9 Min

NATO คือใคร เกี่ยวอะไรกับปมยูเครน-รัสเซีย? ชวนย้อนรอย 5 สมรภูมิที่ NATO เคยเข้าร่วม

9 Min
561 Views
24 Feb 2022

ถ้าหากใครติดตามสถานการณ์การเมืองนานาชาติ คงจะทราบกันดีว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดความตึงเครียดย่างยิ่งบริเวณชายแดนยูเครนรัสเซีย หลังจากวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงผ่านสื่อในประเทศ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 หลังจากที่เขาลงนามรับรองการแยกตัวของแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) และลูฮันสก์ (Luhansk) ออกจากประเทศยูเครน และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปูตินได้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ว่ารัสเซียจะเริ่มปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่แคว้นโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ทางตะวันออกของยูเครนเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากยูเครนแต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายในการยึดครองยูเครนอย่างที่นานาชาติกล่าว และหากมีการแทรกแซงจากภายนอกจะมีการโต้กลับอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมีในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ทางรัฐบาลยูเครนได้ผ่านร่างกฎหมายประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในทุกภูมิภาคของประเทศเป็นระยะเวลา 30 วัน

การกระทำอุกอาจของรัสเซียเป็นการตอบโต้ที่ชัดเจนต่อกรณีที่รัฐบาลกลางยูเครนต้องการเป็นสมาชิกของนาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation – NATO) กลุ่มพันธมิตรทางทหารของกลุ่มประเทศต่างๆ แถบยุโรปและอเมริกาเหนือกว่า 30 ประเทศ เตรียมเข้าสนับสนุนยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นสมาชิก

นาโต เป็นตัวแปรที่สำคัญในเรื่องนี้หลังประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกที่มีชายแดนติดรัสเซียทั้งหมด ยกเว้น ยูเครน และเบลารุส เป็นสมาชิกนาโตทั้งหมด ทำให้รัสเซียเรียกร้องให้นาโตรับรองว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิกและยกเลิกการฝึกซ้อมทหารบริเวณยุโรปตะวันออกทั้งหมด เนื่องจากถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชายแดนรัสเซีย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3LL1lXI)

มาถึงตอนนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าองค์กรนาโตมีที่มาที่ไปอย่างไรและมีวัตถุประสงค์อย่างไรกันแน่

ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาโตถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1949 ด้วยสมาชิก 12 ประเทศโดยมีวัตถุประสงค์คือการต่อสู้กับภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และแผ่อำนาจเข้าไปในยุโรป แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปอย่างที่เราทราบกันในปี 1991 องค์กรนาโตยังคงยืนอยู่ต่อมาและขยายประเทศสมาชิกเรื่อยๆ จนเป็น 30 ชาติในปัจจุบัน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เบลเยียม และการเป็นสมาชิกนาโตมีใจความสำคัญคือถ้าหากว่าประเทศในกลุ่มถูกโจมตีทางทหารจากประเทศภายนอกสมาชิก สมาชิกทุกประเทศต้องถือว่าอยู่ในสภาวะสงครามและเข้าช่วยเหลือทันที

แต่อย่างที่เราเห็นกันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันแม้ว่าความขัดแย้งจะไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก แต่นาโตได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยกล่าวถึงการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของประเทศในกลุ่มสมาชิก ผ่านการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ในยูเครนเท่านั้น กองกำลังทหารของนาโตมีส่วนร่วมในสมรภูมิการรบในอีกหลายพื้นที่ด้วย

เราชวนมาดู 5 สมรภูมิสำคัญที่นาโตได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการทหารตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมากัน

     1. อัฟกานิสถาน

หลังเหตุการณ์วินาศกรรมในเดือนกันยายน 2001 หรือ 9/11 ในสหรัฐฯ กองกำลังของนาโตได้เข้าร่วมในสงครามของอัฟกานิสถานในปี 2001 เพื่อช่วยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งของนาโตกวาดล้างรัฐบาลกลุ่มตอลีบาน ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าให้ที่พักพิงกับโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลเคดา (Al-Quada หรือ อัลกออิดะฮ์)

กองกำลังนาโตเป็นฝ่ายนำในปฏิบัติการต่างๆ ทางทหาร และได้รับการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมจากกองกำลังช่วยเหลือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISAF) ที่เป็นการรวมตัวของกองทัพจากประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) และมีภารกิจส่งเสริมให้กองกำลังความมั่งคงของอัฟกานิสถานต่อสู้กับกลุ่มตอลิบานและเครือข่ายนักรบ และช่วยวางรากฐานให้กับรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

