NASA ในยุค Nelson จริงจังเรื่องโลกร้อน เตรียมเปลี่ยนระบบดาวเทียมสำรวจโลกใหม่ยกชุด
หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี Joe Biden และรองประธานาธิบดี Kamala Harris รวมถึงการลาออกของ Jim Bridenstine อดีตผู้อำนวยการของ NASA (NASA Administrator) ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาล Donald Trump นั้น NASA ก็ได้ผ่านการแปลงโฉมในระดับบริหารใหม่ด้วยการแต่งตั้ง Bill Nelson เป็น ผอ. คนที่ 14 ของ NASA
Bill Nelson ผอ. คนที่ 14 ของ NASA ขณะกำลังแถลงใน Senate Confirmation – ที่มา NASA/Bill Ingalls
Bill เป็นนักบินอวกาศและ Payload Specialist ของ NASA ในยุคของกระสวยอวกาศ ขึ้นสู่อวกาศกับเที่ยวบิน STS-61-C ซึ่งเป็นเที่ยวบินก่อนโศกนาฏกรรม Challenger (STS-51-L) เพียงเที่ยวบินเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกคองเกรสคนที่สอง (และคนแรกของสภาผู้แทนฯ) ที่ได้ไปอวกาศอีกด้วย
Jim Bridenstine เป็นใคร
Jim Bridenstine เป็นอดีต สส. ของสภาผู้แทนฯ รัฐ Oklahoma พรรค Republican และอดีตผู้อำนวยการคนที่ 13 ของ NASA แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี Donald Trump
Jim Bridenstine เองนั้นในช่วงแรกของการเข้ารับตำแหน่ง Jim เป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่าโลกร้อนเพราะมนุษย์และไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (Climate Change) ตัวเขาเองก็ถูก Trump เสนอชื่อมาเพื่อจุดประสงค์ที่จะถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองทางการเมืองโดยใช้ประโยชน์จากการสำรวจของ NASA มาเป็นตัวต่อรองนั่นเอง
Jim เองก็เป็นทหารและเป็นอดีต สส. พรรค Republican จึงเรียกได้ว่าเป็นนักการเมืองจ๋า แต่มานั่งตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานวิทยาศาสตร์ (อารมณ์เหมือนเอาประวิทย์มานั่งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาตินั่นแหละ)
พายุกำลังเข้าสหรัฐ และทรัมป์เสนอชื่อคนไม่เชื่อโลกร้อนเป็น ผ.อ. นาซ่า
แต่หลังจากที่ Jim เข้ามารับตำแหน่งไประยะหนึ่งได้มานาน แนวคิดหลาย ๆ อย่างของเขาก็เปลี่ยนไปและเขาไม่ได้เห็น NASA เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป (Trump ตั้งมาอวยตัวเอง แต่ดันไปเครดิต Democrat ที่ทำไว้ดีงี้) นอกจากนี้เขายังเชื่อเรื่อง Climate Change จากที่ก่อนหน้านี้เขายอมรับว่าไม่เชื่อ แต่หลังจากการรับฟังและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คน สุดท้ายเขาก็ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า “มนุษย์” เป็นสาเหตุของ Climate Change อย่างแท้จริง
ช่วงที่ Jim ดำรงตำแหน่ง ผอ. ของ NASA นั้น เขาได้สร้างผลงานไว้หลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น Commercial Crew Program (CCP) และ Commercial Resupply Services (CRS) ที่นำไปสู่การกลับสู่อวกาศอีกครั้งจากแผ่นดินสหรัฐฯ ในเที่ยวบิน Crew Dragon Demo-2 และ Main หลักของ NASA อย่างโครงการ Artemis
นอกจากนี้ Jim ยังคอยดันความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Change ด้วยการดันโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการสำรวจโลกอย่าง Earth Observing System (EOS) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวเป็นจำนวนมากที่เผยแพร่ออกมาจาก NASA ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย หรือโอโซนทะลุ เช่น
- NASA พบการปลดปล่อย CFC-11 จากบริเวณจีนตะวันออก อย่างมีนัยสำคัญ
- นักวิจัย NASA พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังเร่งการละลายของธารน้ำแข็งบริเวณ Greenland
