิด้า เป็นเพราะ ‘ปากต่อปาก’ ของเพื่อนร่วมงานที่ส่วนมากล้วนเคยเป็นศิษย์เก่าของที่นี่
ดุจดาวเล่าว่า “ระหว่างที่เป็นอาจารย์พิเศษ เราค้นพบว่าอาจารย์ที่สอนในระดับเดียวกับเราประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นศิษย์เก่าของนิด้า เราได้ยินศิษย์เก่าแลกเปลี่ยนกัน ได้ยินเรื่องอาจารย์ หลักสูตร ภาพลักษณ์สถาบัน เราเก็บข้อมูลมาตลอด พอถึงเวลาต้องเลือกก็ตัดสินใจไม่ยากเลย”
ดุจดาวจึงตัดสินใจเรียนศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาอาชีพ คณะภาษาและการสื่อสาร
แต่ก่อนที่จะมาเรียนกับนิด้า ดุจดาวเคยต้องแบกรับความไม่มั่นใจมาก่อน เธอกลัวการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่แต่เมื่อได้ก้าวเข้ามาสู่รั้วนิด้า เธอกลับได้รับหลายสิ่งที่เกินความคาดหมาย ทั้งได้รับเพื่อนมากมายและความเข้าใจในสังคม
“นิด้าสอนให้เรารู้ว่า สังคมมันไม่จำกัด” ดุจดาวกล่าว
ที่นิด้า ดุจดาวกลายเป็นคนที่เข้าใจในสังคมมากขึ้น “ก่อนหน้านั้นเรามองอะไรแบนๆ แต่ตอนนี้เรามองอย่างมีมิติมากขึ้น แล้วเมื่อก่อนเราชอบทำงานคนเดียว แต่นิด้าสอนให้เรารู้จักทำงานกันเป็นทีม ทำงานร่วมกัน สอนให้เราเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย สอนให้ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้นค่ะ”
สำหรับดุจดาว การที่เราได้เข้าใจสังคมมากยิ่งขึ้น จะเป็นการช่วยพัฒนาสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง “นิด้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกับเราทุกคน เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่งซึ่งรวบรวมคนที่แตกต่างหลากหลายให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ก่อนจะได้จบออกไปอย่างเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น คนเหล่านั้นก็จะสามารถทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ค่ะ” เธอกล่าวจบ
ความรู้สร้างตัวตน และตัวตนสร้างสังคม
‘อัษฎาภรณ์ ไตรยาวัฒน์’ ทำงานเป็น Core Business Application Manager เหตุผลที่เธอเลือกมาเรียน เป็นเพราะเธอได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนิด้ามาก่อน จนเป็นเหมือนการโน้มน้าวการตัดสินใจของเธอ
“เราได้รับรู้ว่านิด้าเป็นสถาบันน่าอยู่ อบอุ่น เป็นกันเอง เราได้รับการแนะนำว่าควรจะมาเรียนที่นี่” ท้ายที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นอยากพัฒนาตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ผนวกกับเรื่องดีๆ ที่เธอได้ยินเกี่ยวกับนิด้า เธอจึงเลือกนิด้าเป็นหนทางเติมเต็มความฝัน และเข้ามาเรียนวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
อัษฎาภรณ์เล่าถึงสิ่งที่อาจารย์มอบให้เธอเมื่อครั้งสมัยเธอเป็นนักเรียน “อาจารย์สอนให้เราคิดอย่างมีความเป็นผู้นำ คิดอย่างสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล สร้างค่านิยมให้รับผิดชอบต่อสังคม รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค”
เธอสรุปว่า เพราะความรู้ที่เธอได้รับจากนิด้า มันจึงทำให้เธอกล้าที่จะเป็นคนใหม่ ที่พร้อมอยู่และสร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไป “แต่เดิมเราเป็นคนขี้อายค่ะ แต่พอมาเรียนที่นี่ ได้มีโอกาสไปสอบพูดในที่สาธารณะ อาจารย์คอยช่วยผลักดันว่าเราทำได้ๆ ทำให้เรากลายเป็นคนกล้าพูดมากขึ้น ทั้งในที่ทำงาน ที่ประชุม และในที่สาธารณะค่ะ”
ปริญญาที่ไม่ได้อยู่แค่บนหิ้ง แต่ยังอยู่เพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคม
‘ภูวิชชชญา เหลืองวีรกุล’ คืออัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เธอมีความฝันอยากเรียนจบด็อกเตอร์ก่อนอายุ 40 ปี แม้จะมีวิถีชีวิตที่เหมือนงานรัดตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เธอก็เชื่อว่านิด้าจะช่วยเติมเต็มแรงบันดาลใจและความฝันของเธอได้
“คนอาจถามว่าเรียนทำไม จบไปก็ไม่ได้เงินเดือนเพิ่ม แต่เรามองว่าเป็นการพัฒนาตัวเอง” ด้วยความเชื่อดังกล่าว ภูวิชชญาจึงตัดสินใจเรียนต่อนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์
ภูวิชชชญาเล่าว่า วิทยาพนธ์ที่เธอทำมาไม่ได้จบแค่บนชั้นวางเพียงเพื่อเป็นหลักฐานบอกว่าตนจบการศึกษา แต่มันยังสร้างอะไรได้มากกว่านั้น
“นอกเหนือจากสอนวิชาการ นิด้าก็สอดแทรกในเรื่องของสังคมเข้าในวิชาเรียนต่างๆ มีการลงพื้นที่ เรียนวิชา CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) ทำให้เราได้คิดวิเคราะห์แบ่งปันเพื่อสังคม คิดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน คิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างอะไรให้กับสังคมได้บ้าง”
ภูวิชชชญาเล่าถึงประสบการณ์สมัยเรียนว่า “เราได้เข้าไปมองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน แล้วดูว่ามันจะสามารถนำมาต่อยอดเป็นวิทยานิพนธ์ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้างค่ะ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาเน้นย้ำตลอดว่า สิ่งที่เราศึกษามันควรที่จะต้องไปก่อประโยชน์ใดๆ ให้กับสังคมบ้าง ไม่ใช่ทำจบแล้ววางไว้บนหิ้งเฉยๆ”
ในมุมของภูวิชชชญา สังคมที่เราต้องสร้างขึ้นมาคือสังคมที่ต้อง ‘มีความรู้’ และสังคมที่มีความรู้ คือสังคมที่จะสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนต่อไป เธอเสริมว่า นิด้ามีการมอบทุนการศึกษา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่เพื่อสังคมเช่นกัน
“การมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขาดทุนกำลังทรัพย์ แต่มีความรู้ความสามารถ สุดท้าย พอเราให้การศึกษา นักศึกษาคนนั้นก็จะออกไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาสังคมต่อไปค่ะ”
#NIDAThailand #นิด้าน่าเรียนที่สุด #จบนิด้าภูมิใจที่สุด #ProudToBeNIDA