ISAF เป็นหนึ่งภารกิจจัดการวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเป็นความร่วมมือจาก 51 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกยูเอ็น โดยภารกิจของ ISAF เสร็จสิ้นลงในปี 2014 ส่วนหนึ่งด้วยการสนับสนุนของนาโต แม้ว่านาโตจะยุติปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่ปี 2004 แต่ยังคงมีการสนับสนุนการฝึกอบรม แนะนำ และช่วยเหลือกองกำลังในภาคส่วนอื่นๆ แม้จะไม่ได้ส่งทหารจำนวนมากเท่าสหรัฐฯ แต่เชื่อว่ามีทหารจากนาโตราว 13,000 นายที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถานเพื่อช่วยฝึกทหารของกองกำลังความมั่นคง

การสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมกับกองกำลังของสหรัฐฯ เป็นภารกิจของนาโตที่ยังดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2021 ที่สหรัฐประกาศค่อยๆ ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานเพื่อยุติการรบยาวนาน 2 ทศวรรษ ทางนาโตก็ถอนกำลังทหารและกำลังการสนับสนุนออกจากอัฟกานิสถานเช่นกัน รวมถึงมีภารกิจสุดท้ายในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนอัฟกานิสถานในการอพยพออกจากประเทศก่อนที่รัฐบาลจากกลุ่มตอลีบานจะเข้ายึดเมืองหลวงคาบูลสำเร็จในเวลาต่อมา

     2. อิรัก

หลังการเริ่มปฏิบัติการในอัฟกานิสถานเพื่อปราบปรามการเครือข่ายก่อการร้ายในปี 2001 นาโตก็ร่วมมือกับทางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ 2 ปีต่อมา ตอนที่สหรัฐได้ส่งกองทัพบุกเข้าไปในอิรัก เพื่อล้มล้างรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำเผด็จการของอิรักที่อยู่ในอำนาจนานกว่า 2 ทศวรรษ โดยอ้างข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ประเมินว่าอิรักอาจครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) คุกคามความมั่นคงของตนและชาติพันธมิตร ปฏิบัติการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายชาติว่าขาดหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอและสหรัฐฯ ต้องการผลประโยชน์ในตะวันออกกลางมากกว่า ทำให้สมาชิกของนาโตส่วนหนึ่งไม่เข้าร่วมภารกิจการต่อสู้

แต่สมาชิก 19 ประเทศของนาโตก็ยังช่วยฝึกอบรมทางทหารและให้คำปรึกษาด้านปฏิบัติการแก่กองกำลังความมั่นคงอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยมีภารกิจฝึกอบรมร่วมกันระหว่างนาโตอิรัก (NATO Training Mission – Iraq : NTM-I) และมีการแบ่งเป็นกองกำลัง 150 กองเพื่อช่วยอิรักจัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพหลังจากโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน โดยมีภารกิจการฝึกฝนทั้งในและนอกอิรัก

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าชาติสมาชิกหลายชาติส่งกองกำลังทหารเข้าสนับสนุนโดยตรงเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ โรมาเนีย เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร แคนาดา แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมและภารกิจหลักของนาโต

จนกระทั่งปี 2020 เกิดเหตุการณ์สำคัญ กองทัพสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารพลตรีกัสเซ็ม โซไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษคุดส์ของกลุ่มไออาร์จีซี และอาบู มาห์ดี อัลมูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังฮัชด์ ซึ่งเป็นเครือข่ายนักรบชีอะฮ์ในอิรักที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน โดยเป็นการโจมตีทางอากาศใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ทำให้นาโตประกาศระงับภารกิจสนับสนุนทางทหารแก่กองทัพอิรักและมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลส่วนใหญ่ไปยังคูเวตเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่

ต่อมาในปี 2021 นาโตได้ประกาศขยายภารกิจการฝึกอบรมในอิรักอีกครั้ง โดยระบุว่าจะเพิ่มกำลังพลทางทหารและพลเรือนจาก 500 นาย เป็น 4,000 นาย เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ที่ถูกทำลายจากภัยสงครามในอิรักกลายเป็นแหล่งหลบภัยของผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ และระบุว่าจะสร้างความมั่นคงทางเสถียรภาพในอิรักต่อไป

