Select Paragraph To Read
- นูเรมเบิร์ก ปี 1945
- พวกเราถูกฝึกมาให้เชื่อฟัง
- อดอล์ฟ ไอชมันน์ กับ แนวคิดอันตราย
- บทเรียนแก่ปัจจุบัน
เป็นที่รู้กันดีว่าสงครามโลกที่ 2 กับความเชื่ออันสุดโต่งของ “อดอลฟ์ ฮิตเลอร์” ก่อให้เกิดเหตุการณ์ “มนุษย์ฆ่ามนุษย์” ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
หลังสงครามจบลงในปี 1945 มีชีวิตชาวยิวกว่า 6 ล้านคนสูญเสียไปในความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และความเลวร้ายของมันก่อให้เกิดการ “พิพากษา” เจ้าหน้าที่มือเปื้อนเลือดทั้งหลายขึ้นมา
สิ่งหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้ตัวคดีเอง คือ “ข้ออ้าง” ของนาซีที่ใช้ปกป้องและอธิบายการกระทำของตนเอง
พวกเขาบอกว่าตนเพียงแค่ “ทำตามคำสั่ง” หรือ “พวกเขาถูกฝึกมาให้เชื่อฟังคำสั่ง”
แต่คำแก้ต่างซึ่งถูกลั่นออกมาในการพิจารณาคดีของโลกครั้งนั้น ไม่สามารถช่วยชีวิตของนาซีให้รอดพ้นจากโทษประหารชีวิตได้
เพราะอะไร? มาดูกัน…
นูเรมเบิร์ก ปี 1945
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (The Nuremberg trials) เพื่อแสวงหาความยุติธรรมในอาชญากรรมที่นาซีก่อ เริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 1945 ไปจนถึง 30 กันยายน ปี 1946 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน สาเหตุที่การพิจารณาเกิดขึ้นที่นี่เพราะ นี่เป็นทำเลที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม อีกทั้งเมืองแห่งนี้มีทำเนียบกระทรวงยุติธรรม (Palace of Justice) ซึ่งบรรจุคุกขนาดใหญ่
และสุดท้าย เนื่องด้วยเมืองแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ที่นาซีไว้ใช้จัดขบวนเดินพาเหรดเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ การพิพากษานาซีที่นี่ จึงเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า จักรวรรดิไรซ์ที่ 3 ของฮิตเลอร์ ได้มาถึงกาลจุดจบอย่างเป็นทางการแล้ว
นี่คือส่วนหนึ่งของบรรดาจำเลยที่ถูกนำมาขึ้นศาลประกอบไปด้วย
เจ้าหน้าที่ทางการทหารระดับสูง 26 คน
สมาชิกหน่วย SS ระดับสูง 56 คน ซึ่งในนี้มีหัวหน้าหน่วยงานไอน์ซัทซ์กรุพเพิน (Einsatzgruppen) หรือกองกำลังสังหารเคลื่อนที่ และคนจากหน่วยงานของ “ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์” (Heinrich Himmler) ที่ดูแลค่ายกักกันและแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
หมอ 23 คนที่มีส่วนร่วมแผนการใช้ยาในการฆ่าและทดลองกับผู้พิการทางจิต รวมถึงผู้พิการทางร่างกายในค่ายกักกัน
และเจ้าหน้าที่ 14 คนจากองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
พวกเราถูกฝึกมาให้เชื่อฟัง
หนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกนำมาขึ้นศาลครั้งนั้นคือ “อ็อทโท โอเลินดอร์ฟ” (Otto Ohlendorf) อดีตผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานไอน์ซัทซ์กรุพเพิน เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายของคนยิว คนโรมาเนีย คนซินติรวมแล้วประมาณ 90,000 ชีวิตซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คำแก้ต่างว่าเขาเพียงแค่ทำตามคำสั่งไม่ได้ผลในชั้นศาล และทำให้เขาต้องรับโทษประหารชีวิต
เช่นเดียวกับ “รูด็อลฟ์ เฮิส” (Rudolf Höss) ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาช์วิทช์ (Auschwitz) คำแก้ต่างที่พรั่งพรูออกมาจากปากเขาในการพิจารณาคดีครั้งนั้นไม่ต่างจากโอเลิดอร์ฟ นั่นคือการพยายามบอกว่า เขาเพียงแค่ “ทำตามคำสั่ง” เท่านั้น
