Select Paragraph To Read
- ความเสื่อมของเนื้อสมองไม่เท่ากับความเสื่อมของการประมวลผล
- ไม่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สมองจะเสื่อมลงทุกวัน
การศึกษาจำนวนยืนยัน การ “เรียนรู้สิ่งใหม่” ช่วยให้คนแก่ “สมองเสื่อม” ช้าลง
ในโลกตะวันตก มีความเชื่อมายาวนานกว่า 500 ปีว่า เราไม่สามารถจะสอนอะไรให้กับคนแก่ๆ ได้ ซึ่งในบ้านเราก็มีความเชื่อคล้ายๆ กัน ถ้าใครแก่แล้วก็ต้อง “ปล่อยเขาไป” เพราะเขาอยู่ในวัยที่ไม่สามารถจะเรียนรู้อะไรได้แล้ว
แต่งานวิจัยในช่วงหลังๆ ดูจะชี้ว่านี่เป็นความเชื่อผิดๆ ที่อาจเป็นภัยต่อ “คนแก่” เอง
ความเสื่อมของเนื้อสมองไม่เท่ากับความเสื่อมของการประมวลผล
ความเชื่อที่ว่าคนแก่ๆ ไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้น่าจะมาจากสถานะของคนแก่ในสังคมสมัยก่อนที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไร เพราะถือว่ามีอำนาจมากที่สุดของสังคม ทุกคนต้องฟัง
แต่ในยุคหลังๆ ที่เราเข้าใจสรีระของมนุษย์มากขึ้น สิ่งที่คนจะอธิบายกันก็คือ คนแก่มีความเสื่อมในทางกายภาพของสมองจริงๆ โดยทุกวันนี้ก็ยังเป็น “ข้อเท็จจริง” ว่านับแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สมองคนละลดปริมาณลงประมาณ 4% ทุกๆ 10 ปี ดังนั้นการที่เนื้อสมองลดลงเรื่อยๆ เมื่อแก่ลง ความสามารถในการประมวลผลก็ต้องลดลงแบบไม่มีวันย้อนกลับมา
แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด
ในยุค 1960’s นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เจฟฟรี่ เรสแมน ค้นพบว่าสมองของหนูที่เสียหาย สามารถจะฟื้นการทำงานตัวเองได้ แม้ว่าส่วนที่เสียแล้วก็เสียเลย กล่าวคือ แทนที่สัญญาณไฟฟ้าจะวิ่งตรงๆ แบบเดิม พอเกิดความเสียหายแล้ว สัญญาณไฟฟ้าแบบเดิม สามารถวิ่งอ้อมได้

เจฟฟรี่ เรสแมน | Spinal Injuries Association
พูดภาษาชาวบ้านกว่านั้นคือ ถึงแม้สมองโดนทำลายไป หรือลดขนาดลงไป มันก็ยังทำงานแบบเดิมได้ถ้ามันมีความพยายาม และในทางประสาทวิทยาศาสตร์ เราเรียกภาวะการปรับตัวของสมองนี้ว่า “Neuroplasticity”
และไอเดียเรื่อง Neoroplasticity นี่ก็แทบจะปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับสมองและการประมวลผลของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตใดๆ เลย เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าสมองนั้น “เปลี่ยนแปลง” ตลอดชีวิต เราเพิ่มเซลล์ไม่ได้ก็จริง แต่ความสามารถในการประมวลผลไม่ได้อยู่ที่จำนวนเซลล์ แต่อยู่ที่การทำงาน และการใช้สมองเยอะๆ ก็จะไปสร้างการเรียนรู้การประมวลผลของเซลล์ หรือไปสร้างเส้นทางเดินของคลื่นไฟฟ้าประสาท (neural pathway) ใหม่
พูดง่ายๆ เรา “เปลี่ยนแปลงสมอง” ของตัวเองในระดับการทำงานในทางกายภาพได้ผ่านการเรียนรู้ และสำหรับคนแก่นี่ก็เป็นความจริงเช่นกัน
