เพราะ ‘น้ำพริก’ คือมรดกที่มีชีวิตและกินได้ นำมาสู่รายการ ‘ยกพลคนน้ำพริก’ เรียลลิตี้แห่งปีของ Thai PBS
‘น้ำพริก’ คืออาหารที่วางอยู่บนโต๊ะอาหารของคนไทยทุกบ้าน และในแต่ละพื้นที่ก็มีถ้วยน้ำพริกที่แตกต่างกันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์เฉพาะ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในปีหน้า Thai PBS จะยกให้ ‘น้ำพริก’ เป็นวาระสำคัญ และเป็นสะพานเชื่อมร้อยเรื่องราวจากโต๊ะอาหารถึงผู้คน
นำมาสู่การเปิดตัวรายการเรียลลิตี้แห่งปี ‘ยกพลคนน้ำพริก’ ประชันน้ำพริกสูตรเด็ดจากทั่วประเทศ ที่เตรียมตัวออนแอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อมจัดงานเสวนา ‘น้ำพริก มรดกรสแห่งเครื่องจิ้ม’ และกิจกรรมเวิร์กช็อปน้ำพริกสูตรเด็ด 4 ภาคให้ผู้เข้าร่วมมาเรียนรู้แก่นแท้รสเผ็ดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา
เรื่องราวของการเปิดตัว ‘ยกพลคนน้ำพริก’ รายการเรียลลิตี้แห่งปี จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในอัลบั้มนี้เลย
“ไม่น่าเชื่อว่า น้ำพริกหนึ่งถ้วยจะสามารถเชื่อมโยงผู้คนและขยายไปได้มากขนาดนี้”
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เล่าถึงการหยิบยกเอาน้ำพริกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของ Thai PBS ในฐานะสะพานเชื่อมวัฒนธรรมไปสู่แสงที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งน้ำพริกนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต ภูมิศาสตร์ไปจนถึงประวัติศาสตร์ได้เลยทีเดียว
แต่เพราะน้ำพริกเป็นสิ่งที่ ‘มีทุกบ้าน’ การเล่าผ่านรายการสารคดีเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถเก็บเอาความล้ำลึกได้ทั้งหมด จึงเกิดเป็นไอเดียการทำรายการเรียลลิตี้ ‘ยกพลคนน้ำพริก’ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่หลากหลาย รสชาติน้ำพริกที่แตกต่างได้มาแสดงความเผ็ดร้อนให้คนทั่วประเทศชม และค้นหาว่าน้ำพริกเด็ดจากชุมชนไหนจะสามารถมัดใจคนกินทั่วประเทศได้ โดยจะเริ่มฉายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และปัจจุบันยังเปิดรับสมัครมือตำน้ำพริกรสมือเด็ดมาร่วมรายการอยู่
นอกจากเปิดรายการใหม่แล้ว ยังมีการเปิดเวทีเสวนา ‘น้ำพริก มรดกรสแห่งเครื่องจิ้ม’ ที่ชวนผู้เชี่ยวชาญจากวงการอาหารและนักวิชาการเพื่อเสนอแง่มุมและภาพสะท้อนของน้ำพริกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งสวนออนซอน, กฤช เหลือลมัย นักโบราณคดี นักเขียนด้านประวัติศาสตร์อาหาร, อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนและ Food activist, สตังค์ จรงค์ศักดิ์ รองเดช จากรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง, พรรณี รุ่งสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม Thai PBS และ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์
“สำหรับน้ำพริก แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ พริก”
พ่อเลี่ยมเปิดประเด็นงานเสวนาด้วยการพูดถึงวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว ‘พริก’ (chili) นั้นไม่ใช่พืชท้องถิ่นของไทยแต่มาจากทวีปอเมริกา กว่าพริกจะเป็นที่รู้จักและกระจายไปทั่วโลกก็เข้าพุทธศตวรรษที่ 21-22 แล้ว แต่การกินน้ำพริกในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นก่อนการมาถึงของพริก แต่เป็นการใช้พืชรสเผ็ดอื่นๆ เช่น ดีปลี มะข่วง มะแขว่น พริกไทย โดยพบหลักฐานของซากพืชรสเผ็ดในถ้ำโบราณที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เก่าแก่กว่า 7,500 ปี
แต่การมาถึงของพริกซึ่งเชื่อว่ามาจากหลากหลายเส้นทางทั้งจากฟิลิปปินส์ที่บุกเข้าเขมรในเวลานั้น พร้อมนำพริกจากสเปนเข้ามา หรือทางเหนือที่โปรตุเกสพาพริกเข้ามาผ่านอินเดีย พม่า และไทย เส้นทางการเดินทางของพริกนั้นอาจยังไม่แน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือมันเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าน้ำพริกและอาหารไทยไปตลอดกาล ซึ่งคุณสตังค์ได้ชี้ให้เห็นว่าการกินพริกทำให้เกิดชีวิตชีวาจากสารแคปไซซินด้านในที่กระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขอย่างเอนดอร์ฟิน จึงไม่น่าแปลกใจที่รสชาติเผ็ดร้อนของพริกจึงเป็นเสน่ห์ที่เราขาดไม่ได้ในวันนี้
นอกเหนือจากพริกแล้ว องค์ประกอบสำคัญของน้ำพริกคงหนีไม่พ้น ‘ผักเคียง’ แต่ก็ไม่ใช่ผักอะไรก็ได้ เราจะเห็นว่าน้ำพริกแต่ละชนิดมักมีผักที่นิยมกินคู่กัน ซึ่งทางเหนือมีคำเรียกว่าเป็น ‘จู๊ (ชู้) กัน’ เป็นสิ่งที่กินคู่กันแล้วอร่อย เช่น น้ำพริกปลาร้าต้องกินกับผักกระโดนโคก หรือน้ำพริกน้ำปู๋ต้องกินกับหน่อไม้ต้ม ซึ่งอาจารย์อนุสรณ์ยังชี้ว่านอกจากของคู่กันแล้ว ยังมีคำว่า ‘คลำ’ ที่เอาไว้เรียกสิ่งที่ไม่ควรทำในการทำน้ำพริก เช่น ไม่ควรใส่กระเทียมในน้ำพริกแมงแคง
.