- ข้อมูลจาก NOAA ระบุว่าปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุด เทียบเท่าสถิติโลกครั้งก่อนในปี 2016
- NOAA พบรูโหว่โอโซนขนาดใหญ่ที่เกิดจาก Polar Vortex ในแอนตาร์กติกา
- ดาวเทียมเผยกลุ่มควันไฟป่าแคลิฟอร์เนียถูกพัดไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มปริมาณฝุ่นมหาศาล
- NOAA ตรวจพบฝุ่นทรายจากแถบแอฟริกาตะวันตกจำนวนมาก นำไปสู่การค้นพบไฟป่าขนาดใหญ่ในแถบแอฟริกาใต้
- เจาะลึกไฟไหม้ป่า Amazon สถานที่ที่เปรียบเสมือนปอดของโลก มุมมองจากอวกาศ
แต่ก็ไปได้ไม่ไกลมากเนื่องจากว่า Trump เป็นคนที่ไม่เชื่อ Climate Change และเขาก็ตั้ง Jim เป็น ผอ. NASA เพราะว่า Jim ตอนนั้นก็ไม่เชื่อเรื่อง Climate Change เหมือน Trump เช่นกัน เรียกได้ว่ามี Mindset ด้านอวกาศคล้าย ๆ กัน แต่ Jim ดันมาตาสว่างทีหลัง แต่สุดท้ายก็คอยโดนขัดขาอยู่ดี
เมื่อ Trump หมดอำนาจ Jim ก็ลาออกหลังจากที่ Biden ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาคิดว่ามันคงจะดีกว่าหาก ผอ. ของ NASA เป็นคนที่ถูกไว้เนื้อเชื่อใจโดยรัฐบาลของ Biden จึงเป็นเหตุให้เขาลาออกนั่นเอง
อ่านบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับการลาออกของ Jim Bridenstine แบบเจาะลึกได้ที่นี่ – การลาออกของจิม บริเดนสไตน์ ผู้อำนวยการ NASA เล่าอะไรถึงการเมืองสหรัฐอเมริกาและอนาคตของการสำรวจอวกาศ
NASA ในยุคของ Biden และ Bill Nelson
NASA ภายใต้การนำของ Bill Nelson ในรัฐบาลของ Biden นั้นมีท่าทีในหลาย ๆ เรื่องเปลี่ยนไป เนื่องจากคราวนี้ Biden เลือก Candidate ที่มาจากฝั่งวิทยาศาสตร์มาเป็น ผอ. ของ NASA (ตำแหน่งรอง ผอ. NASA ยังว่างหลังจาก Steve Jurczyk ลาออกไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2021) และเรื่องแรก ๆ ที่ Bill รวมถึงรัฐบาลของ Biden-Harris จะทำก็คือการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ครั้งนี้ NASA ไม่ถูกขัดขาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกต่อไป
ทรัพยากรในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา Climate Change ของ NASA ในตอนนี้หลัก ๆ อยู่ที่ระบบ EOS (Earth Observing System) รวมถึง EOSDIS (Earth Observing System Data and Information System) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจโลกที่ประกอบไปด้วยดาวเทียมหลายสิบดวงที่เน้นดานการสำรวจโลกโดยเฉพาะ โดยเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ปี 1997
Animation แสดงเครือข่ายดาวเทียม Earth Observing System (EOS) ในปี 2011 – ที่มา NASA
จนถึงตอนนี้ ปี 2021 ระบบ EOS เหลือดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่ (Active) เพียงแค่ 10 ดวงเท่านั้น จาก 30 ดวง ซึ่งแต่ละดวงที่เหลืออยู่นั้นเรียกได้ว่าเกินอายุภารกิจไปแทบจะหมดแล้วที่ยังใช้อยู่ก็คือการยืดอายุภารกิจเท่านั้น อย่างดวงล่าสุดของระบบ EOS คือ ICESat-2 ของ NASA ที่ปล่อยเมื่อเดือน กันยายน ปี 2018 ตอนนี้เหลืออายุภารกิจอีกเพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น และอาจต้องต่ออายุภารกิจเพื่อยืดอายุระบบ EOS ให้ยังใช้ได้อยู่เพราะเป็นเพียงระบบเดียวที่ใช้ในการสำรวจและเฝ้าระวังโลกในตอนนี้
อ้างอิงจาก Press Release 21-070 NASA ภายใต้การนำของ Bill Nelson จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจโลกใหม่ชื่อว่า “Earth System Observatory (ESO)” ที่จะถูกสร้างมาเพื่อการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไฟป่า และการพัฒนาพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะ โดยดาวเทียมในเครือข่าย ESO ทุกดวงจะถูกสร้างมาเพื่อให้พวกมันช่วยกันทำงาน ไม่ใช่ทำใครทำมันเหมือน EOS ในตอนนี้
