2 Min

นักวิจัยพบ “สัตว์มีชีวิตประหลาด” ใต้ผืนน้ำแข็งแอนตาร์กติกา มีชีวิตอยู่โดยไม่มีแสง ไม่มีอาหาร

2 Min
2293 Views
02 Mar 2021

ผืนน้ำแข็งแห่ง “ทวีป” แอนตาร์กติกานั้นกว้างใหญ่ไพศาล ถามว่าใหญ่ขนาดไหน ด้วยขนาด 14 ล้านตารางกิโลเมตร ทวีปนี้มีขนาดใหญ่กว่าประเทศอเมริกาและจีน (ขนาดประมาณ 9 ล้านตารางกิโลเมตร) และมีขนาดเกือบครึ่งของทวีปแอฟริกา (30 ล้านตารางกิโลเมตร)

ดั้งเดิมทวีปแห่งนี้ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ และก็เรียกได้ว่าเป็นทวีปที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุดทวีปหนึ่งในปัจจุบัน ถึงแม้ในศตวรรษที่ 21 จะมีหลายประเทศไปตั้งศูนย์วิจัยในทวีปนี้มากมาย แต่ก็เรียกได้ว่า มนุษย์ยังค่อยๆ จะรู้จักมันเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยเท่านั้น

สิ่งมีชีวิตปริศนาที่แอนตาร์กติกา

สิ่งมีชีวิตปริศนาที่แอนตาร์กติกา | IFLScience

แต่การที่ไม่มีมนุษย์อยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิ่งมีชีวิต เพราะในทวีปนี้ ก็มีทั้งเพนกวิน วาฬ และสัตว์น้ำมากมายอยู่ทั่วผืนน้ำรอบๆ ทวีป

ว่าแต่ “ข้างใต้” ผืนน้ำและแผ่นน้ำแข็งล่ะ?

ดังที่รู้กัน “พื้นดิน” ของแอนตาร์กติกาไม่ใช่ “พื้นดิน” แต่เป็น “พื้นน้ำแข็ง” ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งนี่หมายความว่าข้างใต้มีพื้นดินอยู่ และจริงๆ มันอาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งเขาก็ทำการศึกษาวิจัยและพบว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นดินทวีปนี้เหมือนหุบเขาใต้ทะเลเลย

แผนที่หุบเขาข้างใต้แอนตาร์กติกา

แผนที่หุบเขาข้างใต้แอนตาร์กติกา | LiveScience

นี่ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่าแบบนี้ มันก็อาจมีผืนน้ำที่อยู่ใต้ทวีปหรือเปล่า? พูดง่ายๆ ก็คือ บางส่วนของพื้นดินที่อยู่ต่ำ ไม่น่าจะเป็นน้ำแข็งจากด้านบนไปถึงพื้นดิน

คำถามนี้นำไปสู่การทดลองเจาะพื้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาลงไปในส่วนที่คาดว่าจะลึก

และหลังจากนักวิจัยเจาะลงไปถึง 900 เมตรก็อึ้ง! เพราะนอกจากพบว่าข้างใต้นั่นเป็นผืนน้ำแล้ว ยังพบสิ่งมีชีวิตอีกด้วย และนี่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยพบที่ไหนในโลก

พวก “สิ่งมีชีวิตที่ไม่พบที่ไหนในโลก” จริงๆ มีอยู่มากมาย ในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ในถ้ำลึก ในแถบปากปล่องภูเขาไฟใต้ทะเล ฯลฯ

แต่เคสที่ “ประหลาด” ในแอนตาร์กติกานี้ก็คือ นักวิจัยพบว่า สิ่งมีชีวิตใต้แอนตาร์กติกามีลักษณะคล้ายๆ ฟองน้ำ ซึ่งมันยึดติดกับพื้นหินด้านล่าง

สิ่งมีชีวิตปริศนาที่แอนตาร์กติกา

สิ่งมีชีวิตปริศนาที่แอนตาร์กติกา | IFLScience

และนี่แหละ ความประหลาด!!! คือมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “อยู่กับที่” ในความมืดใต้ผืนน้ำแข็งลงไปเกือบ 1 กิโลเมตร และห่างจากแหล่งแสงสว่างที่ใกล้สุดไป 1,500 กิโลเมตร

และนำมาสู่คำถามว่า “มันกินอะไรเป็นอาหาร?” เพราะโดยทั่วไป สิ่งมีชีวิตที่อยู่กับที่แบบนี้ ถ้าไม่สังเคราะห์แสง ก็จะกินพวกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สังเคราะห์แสงเป็นอาหาร

แต่นี่ไม่น่าจะใช่ทั้งคู่ นักวิจัยเลยสันนิษฐานว่า หรือว่ามันจะได้รับสารอาหารบางอย่างจากน้ำแข็งที่ละลายลงไป? หรือว่ามันจะมีวิธีสังเคราะห์พลังงานจากก๊าซใต้พื้นโลก?

ทั้งหมดยังเป็นปริศนา เพราะนักวิจัยยังเอาตัวอย่างสิ่งมีชีวิตประหลาดพวกนี้มาวิเคราะห์ไม่ได้ แต่ถ้าวิเคราะห์ได้แล้ว มันอาจไม่ใช่แค่ทำให้เราเข้าใจสิ่งมีชีวิตประหลาดบนโลก แต่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปได้ของชีวิตบนดาวเคราะห์ต่างๆ ที่อากาศหนาวเย็นเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่อาศัยด้วย

อ้างอิง:

  • IFLScience. New Lifeforms Found Deep Beneath Antarctica Are “Breaking All the Rules”. http://bit.ly/3r5LmJ1