4 Min

‘NET ZERO’ คืออะไร? ทำไมเราต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์

4 Min
1053 Views
12 Nov 2021

อากาศแปรปรวน

ธารน้ำแข็งละลาย

พายุฟ้าฝนรุนแรง

ความแห้งแล้งถาโถม

หนาวร้อนฉับพลัน 

ประเด็นดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์เอาตัวรอดยุคล่มสลาย แต่เชื่อไหมว่า ประเด็นเหล่านั้นไม่ใช่การข่มขู่ หรือการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ประเด็นเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในทุกขณะ และมันกำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาที่พวกเราได้ยิน ได้เห็น และสัมผัสกันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญอาจไม่เรื่องของการรับรู้ และความเข้าใจอีกต่อไปแล้ว พูดให้ชัดคือโลกกำลังต้องการการลงมือทำอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหา Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด อย่างการเกษตรกรรมและการเพาะปลูก ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ผลผลิตลดลง ผลผลิตไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่เคยเป็นมา ราคาพืชผักอาจจะมีราคาสูงขึ้นและแน่นอนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร และค่าครองชีพของประชากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สัตว์ต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ภัยแล้ง รวมถึงอุทกภัยต่างๆ ที่พวกเราต้องเผชิญกันอยู่เกือบตลอดก็เป็นส่วนหนึ่งจากปัญหาโลกร้อน เช่นกัน 

ในช่วงที่ผ่านมา ตามข้อตกลงปารีส 2015 มีการบรรลุเงื่อนไขข้อตกลงที่ว่า จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (ถ้าไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็จะยิ่งดี) เป็นดั่งภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติในการแก้วิกฤตการณ์โลกร้อน

แนวคิดเรื่อง ‘Net Zero’ จึงกลายเป็นแนวคิดที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญ และมีการตั้งมั่นว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นจริง รวมทั้งในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) Net Zero ก็ถูกยกมาเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยของผู้นำหลายฝ่าย

ถึงแม้พฤติกรรมของประชาชนทั่วโลกจะส่งผลในเชิงสภาพแวดล้อม หากเราพูดกันตามตรง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจเองก็มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แล้วถ้าถามต่อว่า จะทำอย่างไรถึงจะควบคุมอุณหภูมิโลกได้ เราก็ต้องขอตอบว่า ไม่มีฝ่ายไหนทำคนเดียวได้ เพราะมันต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งโลก และหนึ่งในเส้นทางการแก้การไข ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ ทุกประเทศจำเป็นต้องบรรลุหลักการ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050 ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินกว่าจะแก้

แล้ว Net Zero คืออะไร? แล้วทำไมต้องเป็นศูนย์ เป็นประเด็นที่เราจะชวนทุกคนมาคุยกันในวันนี้

ถ้าจะอธิบายให้ง่าย Net Zero คือแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ไม่ใช่แค่ในเชิงอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต หรือโรงงาน แต่รวมถึงทุกการทำงานขององค์กร ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นต้องไม่มีกระบวนการไหนเลยที่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เป็นเหมือนขั้นตอนที่จะช่วยให้ไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ลดปริมาณลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยตั้งเป้าหมายปลายทางไว้ที่ไม่ปล่อยออกมาเลย ก่อนจะพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ที่เคยถูกปล่อยมาในอดีตต่อๆ ไป 

โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ GC Group ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากลนับว่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพว่า องค์กรต่างๆ จะมีบทบาทแค่ไหนในการดูแลโลกใบนี้

หากใครได้ติดตามข่าวกันมาบ้าง GC Group มีการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก GC Group มีความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 และลดลงจนเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

ถามว่าง่ายไหม เราก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงขององค์กรขนาดใหญ่ในทุกก้าว ทุกนโยบายย่อมมีส่งผลกระทบอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ดังนั้นโจทย์เรื่อง Net Zero นับว่าเป็นโจทย์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทายของทาง GC ด้วยเช่นกัน

จึงต้องพึ่งพาแนวทางการทำงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผสานเข้ากับแนวทางการชดเชยคาร์บอนฯ ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฯ (Decarbonization) ด้วยการดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ

1. Efficiency-Driven

สิ่งสำคัญก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทุกกระบวนการต้องลดการปล่อยของเสีย ผ่านหลักแนวคิด 5R (Reduce | Reuse | Repair | Recycle | Reject) โดย GC ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้สามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าสูงสุด

2. Portfolio-Driven 

เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Bussiness) ที่ทั้งองค์กรและสภาพแวดล้อมจะสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้แบบยั่งยืน ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม มีการลงทุนสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ธุรกิจสีเขียว (Green Business) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 

รวมถึงการพัฒนาแนวคิด Loop Connecting ที่ลดการใช้ทรัพยากร โดยสร้างระบบหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร (Circularity) ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้ด้านการจัดการพลาสติกใช้แล้ว (Plastic Waste Management) ร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ 

3. Compensation-Driven 

ดังที่กล่าวไปในข้างต้น พวกเราปลดปล่อยคาร์บอนฯ ออกมากันเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะฉะนั้นแนวทางในการดูแลรักษาโลกไม่ได้เป็นเพียงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จำเป็นต้องจัดการคาร์บอนปริมาณมหาศาลที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วย  

การชดเชยคาร์บอนฯ จึงเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดย GC มีการดำเนินงานด้านการใช้เทคโนโลยี (Technology-based Solutions) เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯ ด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) และการชดเชยผ่านการดูดซับคาร์บอนฯ จากธรรมชาติ (Nature-based Solutions) เช่น การปลูกป่า ฟื้นฟูป่า เป็นต้น

เราต่างทราบกันดีว่า ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกคน ภารกิจนี้ไม่ได้ต้องการแค่ GC ไม่ได้ต้องการแค่ผม หรือคุณ แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมมือกันให้การตั้งเป้าหมายนี้เกิดขึ้นจริง

ในฐานะพลเมืองโลกเราต้องการส่งต่อโลกใบนี้ ที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นต่อไป และแน่นอนว่าเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันหน้ามาร่วมมือกัน Together To Net Zero” ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นประโยคที่เน้นย้ำถึงแนวทางของ GC ได้เป็นอย่างดี

ในฐานะมนุษย์ ในฐานะพลเมืองโลก โลกคือสินทรัพย์เดียวที่พวกเรามีร่วมกัน ในวันที่เรายังพอแก้ไขอะไรได้ คงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ลงมืออย่างจริงใจ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินควร การร่วมมือกันครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อโลกใบใหญ่ของพวกเรา