Select Paragraph To Read
- 1.“เรียนจบมาต้องเป็นนัมเวอร์วันตัวเต็งในการหาเงินเข้าบ้าน”
- 2.“ทำให้ต้องถีบตัวเอง ผลักดันตัวเองให้มากกว่าเดิม ถ้าเหนื่อยแล้วหยุดจะโดนนำไปไกลไหม?”
- 3.“ยอมทำงานไม่ตรงสาย หรือเบนเข็มไปเรียนต่อ”
- 4.“เกาะพ่อแม่กิน ประโยคที่ใช้เพื่อนตำหนิคนอื่น ขอให้หยุดแล้ว พิจารณาก่อน”
เรียบจบยัง?
สมัครงานที่ไหน?
ทำงานอะไร?
หรือเรียนจบเลี้ยงพ่อแม่ได้แล้วนะ
อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เกาะพ่อแม่กินไปวันๆ
เชื่อว่าเด็กจบใหม่หลายๆ คนต้องพบเจอประโยคข้างต้นกันมาบ้าง ถือเป็นประโยคยอดฮิตพอๆ กับกินข้าวหรือยัง? จนกลายเป็นค่านิยมของสังคมหรือถูกตีตราไปแล้วว่า พอเรียนจบต้องมีงานทำ!
แต่อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงตอนนี้ ทำให้มีเด็กจบใหม่เมื่อปีที่แล้ว ยังคงค้างกับการว่างงาน และกำลังมีเด็กที่กำลังเรียนจบในปีนี้เช่นเดียวกัน
โดยเด็กจบใหม่บางคนคิดวางแพลนอนาคตของตัวเองไว้ก็ต้องล่มไม่เป็นท่า หรือเริ่มต้นหางานทำยากขึ้น หว่านส่งหางานทำไปหลายๆ ที่ ก็ไม่ได้การตอบรับใดๆ ซึ่งจากเดิมที่มีบางสายอาชีพหางานยากอยู่แล้วด้วย รวมไปถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต่างรู้สึกเคว้งไม่รู้ชีวิตจะไปทางไหนต่อ
บ่อยครั้งปัญหาที่เด็กจบใหม่สะสมไว้ไม่เคยได้พูดในสิ่งที่พวกเขารู้สึกจากการเผชิญหน้ากับปัญหาออกมา เพราะไม่ว่าจะเปล่งเสียงออกมาดังแค่ไหนก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่เคยทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่พยายามเปิดใจยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ซึ่งไม่ใช่ว่าเด็กจบใหม่ทุกคนจะไม่หางานทำหรือรอแบมือขอเงินครอบครัวเพียงอย่างเดียวตลอดไป พวกเขาต่างก็พยายามหาเงินเลี้ยงชีพตัวเอง อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ด้วยเหตุผลอะไรหลายๆ อย่างเช่น สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่บีบบังคับให้ต้องจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1.“เรียนจบมาต้องเป็นนัมเวอร์วันตัวเต็งในการหาเงินเข้าบ้าน”
เสียงเล็กๆ ของเด็กจบใหม่คนหนึ่ง ที่เจอกับคำพูดของครอบครัวที่แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เมื่อพูดบ่อยๆ รวมถึงการแสดงออกต่างๆ ทำให้เธอรู้สึกต้องแบกรับความคาดหวังของครอบครัวอย่างหนักว่า ถ้าเรียบจบมาต้องหาเงินให้ครอบครัว! ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ใช่ลูกคนเดียว แต่กลับถูกตีกรอบให้เป็นคนสำคัญในการหาเงินเข้าบ้านเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้เธอรู้สึกกดดันตัวเองมากๆ และรู้สึกแย่ทุกครั้งที่ต้องขอเงิน
เพราะยังหางานทำไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่พยายามหางานทำ เธอทั้งส่งสมัครงานหลายบริษัทแต่ก็ยังคงพบกับความผิดหวัง และรับงานฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่ได้มีงานมาให้ทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ทำให้รายได้ไม่มั่นคงขนาดนั้น
2.“ทำให้ต้องถีบตัวเอง ผลักดันตัวเองให้มากกว่าเดิม ถ้าเหนื่อยแล้วหยุดจะโดนนำไปไกลไหม?”