ไม่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สมองจะเสื่อมลงทุกวัน
ความเข้าใจเรื่อง Neoroplasticity แน่นอนว่าสำคัญสำหรับคนในหลายเพศและวัย แต่จริงๆ มันสำคัญกับคนแก่เป็นพิเศษ เพราะข้อเท็จจริงนี้กลับไปเถียงความคิดที่ว่าคนที่มีเซลล์สมองน้อยลงแล้วต้องก้มหน้ารับชะตากรรม
เพราะในความเป็นจริง หากคนแก่ใช้สมองเยอะๆ ผลก็คือภาวะ Neuroplasticity ก็จะทำงานให้สมองที่เซลล์น้อยลงสามารถทำงานได้มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือทำงานได้เหมือนเดิมแม้ว่าเซลล์จะน้อยลงนั่นเอง
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เคลมกันในทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะนักประสาทวิทยาศาสตร์เคยทำการทดลองเอาคนแก่มา “เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ” ไปพร้อมกับการสแกนสมอง และเขาพบจริงๆ ว่ามีภาวะ Neuroplasticity เกิดขึ้น คือพบกิจกรรมทางประสาทอย่างเข้มข้นเกิดขึ้นจริงๆ และที่น่าสนใจคือ ด้วยความยืดหยุ่นของเซลล์ประสาท ถ้าสมองส่วนไหนเสื่อม มันจะย้ายไปใช้เซลล์ส่วนอื่นในการประมวลผลโดยอัตโนมัติ และนี่คือความมหัศจรรย์แท้ๆ ของระบบประสาทของมนุษย์
และถ้าแบบนี้ยังไม่ชัดพอ เคยมีงานวิจัยในปี 2002 ที่เอาคนอายุ 65-94 ปีมาเข้าโครงการเพิ่มเชาวน์ปัญญาเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลก็คือคน 3 ใน 4 สามารถเพิ่มเชาวน์ปัญญาได้หลังผ่านโครงการ
นั่นหมายถึงความสามารถในการประมวลผลนั้นรวดเร็วขึ้นกว่าก่อนเข้าโครงการ และที่น่าตกใจกว่านั้น เขาติดตามผลของพัฒนาการนี้และพบว่า 10 ปีต่อมา คนที่ยังเหลือรอดอยู่ ความรวดเร็วในการประมวลผลก็ไม่ได้ลดลงเลยหลังจากเข้าโครงการ
นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า หากคนแก่ใช้สมองจริงๆ จังๆ ผลของการพัฒนาการประมวลผลผ่านกระบวนการ Neuroplasticity นั้นอาจ “ถาวร” ก็ได้
และนี่ก็ยังไม่นับงานวิจัยคนแก่สวีเดนในปี 2002 ที่พบว่าคนแก่ที่ “เข้าสังคม” สม่ำเสมอจะมีความเสี่ยงต่ออาการ “สมองเสื่อม” ลดลงถึง 40% หรืองานวิจัยในปี 2014 ที่พบว่าคนแก่ที่หัดใช้ iPad นั้นจะความจำดีกว่าคนแก่ที่ไม่ได้ใช้ iPad อย่างชัดเจน
แม้ว่างานพวกนี้จะกระจัดกระจาย แต่องค์ความรู้ทั้งหมดที่มีนั้นดูจะชี้ไปตรงกันว่า ไม่ควรจะมีคนในวัยไหนหยุดเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้งในวัยชรานั้นช่วยทั้งความจำ ความเร็วในการประมวลผล ไปจนถึงการทำงานของสมองโดยรวมๆ
และประเด็นเหล่านี้ก็น่าจะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ใน “สังคมผู้สูงอายุ” ที่คนแก่จะกลายมาเป็น “คนส่วนใหญ่” ของสังคม
อ้างอิง
- Popular Science. Old dogs need to learn new tricks. Here’s why. https://www.popsci.com/story/science/learning-new-things-when-old/