NFT หลบไป!!! ศิลปินอิตาเลียนขาย ‘งานประติมากรรมที่มองไม่เห็น’ ราคากว่า 500,000 บาท
Select Paragraph To Read
- มูลค่า = เก็งกำไร
- “I am” งานประติมากรรมที่มองไม่เห็น
ยุคนี้เป็นยุคของการ “ลงทุน” ในรูปแบบแปลกๆ การซื้อ “คริปโตเคอเรนซี่” นั้นแม้ว่าจะน่าแปลกแล้ว แต่การซื้อ NFT ก็อาจประหลาดยิ่งกว่า เพราะมันไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการซื้อ “ชิ้นงานดิจิทัล” ชิ้นหนึ่งที่อยู่บน “บล็อคเชน” ซึ่งไม่ใช่การซื้อลิขสิทธิ์ด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะอธิบายยาก แต่ความเป็นจริงก็คือ คนที่ “ซื้อ” สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเจ้าของ ‘อะไร’ ในโลกวัตถุที่จับต้องได้เลย
พูดให้ตรงกว่านั้น การเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อ้างอิงกับอะไรในโลกวัตถุของเราเลย และยังไม่ต้องพูดว่าสิ่งที่ “ไม่อยู่จริง” เหล่านี้จะมี “ประโยชน์ใช้สอย” ใดๆ หรือไม่ (ต่างจากการซื้อ “หุ้น” แม้ว่าจะเป็นการซื้อ “ความเป็นเจ้าของบริษัท” ที่เป็นนามธรรม แต่ตัวบริษัท อย่างน้อยๆ ก็จับต้องได้)
นี่เป็นสิ่งที่คนอาจเข้าใจได้ยากมาก โดยเฉพาะเมื่อคนแห่กันไปขาย NFT กัน แล้วก็ดันมีคนซื้อด้วย
มูลค่า = เก็งกำไร
‘อะไร’ พวกนี้คนที่ไม่คุ้นกับโลกของ “การลงทุน” ก็คงจะงงมาก แต่คนที่ชินกับโลกของ “การลงทุน” ก็คงจะยักไหล่ เพราะ “สัจธรรมพื้นฐาน” ของโลกการเงินก็คือ อะไรก็ตามที่มีคนให้ “มูลค่า” ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นอะไร ถ้าสิ่งดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา การ “เก็งกำไร” ย่อมเกิดขึ้น
และเรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องปกติในโลกศิลปะ เพราะไม่ว่าศิลปะจะมีหน้าที่อะไรสำหรับใครก็ตาม สำหรับนักลงทุน งานศิลปะคือสินค้าสำหรับการเก็งกำไรชั้นดี (แถมใช้หลบเลี่ยงภาษีได้เยี่ยมด้วย)
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจ หากงานศิลปะที่แปลกๆ จะขายได้แพงระยับ เพราะสุดท้าย ไม่ว่า “สตอรี่” จะแบบไหน “แก่นสาร” ของการปั่นราคาไม่ได้ต่างจาก NFT
และล่าสุดโลกศิลปะก็พิสูจน์อีกครั้งถึงความนำสมัย
“I am” งานประติมากรรมที่มองไม่เห็น
Salvatore Garau ศิลปินจากเกาะซาร์ดีเนียของอิตาลี สามารถขายงาน “ประติมากรรมที่มองไม่เห็น” ได้ในราคาถึง 18,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยคือกว่า 500,000 บาท

Salvatore Garau | Oddity Central
งาน “ประติมากรรมที่มองไม่เห็น” นี้มีชื่องานว่า “I am” และตัวมันก็คือ “ความว่างเปล่า” ดีๆ นี่เอง นั่นคือไม่มีอะไรเลยที่จับต้องได้ในโลกวัตถุ
ตัวศิลปินอธิบายว่ามันคือ “ที่ว่างที่เต็มไปด้วยพลัง” และ “อัดแน่นไปด้วยความคิด” โดยคนที่จะซื้อไป ก็ต้องนำไปจัดแสดงในพื้นที่แบบ 150 ซ.ม. x 150 ซ.ม. ถึงจะถูกต้อง
ถามว่าคนซื้อไปแล้วได้อะไร คำตอบคือ ก็จะได้ประกาศนียบัตรว่าคุณเป็นเจ้าของงานชิ้นนี้ที่ไม่มีตัวตนในโลกวัตถุ
และก็แน่นอน “มันขายออก”
เรื่องพวกนี้อาจไม่ “ช็อกวงการ” ศิลปะเท่าไร เพราะในอดีต ก็มีคนเอาของไม่มีราคาค่างวดมาบอกว่าเป็นงานศิลปะแล้วขายกันได้เป็นแสนๆ ล้านๆ เป็นปกติ ดังนั้นการเอา “ความว่างเปล่า” มาขายนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกินคาดอะไร ยังไงมันก็ต้องเกิดขึ้นสักวัน
และอย่างน้อยๆ ใครคุ้นกับประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกก็คงจะรู้ว่าในโลกของดนตรีคลาสสิค John Cage ก็เคยแต่งเพลงที่ประกอบไปด้วย “ความเงียบ” ทั้งเพลงอย่าง 4’33’’ มาตั้งแต่ปี 1952 แล้ว และการที่ในโลกของทัศนศิลป์จะบอกว่า “ความว่างเปล่า” เป็นชิ้นงานทัศนศิลป์ได้ ก็เรียกได้ว่าตามหลังมาไกลด้วยซ้ำ
อ้างอิง:
- Interesting Engineering. World’s First ‘Immaterial’ Sculpture Sells for 15,000 Euros. https://bit.ly/3uDMvZc
- Italy 25 News. The first invisible sculpture sold for 15 thousand euros. The artist Garau: “A concentrate of thoughts”. https://bit.ly/3vEFLeW