     3. สมรภูมิดาร์ฟูร์, ซูดาน

ปี 2003 เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่และครั้งแรกของศตวรรษ 21 ที่ภูมิภาคดาร์ฟูร์ (Darfur) ประเทศซูดาน เนื่องจากชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ลุกฮือขึ้นเรียกร้องสิทธิทางดินแดน แต่รัฐบาลกลางซูดานกลับสนับสนุนกองกำลังเชื้อสายอาหรับที่รวมตัวกันในนามจันจาวีด’ (Janjaweed) ต่อสู้กวาดล้างชนพื้นเมืองในดาร์ฟูร์ ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันอีกหลายกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวปลดแอกภูมิภาคดังกล่าวจากรัฐบาลซูดาน

การต่อสู้ลุกลามกลายเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และโอมาร์ อัล บาชีร์ ผู้นำซูดานขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crime against humanity) เพราะเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังจันจาวีดต่อสู้กับกองทัพปลดปล่อยซูดาน (Sudan Liberation Army: SLA) และขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคกับความยุติธรรม (Justice and Equality Movement:Jem) แต่มีผลให้พลเรือนได้รับผลกระทบเสียชีวิตจำนวนมาก

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 300,000 คนในดาร์ฟูร์ และมีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมหาศาลเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ในแอฟริกา และส่งผลให้สหภาพแอฟริกัน (African Union: AU) ซึ่งมีภารกิจในการยุติความรุนแรงในภูมิภาคได้ส่งคำร้องมายังนาโตเพื่อให้ช่วยรักษาสันติภาพในดาร์ฟูร์ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก แต่จากการพิจารณาแล้วสหภาพแอฟริกาเป็นพันธมิตรของนาโต และเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาคส่งผลต่อสมาชิก นาโตจึงตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุนในสมรภูมิดาร์ฟูเช่นกัน

นาโตไม่ได้ส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามดาร์ฟูร์โดยตรง แต่ช่วยเหลือในการจัดหาเครื่องบินสนับสนุนและจัดการฝึกอบรมกองกำลังของสหภาพแอฟริกาในการเข้าถึงพื้นที่ดาร์ฟูร์ และช่วยเหลือด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน จากรายงานภายในปี 2005-2007 นาโตได้ช่วยเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ทางอากาศกว่า 37,000 คนเข้าสู่สมรภูมิในดาร์ฟูร์

     4. ลิเบีย

สงครามกลางเมืองในลิเบียเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐภายใต้การนำของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muʿammar Gadhafi) ผู้นำเผด็จการที่อยู่ในอำนาจมายาวนานกว่า 40 ปี โดยประชาชนต้องการโค่นล้มกัดดาฟีลงจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่รัฐบาลกัดดาฟีใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council หรือ UNSC) ลงมติสนับสนุนประชาชนชาวลิเบีย โดยอนุญาตให้มีการแทรกแซงทางทหารในประเทศลิเบียและอนุญาตให้ใช้มาตรการทั้งหมดที่จำเป็นได้

หลังมติ UNSC กองกำลังนาโตก็ได้เข้าร่วมสมรภูมิเพื่อสนับสนุนประชาชนลิเบีย โดยมีการประกาศเขตห้ามบิน (No-Fly Zone) และช่วยเหลือในการโจมตีทางอากาศกองทัพรัฐบาลลิเบีย ควบคุมการลำเลียงอาวุธข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยถือได้ว่านาโตเป็นผู้นำในปฏิบัติการทหารเกือบทั้งหมดในเวลานั้น

ด้วยการส่งเสริมมาตรการทหารอย่างเต็มกำลัง ภายในระยะเวลา 7 เดือน กองกำลังกบฏ ของประชาชนลิเบียที่ได้รับการสนับสนุนจากนาโตก็สามารถยึดเมืองหลวงและสังหารกัดดาฟีได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2011

แม้สื่อตะวันตกจำนวนหนึ่งกล่าวชื่นชมนาโตที่เข้าแทรกแซงสมรภูมิกลางเมืองลิเบียและลดการนองเลือดในเมืองใหญ่ได้สำเร็จ แต่องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็ตั้งคำถามว่าการแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากชาติสมาชิกของนาโตครั้งนี้เป็นภารกิจที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง และต้องตรวจสอบถ่วงดุลเช่นกันว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่

      5. โคโซโว

หนึ่งในปฏิบัติการทางทหารของนาโตที่ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นที่โคโซโว (Kosovo) ประเทศเกิดใหม่ไม่ถึง 15 ปีที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนยูโกสลาเวีย เมื่อยูโกสลาเวียล่มสลายในช่วงปี 1980 การแยกตัวของประเทศต่างๆ ในเวลานั้นสร้างความระส่ำระสายและนองเลือดในภูมิภาค โคโซโวกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเซอร์เบีย แต่ในช่วงที่ระส่ำระสาย นาโตได้เข้าสนับสนุนการแยกตัวของโคโซโวเมื่อปี 1999 โดยระบุว่าเพื่อยุติความรุนแรงในวงกว้างและปัญหาสิทธิมนุษยชน ภายใต้กลุ่มกองกำลัง KFOR โดยมีการวางกำลังไว้ทั่วพื้นที่