อีกหนึ่งเสียงของนักศึกษาจบใหม่ที่มองว่า หากเธอเรียนจบมาต้องมาแย่งกันหางานทำกัน ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาการว่างงาน การแย่งงานกันทำเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว แต่สำหรับในปัจจุบันนี้ที่มีจำนวนคนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาที่รอวันแก้ไขหรือแก้ไขแล้วยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร กลับสะสมเพิ่มพูนคล้ายจะสิ้นหวัง
เธอจึงพยายามศึกษาหาทักษะอื่นๆ เพื่อมาเสริมให้ตัวเองมีดีในหลายๆ ด้าน รวมถึงใช้เวลาในการทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ และไม่ปล่อยทิ้งเวลาให้เสียประโยชน์ไป อีกทั้งเธอต้องการผลักดันตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าย่ำอยู่กับที่
3.“ยอมทำงานไม่ตรงสาย หรือเบนเข็มไปเรียนต่อ”
นับเป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่บ่อยครั้งเริ่มท้อ สิ้นหวังกับหนทางการหางานหรือไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ ว่างๆ อีกต่อไปแล้วเลยจำยอมทำงานไม่ตรงสาย แม้จะบ่นว่า เสียดายที่ไม่ได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาอย่างหนักไปทำงานตรงสาย แต่เพราะชีวิตคนเรายังต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน เธอจึงอยากหาเงินด้วยตัวเอง และไม่อยากเป็นภาระให้ใคร
อีกทั้งบางครั้งก็คิดว่าถ้าว่างงานต่อไปนานๆ โอกาสที่ได้งานอื่นๆ ก็จะน้อยลงด้วย เธอเลยคิดว่าจะไปเรียนต่อในสิ่งที่ตัวเองอยาก เพื่อเก็บประสบการณ์ต่างๆ ให้ได้เยอะๆ แล้วค่อยกลับมาหาโอกาสเพื่อทำในสิ่งที่ใช่ และชอบต่อไป
นอกจากนั้นเสียงของเด็กจบใหม่บางคนยังเล่าถึง ความจำเป็นในเงื่อนไขทางฐานะการเงินของครอบครัวที่ไม่สามารถพักได้แม้แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ เรียนจบมาก็ต้องพยายามดิ้นรนหางานทำเลย แม้จะเป็นงานที่สร้างรายได้ไม่มากก็ตาม แต่ก็ต้องทำ เงินเล็กๆ น้อยๆ มาที่พอจะช่วยเหลือ แบ่งเบาค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้บ้าง
4.“เกาะพ่อแม่กิน ประโยคที่ใช้เพื่อนตำหนิคนอื่น ขอให้หยุดแล้ว พิจารณาก่อน”
มุมมองของเด็กจบใหม่คนหนึ่งต่อประโยคว่า “เกาะพ่อแม่กิน” ที่สำหรับเธอนั้นคิดว่า การกระทำนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้างในสังคม ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปวิจารณ์คนอื่น ซึ่งบางครอบครัวก็เต็มใจที่จะซัพพอร์ตด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และทัศนคติของแต่ละครอบครัวต่างกัน
อีกทั้งยังบอกทิ้งท้ายอีกว่าว่า การได้รับกำลังใจจากครอบครัว ช่วยให้เข้มแข็งได้มากเลย อาจจะมีคนรอบข้างที่ชอบรับบทเป็นป้าข้างบ้านมา เขาแทบจะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวต่างๆ ที่เด็กจบใหม่ส่วนหนึ่งได้พบเจอนั้น ต่างก็มีความหวังว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจะดีขึ้น เพื่อจะได้มีโอกาส รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ รวมไปถึงคนบางกลุ่มเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนความคิดที่มีต่อค่านิยมของเด็กจบใหม่ เพราะยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
แล้วคุณล่ะ มีมุมมองความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง หรือเด็กจบใหม่คนไหนที่อยากมาแบ่งปันเรื่องราวที่ตัวเองพบเจอก็คอมเมนต์กันมาได้เลย