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าน้ำพริกนั้นมี ‘จารีต’ บางอย่างซ่อนอยู่ จากการพัฒนาและเรียนรู้รสชาติอันยาวนาน ทั้งเส้นทางของพริก พืชให้รสเผ็ดอื่นๆ และผักเคียงยังสะท้อนให้เห็นมิติอื่นๆ จากผักเคียงที่เข้าคู่กันทั้งภูมิศาสตร์ที่ผลิตวัตถุดิบในการตำน้ำพริกและผักเคียงในท้องถิ่นเดียวกัน หรือมิติของฤดูกาลที่ผักที่ใช้ตำน้ำพริกและผักเคียงมักเป็นผลิตผลในช่วงเวลาใกล้กัน
รสเผ็ดจากพริกนานาชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเคียงกับผักในท้องถิ่นก็สร้างความเผ็ดร้อนที่แตกต่าง สะท้อนสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นถึงอัตลักษณ์ของผู้คนผ่านมื้ออาหาร
ความลึกล้ำในน้ำพริกที่เรียบง่าย พาให้คุณพรรณีและ Thai PBS เลือกหยิบมาเป็นโจทย์ในการสื่อสาร โดยตลอดปีที่ผ่านมาทีมได้เดินทางสัญจรตามหาน้ำพริกถ้วยเด็ดในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะสามารถติดตามในสารคดีชุด ในรอยรส Taste Detective ตอน ในรอยรสพริก ที่จะทำให้เราเข้าใจน้ำพริกในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น คุณพรรณียังเล่าถึงความมหัศจรรย์ในการสัญจรที่ได้รู้จักรสชาติใหม่ๆ มิติใหม่ๆ ของน้ำพริก รวมถึงบริบทสิ่งแวดล้อมที่ทำให้วัตถุดิบบางอย่างเริ่มหายไปจากพื้นที่ตลอดกาล
เพื่อเข้าใจและสืบต่อมรดกทางวัฒนธรรมอย่างน้ำพริกให้ไปต่อ Thai PBS จึงเลือกรูปแบบรายการที่ชุมชนเป็นคนเล่าด้วยตัวเอง ผ่านเรียลลิตี้การแข่งขันตำน้ำพริกที่เชื่อมโยงถึงท้องถิ่น สะท้อนรสชาติให้เห็นผู้คนและวัฒนธรรมในรูปแบบที่ทั้งเข้มข้น เผ็ดร้อน และเร้าใจ โดยผู้ชนะจะได้สร้างสูตรน้ำพริกที่เป็นแบรนด์ของท้องถิ่นร่วมกับ Thai PBS
ติดตามเรื่องราวการประชัน ที่เข้มข้นของน้ำพริกถ้วยเดิม ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในรายการเรียลลิตี้ ‘ยกพลคนน้ำพริก’ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทุกวันเสาร์ทาง Thai PBS และใครที่มีน้ำพริกรสเด็ดที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชน สามารถจัดทีมไม่เกิน 3 คน พร้อมส่งคลิปเล่าเรื่องราวของน้ำพริกความยาวไม่เกิน 3 นาที เพื่อบอกเล่าเรื่องราวน้ำพริกของตัวเองร่วมกับรายการ
“เราเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมเลยนะคะ ขอแค่น้ำพริกนั้นสามารถสะท้อนเรื่องราวท้องถิ่นผ่านวัตถุดิบในท้องที่ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมได้ เป็นสิ่งที่ตัวเองกิน ตัวเองทำแล้วอยากบอกต่อ” คุณพรรณีกล่าวทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจเข้าร่วมรายการเรียลลิตี้แห่งปี ยกพลคนน้ำพริก ของ Thai PBS
รายการยกพลคนน้ำพริก เปิดรับสมัครถึงวันที่ 10 มกราคม 2568 เพียงแอดไลน์ @ThaiPBS แล้วพิมพ์ในช่องแชทว่า “ยกพลคนน้ำพริก“
ดูรายละเอียดทาง www.thaipbs.or.th/NamPrikActivity