ภาพจากฐานข้อมูล MODIS จากยาน Terra – ที่มา EUMETSAT
โดย ESO มีแผนที่จะขยาย Scope การสำรวจโลกด้วยการสร้างแผนที่ข้อมูลในด้านต่าง ๆ ด้วยการแผนที่ 3 มิติ ซึ่งมีความสามารถที่จะแมพข้อมูลตั้งแต่ชั้นใต้ดินของโลกมาจนถึงชั้นบนสุดของชั้นบรรยากาศของโลกได้ ซึ่งการสร้าง ESO นั้นเป็นการทำตามคำแนะนำของผลการสำรวจด้านวิทยาศาสตร์โลกประจำทศวรรษเมื่อปี 2017 (2017 Earth Science Decadal Survey) โดย National Academics of Sciences, Engineering and Medicine (แต่แน่ละ 2017 มันช่วง Trump ทำอะไรไม่ได้ ฮา)
ภาพของเฮอร์ริเคน Maria จากดาวเทียม Terra ของ NASA ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ยัง Active อยู่สังกัด Earth Observing Satellite (EOS) ซึ่งถือเป็นโมเดลต้นแบบการสำรวจโลกในระบบดาวเทียมในอนาคตอย่าง ESO – ที่มา NASA
โดย ESO จะเน้นการสำรวจไปที่ 5 ด้านด้วยการ ดังนี้
- อากาศ (Aerosol): แก๊สต่าง ๆ มีผลอย่างไรต่อสมดุลพลังงานของโลกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อ่านบทความเกี่ยวกับสมดุลพลังงานได้ที่นี่ – รู้จักกับ Radiative Forcing เมื่อโลกเสียสมดุลทางพลังงานจากการแผ่รังสี
- เมฆ: การพาความร้อนภายในเมฆ การเกิดฝน การพยากรณ์อากาศ คุณภาพอากาศ และการเฝ้าระวังพายุรุนแรง (ระดับ Category 4 และ 5)
- การพยากรณ์: การพยากรณ์หน้าแล้งสำหรับการวางแผนการใช้น้าในการเกษตรรวมถึงการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- ชีววิทยาพื้นผิวและธรณีวิทยา (Surface Biology and Geology): การเพิ่มความเข้าใจด้านผลกระทบของ Climate Change กับเกษตรกรรมอาหาร การจำศีลของสัตว์ต่าง ๆ และทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษาการเปลี่ยนผ่านพลังงานและมวลสารต่าง ๆ ระหว่างระบบนิเวศ
- การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิว (Surface Deformation and Change): การสร้างโมเดลสำหรับการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกที่เกิดจาก Climate Change และการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติจากการเกิดธรณีแปรสัณฐาน เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ดินถล่ม แผ่นน้ำแข็งถล่ม และอื่น ๆ
ซึ่งจุดหลัก ๆ ของ ESO คือการเฝ้าระวังทางด้านธรณีวิทยาด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีภาคได้ในระดับมิลลิเมตร นำมาทำเป็นโมเดลนำร่องสำหรับการเฝ้าระวังภัยพิบัติที่มนุษย์ไม่เคยพยากรณ์ได้มาก่อน ซึ่งก็คือ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และดินถล่ม โดยร่วมมือกับ ISRO (Indian Space Research Organisation) หน่วยงานด้านอวกาศของอินเดีย เพื่อสร้างดาวเทียม NISAR หรือ NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar สำหรับระบบดาวเทียม ESO โดยเฉพาะ
อ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับ Synthetic Aperture Radar และ NISAR ได้ที่นี่ – เจาะลึก InSAR เทคโนโลยีการเตือนแผ่นดินไหวจากอวกาศ
ภาพจำลองของดาวเทียม NISAR (NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar) – ที่มา NASA
หลังจากนี้เราคงได้เห็นท่าที่การจัดการกับภาวะโลกร้อนของ NASA ที่ชัดเจนและดียิ่งขึ้นกับระบบ Earth System Observatory (ESO)
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
New NASA Earth System Observatory to Help Address, Mitigate Climate Change