เมื่อโคโซโวประกาศเอกราชในปี 2008 นาโตได้เข้าสนับสนุนการสร้างกองกำลังความมั่นคง ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในการรักษาความปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนการเจรจาเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับเซอร์เบีย จนถึงปัจจุบันกองกำลังของนาโต KFOR ประกอบด้วยทหารประมาณ 3,700 นายจาก 28 ประเทศพันธมิตรยังคงประจำการอยู่ในโคโซโวเพื่อสนับสนุนให้โคโซโวมีเสถียรภาพและสันติต่อไป

จากสมรภูมิที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่านาโตเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่มีบทบาทในความขัดแย้งหายทวีปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งสมรภูมิที่เกี่ยวข้องกับชาติสมาชิกโดยตรงและข้อพิพาทที่ระบุว่าส่งผลกับเสถียรภาพและประเทศสมาชิกได้ในอนาคต ถ้าหากว่ามีมติเห็นชอบจากสหประชาชาติที่มองว่าเห็นควรเพื่อสันติภาพมวลรวม

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในยูเครนและรัสเซียปัจจุบัน ที่แม้ว่ายูเครนจะยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนาโต แต่จากแนวโน้มแล้วนาโตเตรียมให้การสนับสนุนทางการทหารทันทีหากว่ามีการบุกรุกเข้าในยูเครนจริง และด้วยกองกำลังของสมาชิกในนาโตก็อาจถ่วงดุลกับกองกำลังของรัสเซียที่ใหญ่กว่ายูเครนอย่างมหาศาลได้บ้าง

อย่างไรก็ดี การที่สหประชาชาติจะมีมติเห็นควรให้นาโตแทรกแซงสถานการณ์ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ก่อน ซึ่งรัสเซียก็ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรที่มีสิทธิโหวตค้านมติของที่ประชุมใหญ่ได้ ดังนั้นการที่นาโตจะได้รับไฟเขียวจากสหประชาชาติให้แทรกแซงเรื่องในยูเครน จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะเห็นได้ว่าประเทศทรงอิทธิพลในโลกต่างก็มีการคานอำนาจกันมาตลอด

อ้างอิง

  • Cnbc. U.S., allies gear up to hammer Russia’s economy after Putin launches attack on Ukraine. https://cnb.cx/33MfSBh
  • NATO. Operations and missions: past and present. https://bit.ly/368rsHy
  • BBC. ตาลีบัน : สหรัฐฯ และนาโต ใช้เงินไปเท่าไหร่ในการทำสงครามกับกลุ่มตาลีบันตลอด 20 ปีที่ผ่านมา. https://bbc.in/34JNCQ8
  • ข่าวสด. สหรัฐนาโต้ ถอนทหารชุดสุดท้าย เกลี้ยงฐานทัพอากาศบากรัมในอัฟกานิสถาน. https://bit.ly/3rSS4on
  • Cnbc. NATO announces expanded mission in Iraq on the heels of deadly rocket attack. https://cnb.cx/3uVfmvR
  • Warontherocks. WHAT TO EXPECT WHEN YOU’ RE EXPECTING NATO IN IRAQ. https://bit.ly/3HXndfZ
  • Prachachat. นาโต้ถอนทหารบางส่วนจากอิรักชั่วคราว ภายหลังสถานการณ์ตึงเครียด. https://bit.ly/36cn8ah
  • Reliefweb. Sudan: NATO’s assistance to the African Union for Darfur. https://bit.ly/3uYJMxd
  • Prachatai. 10 ปี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซูดาน. https://bit.ly/3oPEHDK
  • BBC. ดาร์ฟูร์: ผู้คนเฝ้ารอความยุติธรรมจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกของศตวรรษที่ 21′. https://bbc.in/34DRYZf
  • Springer. NATO’ s Intervention in Libya: A Humanitarian Success? . https://bit.ly/3HXRpYp
  • NATO. NATO and Libya (Archived) . https://bit.ly/3GTprvy
  • Britannica. Kosovo conflict. https://bit.ly/3Bn5sV3
  • NATO. NATO’s role in Kosovo> https://bit.ly/33orH07