4 Min

รู้จัก ‘หมู่บ้านหนึ่งไต’ ในเนปาล ที่ซึ่งทุกครอบครัวต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่ได้ ‘ขายไต’ ไปข้างหนึ่ง

4 Min
123 Views
22 Apr 2024

โลกนี้การค้าอวัยวะคือปัญหาใหญ่ และอวัยวะที่ ‘ขายดี’ ที่สุดก็หนีไม่พ้นไต เพราะการปลูกถ่ายมีโอกาสรอดสูง และคนที่เป็นโรคไตในระยะท้ายๆ ก็ไม่มีทางจะกลับมามีชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการ ‘บริจาค’ ไตจากผู้อื่น

ซึ่งเอาจริงๆ ศูนย์กลางการค้าไตของโลกก็คืออินเดีย ไม่ใช่แค่เพราะอินเดียมีภาวะสีเทาทางกฎหมายมากพอที่จะทำให้การปลูกถ่ายไตเถื่อนเป็นไปได้ แต่อีกหนึ่งสาเหตุก็เพราะว่าอินเดียไม่เคยขาดแคลนคนยากจนพอที่พร้อมจะ ‘ขายไต’ เพื่อเอาเงินก้อนมาทำให้มีชีวิตที่ดีกว่า

หลายคนคงรู้ว่า ‘ราคา’ ของไตในตลาดมืดโดยทั่วไปก็อยู่ราวๆ ข้างละ 40,000-50,000 บาท ข้อมูลจากช่วงก่อนโควิดระบาดก็ยังยืนยันราคานี้ และข้อเขียนนี้ก็จะพาไปสำรวจว่าทำไมคนถึงยอมขายไตเพื่อจะเอาเงิน ‘แค่นี้’ โดยจะพูดถึง ‘หมูบ้านฮกเซ’ (Hokse) ในเนปาล ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘หมูบ้านหนึ่งไต’ มาเป็นทศวรรษ เพราะคนในหมู่บ้านนี้ทุกครอบครัวต้องมีคนอย่างน้อย 1 คนทำการขายไตตัวเองจนเหลือไตเพียงข้างเดียว

ทำไมเขาถึงยอมขายไต? มาคุยเรื่องปริมาณเงินกันก่อน เนปาลเป็นชาติยากจน และหมู่บ้านยากจนในเนปาลก็โคตรจนระดับที่เงิน 50,000 บาท นั้นมีมูลค่ามากกว่าค่าแรงของการทำงานทั้งปีของชาวบ้านจนๆ ที่ไม่มีการศึกษา ซึ่งเงินก้อนนี้ก็มากพอที่จะเอาไป ‘ซื้อบ้านและสร้างบ้าน’ ได้เลย ค่าครองชีพมันถูกขนาดนั้น 

ในแง่นี้สำหรับคนจำนวนมากที่ยอมขายไต จริงๆ มันเหมือนการ ‘เอาไตข้างหนึ่งไปแลกบ้านหลังหนึ่ง’ ซึ่งชาวบ้านบางคนก็จะบอกว่าคุ้ม และเสียดายที่มีไตแค่สองข้าง ไม่อย่างนั้นคงได้ขายเพิ่มแล้ว

นี่คือเหตุผลที่คนในหมู่บ้านปัจจุบันยัง ‘ขายไต’ กันอยู่ถ้ามีโอกาส

แต่ ‘จุดเริ่ม’ มันไม่ใช่แบบนั้น

จุดเริ่มของการ ‘ขายไต’ ในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่เกิดจากชาวบ้านที่โดนหลอกไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย ตอนแรกก็ไปทำงานตามปกติ ก่อนที่พวก ‘นายหน้า’ จะส่งพวกนกต่อ อ้างว่าเป็นเพื่อนคนโน้นคนนี้แล้วก็มาโฆษณาว่าการขายไตดียังไงบ้าง ได้เงินมากแค่ไหน ซึ่งชาวบ้านผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ตาลุกวาวกับเงินที่จะได้ และแน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่พวกนกต่อบอกว่าไตนั้นตัดทิ้งไปก็ ‘งอกใหม่’ ได้นั้นเป็นคำโกหกล้วนๆ

ผลรวมๆ ก็คือถ้าไม่ยินยอมดีๆ ก็จะถูกมัดมือชกให้เซ็นเอกสารบริจาคอวัยวะอะไรก็ว่ากันไป ทั้งหมดนี้จึงทำให้ในทางเอกสารแล้ว มันคือการบริจาคไตตามปกติ และกระบวนการซื้อขายนั้นก็ทำอยู่เบื้องหลังโดยผ่านพวกนายหน้า