“คุณไม่เห็นหรือ เราผู้เป็นเจ้าหน้าที่หน่วย SS ไม่ควรมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้ เราถูกฝึกให้น้อมรับคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยไม่แม้แต่จะคิดถึงว่าผู้อื่นไม่มีความคิดที่จะขัดคำสั่งเช่นกัน และถึงผมไม่ทำ คนอื่นก็จะทำอยู่ดี ผมไม่เคยมานั่งคิดมากว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ เพราะมันคือสิ่งที่ดูเหมือนจำเป็นต้องทำ”
ผู้พิพากษาคดีนูเรมเบิร์กไม่ยอมรับคำแก้ต่างประเภท “นายสั่งมา” พวกเขากล่าวว่า เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกระทำตามคำสั่งที่เป็นการละเมิดกฎหมายสากล เขาผู้นั้นต้องรับผลของการกระทำเอง เว้นเสียแต่จะมีเงื่อนไขสถานการณ์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น หากจำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่า เขาไม่ทราบจริงๆ ว่าคำสั่งนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เขาจะไม่ต้องรับโทษ
ซึ่งในสถานการณ์นี้ ผู้พิพากษายืนยันว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่หน่วยไอน์ซัทซ์กรุพเพินจะไม่ทราบว่า การเข่นฆ่าพลเมืองเป็นทั้งสิ่งผิดกฎหมายและเป็นเรื่องเลวทราม
อดอล์ฟ ไอชมันน์ กับ แนวคิดอันตราย
อีกหนึ่งคนสำคัญที่ใช้คำว่า “นายสั่งมา” ในการพิจารณาคดีคือ “อดอล์ฟ ไอชมันน์” (Adolf Eichmann) อดีตสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญ ผู้บังคับบัญชากรมกิจว่าด้วยชาวยิว (Office of Jewish Affairs) ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลคนยิวในพื้นที่ ยึดทรัพย์ และขนย้ายลำเลียงชาวยิวไปยังค่ายกักกัน สถานที่ซึ่งเป็นจุดจบอันทรมานของหลายชีวิต
หลังสงครามจบ ไอชมันน์พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ แต่โดนสายลับอิสราเอลตามตัวเจอในที่สุด เขาถูกส่งกลับมาขึ้นศาลที่อิสราเอลในปี 1961 และถูกตัดสินให้มีความผิดจริงในข้อหาก่อนอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก่อนจะรับโทษแขวนคอในปี 1962
“ฮันนาห์ อเรนดท์” (Hannah Arendt) นักปรัชญาการเมืองได้เขียนถึงการพิพากษาครั้งนั้น กล่าวว่าแนวคิดของไอช์มันน์ ที่มองตัวเองว่าเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาคนหนึ่งในฟันเฟืองระบบอันใหญ่โต มองว่าตัวเองคือคนที่ซื่อสัตย์กับงานที่รับผิดชอบ และทำตามหน้าที่เท่านั้น เป็นแนวคิดที่แสนจะอันตราย เพราะผู้กระทำผิดมองตนเองเป็นเพียงกลไกของระบบ โดยไม่เห็นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมที่ใหญ่กว่านั้น
บทเรียนแก่ปัจจุบัน
การพิจารณาคดีนาซีเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกจากจะทำให้เกิดการถกเถียงในภายหลังว่าระบบพิจารณาเช่นนี้คือสิ่งที่ยุติธรรมจริงหรือไม่ ก็มีการถือกำเนิดกฎหมายสำคัญๆ ของโลก เช่น “กฎหมายระหว่างประเทศ” หรือ “อนุสัญญาเจนีวา” (the Geneva Convention) ขึ้นมา
ที่สำคัญ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนระบอบ “นายสั่งมา” ของพรรคนาซี ก็อาจทำให้เราหลายๆ คน สร้างบรรทัดฐานในการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับพลเมืองกันมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้ฉุกคิดว่าแท้จริงแล้ว ใครกันแน่…คือ “ผู้ร้าย” ที่สมควรโดนพิพากษาในระบอบเช่นนี้
คนที่ลงมือ? คนที่สั่ง?
หรือคนที่สร้างระบอบจงรักภักดีโดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรมใดๆ ?
อ้างอิง
- FACING HISTORY & OURSELVES. Obeying Orders. https://bit.ly/3j0u0eV
- The 101 World. ประจักษ์ ก้องกีรติ. บันทึก 2017 : ความหวังที่เคลื่อนไหวในความทรงจำ. https://bit.ly/3ALNWs2
- HISTORY. Nuremberg Trials. https://bit.ly/3xYMkJB
- HISTORY. This day in history : November 20. https://bit.ly/3AXFy8H