ชาวบ้านหลังจากโดนตัดไตทิ้งก็ระหกระเหินกลับมาเนปาล ร่างกายแย่ลงจริง แต่ก็กลับมาพร้อมเงินก้อนโต และสำหรับคนระดับล่างที่ไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก การได้รับเงินขนาดนั้นโดยไม่เสียชีวิตและก็ไม่ได้พิการก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ดี โดยต้องยอมรับด้วยว่าหลายๆ คนที่เสียไตไปข้างหนึ่ง แม้ว่าตอนแรกจะยังอ่อนแอ แต่อยู่ๆ ไปก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะมนุษย์สามารถอยู่ได้โดยมีไตเพียงข้างเดียวอยู่แล้ว นี่เลยยิ่งทำให้คนในหมู่บ้านมองเห็นว่า ‘ขายไตไปก็ไม่ตาย’ และยิ่งอยากขายไตกันมากขึ้นไปอีก

ทำให้ตอนหลังๆ พวกนายหน้ามาดีลซื้อขายไตกันในหมู่บ้านเลย ไม่ต้องหลอกไปทำงานแล้ว ดีลซื้อขายไตตรงๆ กันเลย ชาวบ้านยินดี นายหน้าก็แฮปปี้ เพราะการไม่ต้องหลอกคนก็ย่อมดีกว่าการต้องหลอกคน ซึ่งบางคนก็บ่นด้วยซ้ำว่าเสียดายที่ขายไม่ได้ เพราะหลายคนก็คงรู้ว่าการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นไม่เหมือนการเปลี่ยนอะไหล่ดิบๆ มันต้องมีการตรวจสอบสภาพของไตและการเข้ากันทางพันธุกรรมระหว่าง ‘ผู้บริจาค’ กับ ‘ผู้รับบริจาค’ นอกจากนี้ไตที่ ‘ขาย’ ไปก็ต้องเอาไปปลูกถ่ายทันที จะตัดไปแช่ช่องฟรีซไว้ใช้ปีหน้าไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่ใครอยากขายเมื่อไรก็ขายได้ มันต้องมี ‘ออร์เดอร์’ ก่อน และคนคอยดูออร์เดอร์พวกนี้ก็คือพวกนายหน้าที่ว่านี้เอง

มาถึงตอนนี้บางคนอาจสงสัยว่าถ้าคน ‘ยินดีจะขาย’ ทำไมถึงไม่ให้พวกเขาขาย? คือการห้ามค้าขายอวัยวะในระดับสากลมีเหตุผลของมัน เพราะภายใต้กลไกทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีกระบวนการทำให้คนเป็นหนี้หัวโตสารพัด ซึ่งภาวะเป็นหนี้ล้นพ้นพวกนี้ก็เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะทำให้คนหมดหนทางเลือกในชีวิตและจำต้องขายอวัยวะ ดังนั้นการห้ามขายอวัยวะนั้นในแง่หนึ่งจึงหมายถึงการห้ามขายอวัยวะเพื่อใช้หนี้ ไปจนถึงห้ามใช้อวัยวะตัวเองไปค้ำประกันเงินกู้อะไรแบบนี้ด้วย และมองในแง่นี้ เราก็คงจะเห็นว่าถ้าคนไม่ยากจนและไม่เห็นทางออกของชีวิตจริงๆ ก็คงจะไม่มีใครลุกขึ้นมานึกสนุกเอาอวัยวะตัวเองไปขายหรอก

พูดอีกแบบ การห้ามขายอวัยวะคือการวางขีดจำกัดว่าทุนนิยมนั้นห้ามทำอะไรกับร่างกายของมนุษย์นั่นเอง อย่างน้อยก็ในกรอบของกฎหมาย

สิ่งที่น่าสยองคือ ถึงจะมีกฎหมายแบบนี้แล้ว ก็ยังคงมี ‘หมู่บ้านหนึ่งไต’ ดังที่เล่ามาเกิดขึ้นบนโลก และนี่ก็เป็นเพียงแค่หมู่บ้านที่ดังที่สุดเท่านั้น เพราะจริงๆ ในพื้นที่ยากจนสุดๆ ในอินเดียไปจนถึงอัฟกานิสถานยังมีหมู่บ้านแบบเดียวกันนี้ซ่อนอยู่เต็มไปหมด

สุดท้าย ถ้าจะหวังให้อะไรพวกนี้หมดไป เราน่าจะหวังให้เทคโนโลยีการ ‘ปลูกถ่ายไตหมู GMO’ ที่กำลังพัฒนาทุกวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี เพราะถ้ามันสำเร็จได้จริงๆ ไม่นานต้นทุนก็จะถูกลง และเมื่อนั้นแหละที่ ‘ไตมนุษย์’ จะราคาตกลงจนไม่มีใครอยากขายไตตัวเองอีกแล้ว 

อ้างอิง

  • The Kathmandu Post. Field Notes from Nepal’s Single-Kidney Village. https://shorturl.at/lprEN
  • DailyMail. Revealed: Nepalese village where almost everyone sold their kidneys to ‘organ traffickers’ to buy a house… only for them to be destroyed by devastating earthquake. https://shorturl.at/flVX5
  • Time. Nepal’s Impoverished Kidney Village, Where Organs Come Cheap. https://shorturl.at/efkr0